Site icon Motherhood.co.th Blog

“Time out” 4 ขั้นตอนปรับพฤติกรรมลูกด้วยการเข้ามุม

Time out

ปรับพฤติกรรมเอาแต่ใจได้ด้วยการ Time out

“Time out” 4 ขั้นตอนปรับพฤติกรรมลูกด้วยการเข้ามุม

Time out หรือการปรับพฤติกรรมลูกด้วยการให้เด็กเข้ามุมเป็นวิธีที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่พ่อแม่ยุคใหม่ ยิ่งมีผลวิจัยออกมารองรับแล้วด้วยว่าการลงโทษแบบสมัยก่อนที่ใช้การตี การดุด่าว่ากล่าวไม่ได้เป็นวิธีที่ได้ผลเสมอไป แถมยังเป็นการปลูกฝังความรุนแรงให้เด็กทางอ้อมอีกด้วย แต่รายละเอียดของการทำโทษลูกด้วยวิธี Time out จะเป็นอย่างไรบ้าง ลองติดตามได้ในบทความชิ้นนี้เลยค่ะ

ช่วยให้สงบสติอารมณ์

การปรับพฤติกรรมเป็นอย่างไร?

การปรับพฤติกรรมด้วยการเข้ามุม คือการแยกเด็กออกจากสิ่งกระตุ้นต่างๆ เพื่อให้เด็กสงบลงและความคุบตัวเอง เป็นการหยุดพฤติกรรมอันไม่ถึงประสงค์ของลูก ทั้งพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เรียกร้องความสนใจ เพื่อให้เด็กสงบสติอารมณ์ลงได้ แต่ห้ามกักขังลูกไว้ภายในห้องปิดเด็ดขาด เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าโดนทอดทิ้ง รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการของพ่อแม่ได้ อาจจะทำให้สถานการณ์แย่เข้าไปอีก

ปรับพฤติกรรมด้วยการเข้ามุม

สิ่งที่ต้องระวังเมื่อใช้ Time out

พ่อแม่ต้องพึงระวังว่ามันคือการปรับพฤติกรรม ไม่ใช่บทลงโทษในรูปแบบการกักบริเวณเด็กเพื่อชดใช้ความผิด เป้าหมายของมันคือการทำให้เด็กออกจากสถานการณ์ที่ยุ่งยาก เพื่อไปจัดการกับอารมณ์ที่พลุ่งพล่านของตัวเอง จะต้องให้ลูกได้เรียนรู้ถึงความผิดที่ตัวเองกระทำลงไป หรือเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ขุ่นมัวของตัวเอง หากเขาไม่ได้เรียนรู้หรือสำนึกกับสิ่งที่ได้ทำลงไปอย่างจริงจัง เพียงแค่เดินเข้ามุมทุกทีที่โดนคุณพ่อคุณแม่สั่ง เขาก็จะไม่สามารถกำจัดพฤติกรรมก้าวร้าวออกจากตัวเองได้ และสมาชิกในครอบครัวควรให้ความร่วมมือ ไม่ควรใจอ่อนกับเด็กจนเกินไป

4 ขั้นตอนเพื่อผลลัพธ์ที่น่าพอใจ

  1. เลือกช่วงอายุให้เหมาะสม วิธีนี้สามารถเริ่มใช้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป หรือกับเด็กที่เริ่มเข้าใจภาษาแล้ว รู้ฟังแล้ว เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ตีน้อง ขว้างปาข้าวของ
  2. กันลูกเข้าสู่มุม เมื่อลูกทำผิดหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้พ่อแม่ใช้คำพูดสั้นๆ เช่น “ตีน้องอีกแล้ว เข้ามุมค่ะ” จากนั้นให้พาลูกเข้าสู่มุมที่สงบของบ้าน หรือนั่งที่เก้าอี้แยกออกไป เพื่อให้เขาหยุดร้องและสงบลง
  3. อยู่ห่างกันบ้างก็ดี การแยกลูกนั้น ให้แยกเขาไปนั่งในบริเวณส่วนตัวที่ยังสามารถมองเห็นเขาได้ แต่อย่าทิ้งหรือขังไว้ในห้องเพียงคนเดียว ส่วนพ่อแม่ก็ทำกิจวัตรประจำวันไปตามปกติ จะได้สงบสติกันทั้งสองผ่าย
  4. รอพายุสงบ หลังจากที่ลูกหยุดโวายวายได้สักพักแล้ว ถึงค่อยเรียกลูกออกมา พร้อมทั้งมีการพูดคุยกับเขาว่า “อารมณ์ดีขึ้นแล้วใช่ไหมลูก มากอดกันนะ” เป็นการเช็คว่าเขาสามารถสงบสติได้แล้วจริงๆ
ไม่ใช่การกักบริเวณ

ควรจับเวลายังไง

คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยได้ยินวิธีกำหนดเวลาเข้ามุมตามอายุลูก ถ้าลูกมีอายุ 2 ขวบก็ให้นั่งเข้ามุมอยู่ 2 นาที ความจริงแล้วเรื่องเวลาสำหรับการเข้ามุมก็ไม่ได้มีกำหนดตายตัวว่าเท่าไหร่คือเหมาะสม เท่าไหร่คือน้อยเกินไป แต่โดยรวมไม่ควรมากเกิน 15 นาที ปัจจัยสำคัญคือเด็กต้องสงบสติอารมณ์ได้จริงๆภายในระยะเวลาที่พ่อแม่เลือกกำหนด ไม่ใช่แค่โดนกันออกจากสิ่งรอบข้างเหมือนได้รับการลงโทษ ถ้าจะให้ดีควรมีนาฬิกาอยู่ในบริเวณที่ทั้งคุณและลูกมองเห็นได้ถนัด ยิ่งเป็นตัวเลขก็ยิ่งดี เด็กที่เริ่มอ่านตัวเลขเป็นแล้วจะได้ไม่รู้สึกว่าเขาถูกโกงเวลา และไม่รู้สึกว่าพ่อแม่ผิดสัญญาด้วยการทำโทษเขาเกินเวลา

Time in ก็ต้องมีด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรับทราบก็คือ การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของลูกจะไม่ได้ผลเลย ถ้าตัวคุณมัวแต่เพ่งเล็งในพฤติกรรมด้านลบของเขาแต่เพียงอย่างเดียว หากคุณมีเวลาให้ลูกน้อยเกินไป คุณอาจจะไม่ได้สนใจเขาในยามที่เขามีอารมณ์ปกติ แต่คุณกลับตอบสนองในช่วงที่เขามีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว โวยวาย เขาก็จะรู้สึกเหมือนถูกเพ่งโทษ และต้นตอของปัญหาก็จะไม่ถูกกำจัดไป

การโอบกอดและพูดคุยกันด้วยเหตุผลหลังจากที่ลูกสงบสติอารมณ์ได้แล้วก็เป็นสิ่งที่สมควรทำ ควรมีการพูดคุยกันอย่างอ่อนโยนถึงเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น เป็นการคุยกับลูกด้วยเหตุผลว่าสิ่งที่เขาทำลงไปมันไม่เหมาะสมยังไง จะส่งผลเสียต่อตัวเขาหรือคนอื่นยังไงบ้าง อย่าลืมที่จะชมเชยเขาด้วยเมื่อเขาสามารถสงบสติอารมณ์ลงได้ และต้องยืนยันว่าพวกคุณยังคงรักเขาอยู่เสมอ อยากให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ เพื่อที่เขาจะได้เป็นที่รักของคนอื่นด้วยเช่นกัน

ปรับพฤติกรรมอย่างยั่งยืน

บทเรียนสำหรับพ่อแม่

การลงโทษที่ได้ผลนั้นมีหลักการอยู่ว่าเด็กที่ถูกทำโทษจะต้องได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น รู้ว่าการกระทำของตัวเองส่งผลไม่ดีอย่างไร ส่งผลให้เขาเลิกทำพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์นั้นเสีย ไม่ใช่เป็นแค่การมอบบทลงโทษให้เด็กชดใช้ความผิดโดยที่ไม่ได้เรียนรู้หรือแก้ไขในสิ่งที่ทำลงไปเลย แบบนี้จะไม่ต่างกับการตีหรือดุด่าว่ากล่าว เพราะเด็กจะไม่ได้เรียนรู้ความผิดพลาดที่ทำลงไปเช่นกัน แล้วพฤติกรรมไม่ดีเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลาให้ลูกอย่างมากพอนะคะ เพื่อใช้เวลานี้มอบความรัก ความเข้าใจ และปรับพฤติกรรมลูกไปในตัว สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กมีทัศนคติในเชิงบวกติดตัว นำไปสู่การมีพฤติกรรมเชิงบวกต่อไป

 

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าเพื่อลูกรักในราคาสุดพิเศษ >> คลิกที่นี่ได้เลย