Site icon Motherhood.co.th Blog

Terrible Two: เมื่อลูกกลายเป็นวายร้ายวัย 2 ขวบ

รับมือกับ terrible two

พ่อแม่จะรับมือกับช่วง Terrible Two อย่างไรให้ราบรื่น

Terrible Two: เมื่อลูกกลายเป็นวายร้ายวัย 2 ขวบ

ครอบครัวไหนที่กำลังมีลูกอยู่ในวัย 2-3 ขวบ อาจจะพบว่าลูกมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่เปลี่ยนไป ดูงอแง เอาใจยาก จนกลัวว่าลูกจะกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ นี่แหละ Terrible Two ละค่ะ หากอยากรู้ว่าพฤติกรรมที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่จี๊ดสมองนี้มีที่มาจากอะไร และจะปรับปรุงแก้ไขไม่ให้ติดเป็นนิสัยถาวรได้อย่างไร ต้องติดตามในบทความนี้ค่ะ

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ช่วงเวลาของ Terrible Two ที่คำว่า “ไม่” จะปะทุออกมาอย่างไม่หยุดยังเสมือนเป็นคำที่จำเป็นมากในคลังคำศัพท์ของเจ้าหนู อยากให้คุณพ่อคุณแม่รู้ไว้ว่าการกระทำของเขาไม่ได้เป้นการท้ายทายพวกคุณ แต่ลูกกำลังพัฒนาความเป็นอิสระ และกำลังเรียนรู้ที่จะแสดงออกถึงความคับข้องใจ และนี่คือเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราจะมอบให้กับคุณ

วัย 2 ขวบที่อารมณ์ร้ายขึ้น พาให้พ่อแม่จี๊ดสมอง

คาดหวังอะไรได้บ้าง?

ในช่วงวัยหัดเดินนี้ไม่ได้เป็นเพียงช่วงเวลาแสนอัดอัดใจที่จะต้องรีบผ่านมันไปให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่มันเป็นช่วงเวลาสำคัญในพัฒนาการของลูกคุณ

“ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เด็ก ๆ จะต้องเรียนรู้ที่จะทำในสิ่งที่เด็กทำและทารกไม่ทำ ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนจากผ้าอ้อมเป็นชุดชั้นใน และเปลมาเป็นเตียง” ดร. เพเนโลพี ลีช นักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก ผู้แต่งหนังสือ Your Baby and Child: From Birth to Age Five บอกว่า “เด็กจะต้องสามารถกินและดื่มได้โดยไม่ต้องใช้ขวดและถ้วยหัดดื่ม และเด็กยังต้องรู้กฎของสนามเด็กเล่นมากพอที่จะเข้ากับเด็กคนอื่น ๆ ได้”

อาการวายร้ายวัย 2 ขวบ

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของสัญญาณวายร้ายในช่วง 2 ขวบก็คือการโวยวายในที่สาธารณะ เด็กวัย 2 ขวบมีชื่อเสียงที่น่ากลัวในเรื่องเทคนิคประวิงเวลา ความเรื่องมาก และการต่อต้านอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ถ้าเรายิ่งคาดหวังจากเด็กเล็กมากเท่าไหร่ พาพวกเขาไปที่ร้านอาหารและคิดว่าพวกเขาสามารถควบคุมตนเองได้ นิสัยที่เรารับไม่ได้ก็จะยิ่งโผล่มาเพิ่มขึ้นเท่านั้น

“เด็กวัยหัดเดินไม่ใช่ทารกอีกต่อไป และเนื่องจากเขาต้องโตขึ้น ไม่ว่าเขาจะชอบหรือไม่ การปฏิบัติต่อเขาเหมือนเด็กทารกจะทำให้เขาชะงักงัน” ลีชกล่าว “แต่เด็กวัยหัดเดินก็ยังไม่ใช่เด็กก่อนวัยเรียน … การปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาแก่กว่าที่เขาเป็นทำให้เขารู้สึกอึดอัด”

พฤติกรรมที่ขัดแย้งกัน

ในขณะที่เด็กมีพฤติกรรมครึ่ง ๆ กลาง ๆ หนึ่งในจุดเด่นของอาการวายร้ายที่น่ากลัวนี้คือมันทำให้คุณสับสน ความสับสนในตัวเองก็จะทำให้เด็กเจ็บปวดเช่นกัน  เด็กวัยนี้จะไล่ตามจุดยืนของตัวเองแม้ว่ามันจะขัดแย้งกับคุณ แต่ความขัดแย้งนั้นก็อันตรายเพราะเด็กยังคงรักและต้องพึ่งพาคุณ “เด็กอยากจะแน่ใจว่าคุณจะรักเขา” ลีชอธิบาย

ความอิสระที่ล่อแหลม

มีสถานที่บางแห่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักจะไปกันในทุก ๆ สัปดาห์ เช่น เฮลธ์คลับที่มีบริการดูแลเด็ก และคาดหวังว่าเด็ก ๆ จะยอมรับความจริงว่าพวกเขาจะถูกทิ้งไว้ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักเป็นระยะเวลานานประมาณหนึ่ง “ความจริงก็คือ เด็กบางคนยอมรับ แต่บางคนก็ไม่” ลีชกล่าว “และความจริงที่ว่าเด็กบางคนจะเล่นกับของเล่นเหล่านั้นอย่างมีความสุขโดยไม่คิดว่าแม่หรือพ่อกำลังจะไม่อยู่ ทำให้เป็นการยากที่พ่อแม่ของเด็กอื่นจะยอมรับว่ามันเป็นความเหมาะสมกับวัยแล้วที่เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบจะประท้วงที่ถูกทิ้งไว้แบบนั้น”

เด็กวัยหัดเดินบางคนมีความมั่นใจกับสถานการณ์ทางสังคมมากกว่าคนอื่น ๆ หากลูกของคุณเป็นเด็กที่กลมกลืนง่ายนั่นก็ดี แต่ถ้าเขาเป็นคนประเภทที่ “หนูต้องรู้จักกับคุณก่อน” นั่นก็ไม่เป็นไรเหมือนกัน

พ่อแม่ต้องรับมือกับช่วงวัยนี้อย่างเท่าทัน

ฝึกวินัยให้วัยเตาะแตะ

ในขณะที่ระเบียบวินัยเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะทำให้เด็ก ๆ ปลอดภัย และเป็นการสอนให้เขาแยกแยะถูกผิดเป็น มันสำคัญพอ ๆ กันที่จะให้ลูกของคุณควบคุมชีวิตของตัวเอง คุณเริ่มทำสิ่งนี้ได้โดยการให้ตัวเลือกแก่ลูก ถามว่าลูกอยากใส่ชุดสีเหลืองหรือสีฟ้าวันนี้ หรือ ลูกต้องการเพรทเซิลหรือแอปเปิ้ลเป็นของว่าง หลีกเลี่ยงการถามคำถามปลายเปิด เพราะอาจจะทำให้เกิดความคับข้องใจ

อธิบายถึงอารมณ์อันโกรธเคือง

อารมณ์อันโกรธขึ้งเหล่านี้ปะทุขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกคับข้องใจที่ไม่สามารถทำในสิ่งที่เขาควรจะทำเองได้ นอกเหนือไปจากความคับข้องใจนี้ เด็กวัยนี้มักรู้สึกสับสนเพราะว่าเขายังไม่มีทักษะทางภาษามากพอที่จะบรรยายสิ่งที่เขารู้สึกออกมาให้เป็นคำพูดได้ อารมณ์เช่นนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับการพัฒนา เด็กทุกคนต้องผ่านมัน และจะลดลงตอนอายุประมาณ 4 ขวบ เมื่อทักษะทางภาษาและการเคลื่อนไหวดีขึ้น

จัดการกับอารมณ์โกรธขึ้ง

การปะทุของอารมณ์นั้นไม่เป็นผลดีทั้งกับแม่และเด็ก โชคดีที่มีกลวิธีที่คุณสามารถใช้เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ได้ตามที่เจเรมี่ ฟรายด์แมน อาจารย์สาขากุมารแพทย์ศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ผู้แต่งหนังสือ The Toddler Care Book

ในช่วงที่อารมณ์แปรปรวน การสงบสติอารมณ์และการหลีกเลี่ยงที่จะส่งเสริมพฤติกรรมโดยไม่ตั้งใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำ ถ้าอารมณ์ทำให้เรื่องราวบานปลาย อย่าหัวเราะหรือเผชิญหน้ากับลูก แต่จงเพิกเฉยต่อลูกของคุณโดยไม่สบตาและรอให้เขาสงบลงเอง สิ่งนี้จะช่วยให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้กำลังส่งเสริมพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก

หลังจากช่วงเวลาของพายุอารมณ์สงบลง จงให้ความมั่นใจและคำชี้แนะแก่เขา พูดกับลูกด้วยน้ำเสียงที่ผ่อนคลายและสอนให้ลูกรู้ถึงวิธีที่จะแสดงความรู้สึกกับคุณผ่านทางคำพูด แทนที่จะใช้ท่าทีที่ไม่เหมาะสม ต้องทำให้ลูกแน่ใจว่าคุณรักเขา จากนั้นก็ทำกิจกรรมกันต่อได้เลย

กุญแจสำคัญคือให้ลูกรู้ว่าเรารักเขา

รับมือกับซีนโวยวายนอกบ้าน

การปล่อยให้ลูกร้องให้ที่บ้านก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เวลาเด็กไปร้องโวยวายนอกบ้าน มันก็เป็นสิ่งที่สร้างความโกลาหลและน่าอายอยู่บ่อยครั้ง ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณ ขอให้รู้ไว้ว่ามันไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่แย่ คนอื่น ๆ ที่อยู่ในร้านค้านั้นก็อาจจะเป็นพ่อแม่เหมือนกันกับคุณ และเขาก็จะเข้าใจได้ว่าคุณกำลังเผชิญกับอะไร

เริ่มจากการพาลูกของคุณออกจากสถานการณ์ตรงนั้นซะ อุ้มเขาขึ้นมาและพาไปในที่ที่เงียบ อย่างเช่น ที่รถ หรือห้องน้ำ กอดเขาจนกว่าเขาจะหยุดร้องโวยวาย พูดจากับเขา ให้คำแนะนำ ทำเหมือนตอนอยู่ด้วยกันที่บ้าน แต่อย่าใจอ่อนกับลูก เพราะเขาจะเรียนรู้ว่าเมื่อเขาโวยวายแล้วได้ขนม เขาก็จะทำมันอีกเมื่อมีโอกาส

หัดจูงใจลูก

พ่อแม่ที่มีช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดกับเด็กวัยนี้ คือพ่อแม่ที่ต่อสู้ดิ้นรนกับความรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกต้องและสมควรเป็นฝ่ายชนะ ลีชกล่าว โดยมากแล้ว ยิ่งคุณไปกดดันเด็ก เขาก็จะยิ่งต่อต้าน และคนที่จะเป็นฝ่ายคับข้องใจก็จะกลายเป็นคุณเอง

หากคุณโฟกัสไปที่การทำให้เด็กวัยนี้ทำตัวแบบที่คุณต้องการ คุณจะพบกับการต่อต้านน้อยลง ลองนึกถึงการฝึกลูกใช้ห้องน้ำก็ได้ มันเป็นเรื่องของการที่คุณจะฝึกเขาให้รู้ว่าเมื่อไหร่ที่เขาควรจะไปห้องน้ำและไปยังไง ไม่ใช่การที่คุณเข้าไปจัดแจงที่ตัวลูกเสียเองทั้งหมด

ป้องกันอารมณ์ร้าย

สถานการณ์มักจะเกิดขึ้นตอนที่ลูกหิว เบื่อ หรือเหนื่อย รับมือกับการปะทุด้วยการให้ความสนใจกับภาษาท่าทางและการตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ของลูกให้มาก จัดเตรียมของว่างเอาไว้ หาที่ให้เขาได้งีบ หรือทำกิจกรรมเงียบ ๆ ก่อนที่เขาจะเข้าสู่โหมดโกรธเกรี้ยว

สอนลูกให้ดี

ถ้าคุณอยากให้ลูกเข้าใจอะไร คุณต้องบอกลูกในสิ่งนั้นพร้อมอธิบายให้เขาเข้าใจ ถ้าคุณอยากให้ลูกทำบางสิ่งบางอย่าง คุณก็ต้องทำกับลูกด้วย ถ้าคุณอยากให้ลูกไปที่ไหน คุณก็ต้องพาเขาไป ถ้าคุณอยากให้ลูกมา คุณก็ต้องเป็นฝ่ายพาลูกมา

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของลูก และรับมือไปด้วยกันกับเขา

ความซนตามธรรมชาติ?

เด็กเล็กอยากให้พ่อแม่พอใจในตัวพวกเขา เพื่อที่ตัวเขาเองจะรู้สึกปลอดภัยและพอใจในตัวเอง “นั่นคือกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจพฤติกรรมที่ยากจะเข้าใจของพวกเขาและนำไปสู่ทิศทางที่ดี” ลีชกล่าว

ลูกของคุณอาจจะมีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีบ้าง นั่นเป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าคุณต้องการอะไร หรือไม่ก็เป็นเพราะเขาไม่สามารถทำมันได้ หรือเพราะเขาสามารถทำได้ภายใต้สถานการณ์ปกติ แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีอะไรที่จะเหมาะไปกว่าการแสดงความโกรธเคือง หรือเพียงเพราะ บางครั้งเขาก็ทำในสิ่งที่เขาต้องการแทนที่จะทำในสิ่งที่ควรทำ (ซึ่งพวกเราก็ยังเป็นแบบนั้นเลย) “อย่างไรก็ตาม การที่เขาอาจประพฤติตัวไม่ดีไปบ้าง มันไม่ใช่เพราะเขาตั้งใจจะทำให้คุณขุ่นเคือง” ลีชกล่าว

วัย 2 ขวบเป็นช่วงเวลาที่เด็กคนหนึ่งจะต้องเรียนรู้การเปลี่ยนผ่านจากความเป็นทารกเข้าสู่ความเป็นเด็กเล็กด้วยตัวของเขาเอง แต่มันจะดีมากถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงนั้น และพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเขา เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงทุก ๆ อย่างไปด้วยกัน

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th