การฝังยาคุม มีประสิทธิภาพมากจริงหรือไม่ ?
การวางแผนครอบครัวถือเป็นสิ่งจำเป็นมากในยุคนี้นะคะ ซึ่งในตอนนี้วิธีการคุมกำเนิดที่มากแรงมากวิธีหนึ่งก็คือ “การฝังยาคุม” เพราะเชื่อกันว่าเป็นวิธีที่ได้ประสิทธิภาพมาก มีเปอร์เซนต์ผิดพลาดน้อยมากเมื่อเทียบกับการคุมกำเนิดวิธีอื่น ๆ แต่อาจจะยังมีหลายคนที่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับยาฝังคุมกำเนิดมากนัก ยังไม่เคยทราบว่ามันทำงานอย่างไร เข้ารับบริการได้ที่ไหน และมีค่าใช้จ่ายมากน้อยอย่างไรบ้าง วันนี้ Motherhood จึงนำเอารายละเอียดมาฝากกันค่ะ
ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive implant) เป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูง โดยใช้แท่งยาขนาดเล็กฝังเข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณใต้ท้องแขนของแขนท่อนบน ซึ่งภายในแท่งหรือหลอดยานั้นมีฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) บรรจุเอาไว้ เมื่อฝังแท่งยาเรียบร้อย มันก็จะค่อย ๆ ปล่อยฮอร์โมนชนิดนี้เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้เป็นเวลา 3-5 ปี แล้วแต่ชนิดของยา
- ชนิด 1 หลอด ชื่อทางการค้า Etoplan หรือ Implanon คุมกำเนิดได้ 3 ปี
- ชนิด 2 หลอด ชื่อทางการค้า Jadelle คุมกำเนิดได้ 5 ปี
การฝังยาคุมป้องกันการตั้งครรภ์อย่างไร ?
ในแท่งยาฝังคุมกำเนิดจะประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) บรรจุอยู่ภายใน โดยหน้าที่หลักของฮอร์โมนโปรเจสตินที่ถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด คือ ทำให้ฟองไข่ไม่พัฒนาและไม่เกิดการตกไข่ เมื่อไม่เกิดการตกไข่ ก็จะไม่มีอะไรไปปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิ จึงไม่สามารถเกิดการตั้งครรภ์ได้ นอกจากนั้น ฮอร์โมนโปรเจสตินที่ปล่อยออกมายังทำให้เมือกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ซึ่งมีผลให้อสุจิผ่านเข้าไปยังมดลูกเพื่อปฏิสนธิกับไข่ได้ยาก รวมไปถึงยังทำให้เยื่อบุผนังหมดลูกบางลง ซึ่งทำให้ไข่ที่ถูกผสมแล้วไม่สามารถเกาะที่ผนังมดลูกได้ดี
ยาฝังคุมกำเนิดจะออกฤทธิ์เมื่อไหร่ ?
ยาฝังคุมกำเนิดสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ในทันที หากฝังเอาไว้ในช่วง 5 วันแรกของการมีประจำเดือน แต่หากฝังยาเอาไว้ในวันอื่น ๆ ของรอบประจำเดือน จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้หลังฝังยาคุมกำเนิด 7 วันขึ้นไป ซึ่งในระหว่างนี้ควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ เช่น ถุงยางอนามัย
สามารถใช้ยาฝังคุมกำเนิดหลังคลอดได้หรือไม่ ?
แพทย์แนะนำให้ใช้ยาฝังคุมกำเนิดหลังคลอด 3 สัปดาห์ และหากฝังยาคุมกำเนิดก่อนหรือภายในวันที่ 21 หลังจากคลอด จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ในทันที แต่หากฝังยาคุมกำเนิดหลังจากวันที่ 21 หลังจากวันคลอดบุตร ก็จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 7 วัน เช่น ใช้ถุงยางอนามัย หรือฉีดยาคุมกำเนิด
แม่ที่ให้นมสามารถใช้ยาฝังคุมกำเนิดได้หรือไม่ ?
สำหรับคุณแม่ที่กำลังให้นมก็สามารถใช้ยาฝังคุมกำเนิดได้อย่างปลอดภัย ส่วนผู้ที่แท้งบุตรหรือมีการทำแท้งก็สามารถใช้ยาฝังคุมกำเนิดได้ตามปกติเช่นกัน ซึ่งจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันที
วิธีการฝังยาคุมกำเนิด
ผู้ที่จะฝังยาคุมกำเนิดควรรับการฝังยาในช่วง 5 วันแรกของรอบเดือน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้กำลังตั้งครรภ์ และเพื่อให้ยาที่ฝังมีผลในทันที เมื่อตัดสินใจจะฝังยาคุมกำเนิดแล้ว สามารถติดต่อขอรับบริการกับทางโรงพยาบาลที่สะดวกได้ทันที
ขั้นแรกแพทย์จะทำความสะอาดผิวหนังบริเวณท้องแขนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วฉีดยาชาบริเวณใต้ท้องแขนที่จะฝังยาเข้าไป จากนั้นจะใช้เข็มเปิดแผลและสอดแท่งที่มีหลอดยาบรรจุอยู่เข้าไปในเข็ม เมื่อหลอดยาเข้าไปใต้ผิวหนังเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะนำเข็มและแท่งนำหลอดยาออกมา จากนั้นจึงทำการปิดแผลด้วยพลาสเตอร์เล็ก ๆ ตามด้วยผ้าพันแผลพันทับอีกชั้นหนึ่ง และแพทย์จะให้ยาแก้ปวดกลับไปรับประทานหากมีอาการปวดแผล
แพทย์จะลองจับบริเวณที่ฝังยาเพื่อตรวจสอบตำแหน่งของยาที่ฝังเข้าไป หากมีความจำเป็นอาจต้องทำอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์เพื่อยืนยันว่ายาฝังคุมกำเนิดได้ถูกฝังเอาไว้อย่างถูกต้อง
เมื่อผ่านไป 24 ชั่วโมง ผู้เข้ารับการฝังยาคุมกำเนิดสามารถนำผ้าพันแผลออกได้ แต่ยังควรเหลือพลาสเตอร์ปิดแผลเอาไว้ และต้องดูแลพลาสเตอร์ให้สะอาด เป็นเวลา 3-5 วัน ก่อน จึงจะลอกออกได้
นำยาฝังคุมกำเนิดออกได้เมื่อไหร่ ?
ยาฝังคุมกำเนิดจะมีอายุการใช้งาน 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของยา ซึ่งเมื่อครบกำหนดก็ควรนำออก สำหรับผู้ที่ฝังยาแล้วเกิดมีอาการปวดไมเกรน อาการของโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดในสมอง ความดันโลหิตสูง ดีซ่าน หรือเกิดภาวะซึมเศร้า แพทย์อาจแนะนำให้นำยาฝังคุมกำเนิดออกก่อนครบกำหนด
ผู้ที่ต้องการนำยาที่ฝังอกออกสามารถติดต่อโรงพยาบาลได้ทันที ขั้นตอนการนำออกใช้เวลาไม่นานเช่นกัน โดยแพทย์จะฉีดยาชาในบริเวณที่ฝังยา จากนั้นจะกรีดแผลขนาดเล็กแล้วดันแท่งยาหรือใช้อุปกรณ์ช่วยคีบมันออกมาจากรอยแผลที่กรีดเอาไว้ เมื่อนำแท่งยาออกมาได้เรียบร้อยแล้ว แพทย์ก็จะทำแผลให้
ข้อดีและข้อเสียของการฝังยาคุมกำเนิด
ข้อดีของยาฝังคุมกำเนิด มีดังต่อไปนี้
- เมื่อฝังยาคุมกำเนิดไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีอื่นในการป้องกันการตั้งครรภ์ ตลอดระยะเวลา 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของยา
- ไม่ต้องกังวลว่าจะลืมรับประทานยาคุมกำเนิด
- หลังจากที่แท้งบุตร ทำแท้ง คลอดบุตร หรือระหว่างที่ให้นมบุตร สามารถฝังยาคุมกำเนิดได้ทันทีโดยไม่เป็นอันตราย
- ยาฝังคุมกำเนิดไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการมีเพศสัมพันธ์
- หากต้องการมีบุตรหรือต้องการหยุดใช้ ก็สามารถนำออกได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ยังสามารถมีบุตรได้เร็วกว่าการฉีดยาคุม
- ในช่วงปีแรกที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิด มีส่วนช่วยลดอาการปวดประจำเดือน และช่วยให้ผู้ที่ประจำเดือนมามากมีประจำเดือนลดลง
- ใช้ได้กับผู้ที่ไม่สามารถใช้ยาคุมกำเนิดแบบเม็ดซึ่งมีเอสโทรเจน (Oestrogen) เป็นส่วนประกอบ
- มีส่วนช่วยยับยั้งการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เพราะยาฝังคุมกำเนิดทำให้เมือกที่คอมดลูก (Cervix) ข้นขึ้น ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเข้าไปสู่มดลูกได้
ข้อเสียของยาฝังคุมกำเนิด มีดังต่อไปนี้
- ในขั้นตอนฝังยาหรือนำยาออกจะต้องฉีดยาชาเฉพาะที่
- อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ซึ่งเป็นอาการปกติของปีแรกที่ฝังยา
- บางคนอาจมีประจำเดือนมากขึ้นหรือมาถี่ขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปีแรกที่เริ่มฝังยา
- บางคนอาจมีประจำเดือนมาไม่ตรงเวลาหรือมาน้อย ซึ่งพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่ฝังยาคุมกำเนิดจะไม่มีเลือดออกมาเมื่อมีประจำเดือน
- ยาฝังคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Infection: STI) ได้
ใครที่ไม่ควรใช้ยาฝังคุมกำเนิด ?
- ผู้ที่สงสัยว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์
- ผู้ที่ต้องการมีรอบเดือนเป็นปกติ เพราะเมื่อใช้ยาฝังคุมกำเนิดแล้วอาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ
- ผู้ที่พบว่าตนเองมีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือนหรือหลังจากการมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่เป็นไมเกรน
- ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (Thrombosis)
- ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดง (Arterial Disease) มีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง
- ผู้ที่เป็นโรคตับ ตับแข็ง หรือมีเนื้องอกในตับ
- ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือเคยเป็น
- ผู้ที่เป็นเบาหวานและมีภาวะแทรกซ้อน
- ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคกระดูกพรุน
- ผู้ที่แพ้ส่วนประกอบใด ๆ ก็ตามที่อยู่ในยาคุมกำเนิด
ผลข้างเคียงของยาฝังคุมกำเนิด
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีเลือดออกทางช่องคลอดเมื่อใด โดยบางคนเมื่อเวลาผ่านไปอาการดังกล่าวจะหายไปเอง หรือบางคนจะพบว่าทำให้ประจำเดือนขาดได้ ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบ ได้แก่
- อารมณ์แปรปรวน
- มีภาวะซึมเศร้า
- ปวดศีรษะ
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้
- สิวขึ้น
- มีอาการกดเจ็บที่เต้านม
- บวมน้ำ
- บางคนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าเป็นเพราะยาฝังคุมกำเนิดหรือไม่
- ยาฝังคุมกำเนิดอาจทำปฏิกิริยาต่อยาชนิดอื่น ๆ ที่ใช้อยู่ก่อนหน้า
ผลข้างเคียงเหล่านี้มักจะหยุดไปเองหลังผ่านช่วงเดือนแรก ๆ ไป แต่หากพบว่ายังคมมีอาการต่อไปหรือมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง รวมทั้งผลข้างเคียงอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้นี้ ควรไปพบแพทย์
ข้อมูลสถานพยาบาลที่ให้บริการฝังยาคุมกำเนิดตามเขตบริการสุขภาพ
เขต 1 – เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง >>> คลิกที่นี่
เขต 2 – เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก >>> คลิกที่นี่
เขต 3 – กำแพงเพชร ชัยนาท พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี >>> คลิกที่นี่
เขต 4 – นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี >>> คลิกที่นี่
เขต 5 – กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี >>> คลิกที่นี่
เขต 6 – จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว สมุทรปราการ >>> คลิกที่นี่
เขต 7 – กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด >>> คลิกที่นี่
เขต 8 – นครพนม บึงกาฬ เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี >>> คลิกที่นี่
เขต 9 – นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์ >>> คลิกที่นี่
เขต 10 – มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ >>> คลิกที่นี่
เขต 11 – กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา ระนอง ภูเก็ต >>> คลิกที่นี่
เขต 12 – นราธิวาส พัทลุง สตูล สงขลา ตรัง ปัตตานี ยะลา >>> คลิกที่นี่
เขต 13 – กรุงเทพมหานคร >>> คลิกที่นี่
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
- หากเปลี่ยนวิธีจากการรับประทานยาคุมกำเนิดรายเดือน ให้ฝังยาคุมกำเนิดในวันถัดจากวันที่รับประทานยาคุมกำเนิดเม็ดที่มีฮอร์โมนเม็ดสุดท้าย
- หากเปลี่ยนวิธีจากการฉีดยาคุมกำเนิด ให้ฝังยาในวันเดียวกับที่ครบกำหนดไปฉีดยาคุมกำเนิดได้เลย หรือจะฝังยาก่อนวันครบกำหนดฉีดยาเข็มต่อไปก็ได้
- หากครบกำหนดแล้วต้องการฝังยาต่อ ก็สามารถฝังในวันเดียวกันได้เลย
- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และทุกช่วงวัยหลังแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ รับบริการคุมกำเนิดฟรี
ขอบคุณข้อมูลจาก: Rsathai.org
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th