อันตรายแค่ไหน หาก “คนท้องดื่มน้ำกระท่อม” ?
อย่างที่เรารู้กันว่าพืชกระท่อมถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว และถึงแม้ว่าฤทธิ์ในการเป็นยาเสพติดของมันจะไม่แรงมาก แต่หาก “คนท้องดื่มน้ำกระท่อม” จะยังส่งผลเสียอยู่หรือไม่ เพราะหลายคนมองว่าพืชกระท่อมมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรที่ดี วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจนี้กันค่ะ
กระท่อมถูกจัดให้เป็นยาเสพติด เป็นพืชต้องห้ามตามกฎหมายเป็นครั้งแรกเมื่อ 76 ปีก่อน เหตุผลที่ออกพรบ.กระท่อมก็เนื่องมาจาก ฝิ่นทั้งดิบและสุกมีราคาแพงขึ้น ทำให้คนหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่น จึงทำให้รัฐที่เป็นผู้ผูกขาดการผลิตเดือดร้อน เลยใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับกระท่อมเพื่อให้รัฐจัดเก็บภาษีฝิ่นได้ตามเป้าหมายนั่นเอง
โดยต่อมา กระท่อมถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามความหมายในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 7 ได้แก่ กัญชา และพืชกระท่อม
แต่แล้วจากการบังคับใช้กฎหมายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้อนุญาตให้กัญชา กัญชง พืชกระท่อม พืชฝิ่น และเห็ดขี้ควาย ไม่จัดเป็นยาเสพติดอีกต่อไป ทำให้ปัจจุบันประชาชนสามารถปลูก ซื้อขาย และนำกระท่อมมาบริโภคได้อย่างถูกกฎหมาย ผู้ใช้งานหลายคนอาจจะรู้สึกโล่งใจที่จะใช้พืชกระท่อมได้ตามปกติ แต่การที่แม่ท้องใช้พืชกระท่อมจะส่งผลเสียต่อทารกในท้องหรือไม่ ก็ยังไม่มีกรณีศึกษาที่มากพอทั้งในไทยและในระดับโลก
ทำความรู้จักกับพืชกระท่อมให้มากขึ้น
กระท่อมเป็นพืชที่อยู่ในสกุล Mitragyna เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 15 เมตร พบมากในแถบภาคใต้และภาคกลางของประเทศไทย ตัวใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเป็นคู่ตรงข้าม มีดอกสีเหลือง ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจุกแน่น ออกดอกตามปลายกิ่ง มี 1-3 ช่อ กลีบเลี้ยงเป็นหลอดสั้น ปลายมี 5 แฉก กลีบดอกเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 5 หยัก
กระท่อมเป็นพืชที่อยู่คู่กับวิถีชาวบ้านของไทยเรามาช้านาน โดยชาวไร่ชาวสวนในสมัยก่อนนิยมนำใบกระท่อมมาเคี้ยวเพื่อให้มีแรงในการทำงาน สามารถทำงานได้นานขึ้น ทนแดดมากขึ้น นอกจากนี้ในใบกระท่อมเองมีสรรพคุณทางยา ช่วยรักษาอาการท้องเสีย ท้อร่วง ถ่ายเป็นเลือด บรรเทาอาการปวดเมื่อย ช่วยคลายเครียด และคลายกังวลได้ ส่วนพันธุ์ที่นิยมบริโภคกันมาก คือ พันธุ์ก้านแดง ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil.
ส่วนของพืชกระท่อมที่นำมาใช้งานได้ คือ ใบอ่อนนำมากินเป็นอาหารได้ โดยกินแบบสด เคี้ยวใบกระท่อมประมาณ 5-10 นาที จะมีอาการกระปรี้กระเปร่า แต่กับบางคนอาจเกิดอาการเมาได้ ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน
สารอันตรายที่อยู่ในใบกระท่อม
การศึกษาพบว่าใบกระท่อมมีสารสำคัญ เรียกว่าไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ (Alkaloid) ที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน ทำให้รู้สึกชาและกดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน ทำให้สามารถทำงานได้นานและทนมากขึ้น รวมถึงทนต่อความร้อนได้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ใบกระท่อมยังมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ออกฤทธิ์คล้ายแอมเฟตามีน หากใช้มากเกินไปหรือใช้อย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติได้หลายรูปแบบ ได้แก่
- เบื่ออาหาร
- ปากแห้ง
- หนาวสั่น
- ปัสสาวะบ่อย
- ท้องผูก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- นอนไม่หลับ
- หวาดระแวง
- เห็นภาพหลอน
- เม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง สีผิวคล้ำและเข้มขึ้น
- พบอาการถอนยาเมื่อหยุดใช้
- อาจถึงขั้นเสียชีวิตเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
อันตรายอีกประการจากการกินใบกระท่อม หากผู้ใช้กินใบกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบ จะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า ‘ถุงท่อม’ ในลำไส้ได้ เพราะก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถถูกย่อยได้ จึงเกิดเป็นตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ ไม่ได้ถูกขับถ่ายออกมา ในที่สุดจะเกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มอยู่รอบก้อนตะกอนกระท่อมนั้น จนเกิดเป็นก้อนถุงขึ้นในลำไส้
ท้องอยู่หรือให้นมลูกสามารถดื่มน้ำกระท่อมได้มั้ย ?
ว่าที่คุณแม่และคุณแม่มือใหม่หลายคนสงสัยว่าตอนท้องหรือตอนให้นมลูกจะสามารถดื่มน้ำกระท่อมได้หรือไม่ ในใบกระท่อมนั้นมีสารออกฤทธิ์อยู่หลายกลุ่ม เช่น Alkaloid Flavonoid Phenylpropanoid เป็นต้น ซึ่งสารบางชนิดมีกลไกการทำงานคล้ายกับฝิ่น มอร์ฟีน ทรามาดอล หากใช้ในผู้ตั้งครรภ์ก็จะส่งผลกระทบต่อทารกได้
หากผู้มีครรภ์ใช้สารเสพติดจำพวกนี้อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ทารกที่เพิ่งคลอดมีอาการถอนยา (Neonatal abstinence syndrome – NAS) ซึ่งมีอาการหลายรูปแบบ เช่น หายใจเร็ว หอบ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ตัวสั่น เกร็ง กระตุก เป็นต้น
และสารเสพติดนั้นยังสามารถซึมเข้าสู่ตัวเด็กได้ผ่านทางน้ำนม ผลกระทบจะรุนแรงเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารเสพติดที่ทารกได้รับ ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติกับตัวเด็กได้หลายรูปแบบ เช่น มีพัฒนาการช้า สมองเล็ก การหายใจผิดปกติ หากเด็กมีอาการขาดยาก็อาจมีอาการผิดปกติตามมาได้อีก เช่น งอแง เลี้ยงยาก ทั้งหมดนี้สามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตและพัฒนาการของเด็กในระยะยาวด้วย
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th