จุกนมหลอก ทำลูกฟันเก พูดช้า จริงไหม?
“จุกนมหลอก” นั้นสามารถใช้ได้กับเด็กที่มีอายุ 2 เดือนขึ้นไป ไม่ควรให้ใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่านั้น เพราะเด็กเพิ่งเริ่มกินนมแม่ใหม่ๆ อาจจะทำให้เด็กสับสนจนไม่เคยชินกับการกินนมแม่อีก แต่ผู้ใหญ่และพ่อแม่ก็กังวลกันว่าการที่ลูกติดใช้จุกนมหลอกมากไปนั้นจะทำให้เด็กฟันเกหรือมีพัฒนาการด้านการพูดที่ช้ากว่าปกติ ความจริงแล้วจุกนมหลอกก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียหลายประการ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจเลือกนะคะ
ประโยชน์ของจุกนมหลอก
- ช่วยลดการร้องไห้ หากเด็กร้องจะกินนมอีก ทั้งๆที่เพิ่งกินนมเสร็จ เพราะเราไม่ควรให้เด็กกินนมมากเกินไป บางทีเด็กยังร้องอยู่ทั้งที่อิ่มแล้ว ก็ควรใช้จุกนมหลอกให้ดูดแทน
- ช่วยลดการเล่นน้ำลายและดูดนิ้ว เพราะการให้ดูดจุกนมหลอกนั้นหยุดง่ายกว่า เพียงแค่พ่อแม่ต้องการก็ให้ดึงจุกออกจากปากลูก แต่การดูดนิ้วนั้นเด็กจะเลิกยากมาก เพราะนิ้วติดตัวลูกอยู่ตลอด
- เด็กจะผ่อนคลาย ไม่งอแง หลับง่ายขึ้น ช่วยให้ผู้ใหญ่มีเวลาทำธุระหรือช่วยให้คุณแม่มีเวลาพักผ่อนได้มากขึ้นด้วย
- การใช้จุกนมหลอกสามารถลดอัตราการเกิดภาวะเสียชีวิตเฉียบพลันไม่ทราบสาเหตุ (SIDS – Sudden Infant Death Syndrome)
- สำหรับเด็กที่ร้องโคลิคหนักๆ สามารถใช้จุกนมหลอกเป็นตัวช่วยได้
ปัญหาที่เกิดจากจุกนมหลอก
- ถ้าให้ลูกใช้จุกนมหลอกไวเกินไป เด็กจะติดจุกนมหลอกจนกินนมแม่น้อยลง และเมื่อลูกกินนมแม่น้อยลง ก็จะไม่ถูกกระตุ้นให้ผลิตน้ำนม
- อาจเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้ถ้าทำความสะอาดไม่ดีพอ เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลาง
- เด็กที่ฟันเริ่มงอกแล้ว หากยังใช้จุกนมหลอกอาจจะได้รับผลกระทบต่อรูปฟัน ฟันอาจจะซ้อน และรูปปากเปลี่ยนไป
- ถ้าเด็กกำลังอยู่ในวัยหัดพูด เขาอาจจะเพลิดเพลินกับการดูดจุกนมหลอกมากเกินไปอาจจะไม่อยากพูดออกเสียง ทำให้เริ่มพูดช้า
- เด็กบางคนติดจุกนมหลอกมากเกินไปจนเกิดพฤติกรรมเอาแต่ใจ พอนอนหลับแล้วจุกนมหลอกหลุดออกจากปาก หรือผู้ใหญ่ดึงออกจากปาก ก็จะร้องไห้โวยวาย
ข้อแนะนำในการใช้จุกนมหลอก
- เลือกจุกนมหลอกที่มีวัสดุคล้ายจุกนมยางมากที่สุด
- ต้องทำความสะอาดบ่อยๆเหมือนที่ทำความสะอาดจุกนมยางสำหรับขวดนม (เลือกหาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุกนม >>> คลิก)
- ก่อนเริ่มใช้งานควรต้มฆ่าเชื้อในน้ำเดือดอย่างน้อย 5 นาที
- ควรมีจุกสำรองหากเด็กทำหล่นพื้นหรือทำหายนอกบ้าน
- ไม่ควรให้ใช้จุกนมหลอกนานเกินไป พบถึง 1 ขวบก็เลิกใช้ได้แล้ว
- ถ้าเด็กไม่ได้ร้องหาจุกนมหลอก ก็ไม่จำเป็นต้องส่งให้เขาดูด ควรหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจอื่นแทน
จะเห็นได้ว่าการใช้จุกนมหลอกนั้นไม่ใช่สิ่งที่สามารถฟันธงไปได้เลยว่าไม่ควรใช้ ห้ามใช้ ส่งผลเสียอย่างแน่นอน หากแต่พ่อแม่ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กลายมาเป็นสิ่งที่ขัดขวางพัฒนาการของลูกรัก
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th