กิน “ซาซิมิไก่” เสี่ยงอันตรายถึงกับตาบอด
เรื่องราวของเมนู “ซาซิมิไก่” เคยเป็นประเด็นที่พูดถึงกันในสังคมไทยมาหลายครั้งแล้ว ล่าสุดนี้กลับมาเป็นประเด็นให้พูดถึงกันอีก เนื่องมาจากการรีวิวของเพจหนึ่งที่ทำการรีวิวเมนูซาซิมิเนื้อไก่ ที่ต้องกินคู่กับน้ำจิ้มแบบต่าง ๆ และยืนยันว่านี่ไม่ใช่เมนูที่เป็นการกินเล่นแบบแผลง ๆ เป็นเมนูที่มีขายในร้านอาหารบางร้านในประเทศไทยจริง ๆ เราต่างก็คุ้นเคยกับการรับประทานซาซิมิที่ทำจากปลาในอาหารญี่ปุ่นมานาน และอาหารญี่ปุ่นก็เป็นร้านอาหารที่ครอบครัวไทยนิยมพากันไปรับประทาน แต่ซาซิมิที่ทำจากไก่จะรับประทานได้อย่างปลอดภัยจริงหรือ มาค้นหาคำตอบไปด้วยกันค่ะ
วัฒนธรรมรับประทานไก่ดิบ
มีวัฒนธรรมการรับประทานไก่ดิบจริงที่ประเทศญี่ปุ่น นิยมทั้งในรูปแบบซาชิมิและแบบทาทากิ ที่เป็นการย่างเนื้อสัตว์ให้ผิวด้านนอกสุกแต่ด้านในยังคงดิบอยู่ อย่างเมนู ‘โทริซาชิ’ หรือเนื้อไก่ดิบที่นำมาสไลซ์สไตล์เดียวกับปลาดิบทั้งหลาย โดยใช้เนื้อส่วนหน้าอก จากนั้นนำไปเซียร์หรือลวกประมาณ 10 วินาที พอให้เนื้อด้านนอกสุกเล็กน้อยในขณะที่ด้านในยังดิบเหมือนเดิม เสิร์ฟพร้อมกับโชยุ วาซาบิ และขิงบดเช่นเดียวกับเมนูปลาดิบที่พวกเราคุ้นตา
โดยร้านที่ขายจะต้องมีประสบการณ์ และต้องเลือกใช้ไก่จากฟาร์มไก่แบบพิเศษ ปลอดสาร ปลอดเชื้อ และได้มาตรฐาน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีชาวญี่ปุ่นที่ป่วยจากการกินไก่ดิบเป็นจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี สำหรับในไทยเอง ยังไม่พบว่ามีฟาร์มไก่ที่ได้มาตรฐานจนถึงขนาดสามารถกินดิบได้
ซาซิมิไก่ – ไก่ดิบ กินได้จริงหรือ ?
วันที่ 10 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีสื่อโซเซียลมีการเผยแพร่เมนูซาชิมิอกไก่ดิบสไตล์ญี่ปุ่น ที่มีการจำหน่ายในร้านอาหารไทยในขณะนี้ว่า ทางกรมอนามัยขอความร่วมมือประชาชนเลือกร้านอาหารที่ผ่านการปรุงสุกดีกว่า เนื่องจากในเนื้อไก่ดิบหรือไก่ดิบแช่แข็งมักมีเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลา (Salmonella) ปนเปื้อนมาด้วย เชื้อชนิดนี้เป็นต้นเหตุของการท้องร่วง อาหารเป็นพิษ หรือการติดเชื้อในลำไส้ และมักมีตัวอ่อนของพยาธิตัวจี๊ด ที่เมื่อกินเข้าไปจะกลายเป็นพยาธิตัวแก่ในกล้ามเนื้อ ส่งผลให้มีอาการคัน บวมแดง หรือบวม ๆ ยุบ ๆ และเคลื่อนที่ได้ สำหรับบางรายอาจจะร้ายแรงถึงขั้นตาบอดหรือสมองอักเสบได้
นอกจากเชื้อซัลโมเนลลาแล้ว ยังมีเชื้ออีกตัวที่น่ากลัวไม่ต่างกัน คือแคมไพโลแบคเตอร์ ที่ทำให้ท้องเสียขั้นรุนแรงได้หากกินเข้าไป รวมถึงเชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ ที่เป็นต้นเหตุของอาหารเป็นพิษ
ในส่วนของสถานประกอบกิจการเลี้ยงไก่ สามารถป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค Salmonella ได้ด้วยการตรวจสุขภาพของไก่และอาหารที่ไก่กิน รวมถึงการตรวจสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานในโรงงานและสุขาภิบาลของโรงงาน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่เกิดจาก Salmonella ไปสู่ผู้บริโภคอีกด้วย
เลือกซื้อไก่สดอย่างไรถึงจะปลอดภัย ?
ควรเลือกซื้อไก่จากแหล่งที่เชื่อถือได้ แต่ยังไม่ต้องล้าง เนื่องจากการล้างไก่สดอาจทำให้เชื้อโรคที่ปะปนอยู่บนเนื้อหรือน้ำที่ซึมออกจากเนื้อไก่ กระจายออกไปปะปนสู่ภาชนะหรือวัตถุดิบอื่น ๆ หากจะเก็บในตู้เย็น ให้ซ้อนถุงอีกชั้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่ซึมออกจากเนื้อไก่ปนเปื้อนกับอาหารอื่น แนะนำให้รีบแช่ไก่สดในตู้เย็นภายใน 1 ชั่วโมง
เมื่อจะนำไก่ดิบมาประกอบอาหารต้องล้างให้สะอาดก่อน โดยเฉพาะสิ่งสกปรกที่ติดมากับไขมัน หากมีมากควรล้างด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำสะอาด แล้วจึงนำมาเลาะเอาส่วนต่าง ๆ และกระดูกที่ไม่ต้องการออก เพื่อนำมาปรุงสุกโดยใช้อุณหภูมิสูงกว่า 75 องศาเซลเซียส ไม่น้อยกว่า 5 นาที เป็นการทำลายเชื้อโรคที่ติดมากับเนื้อไก่ดิบ หากซื้อเนื้อไก่แช่แข็งผ่านทางออนไลน์ ต้องสังเกตบรรจุภาชนะห่อหุ้มด้วยพลาสติกแช่เย็น ป้ายที่บอกวันเดือนปีที่ผลิตและวันเดือนปีที่ควรบริโภค
สำหรับการเก็บเนื้อไก่ดิบนั้น หากซื้อมาประกอบอาหารแล้วแต่ใช้ไม่หมดควรเก็บในอุณหภูมิ 0-5 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถเก็บได้นาน 3-5 วัน หรือเก็บในช่องแช่แข็งที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส ก็สามารถเก็บได้นานถึง 12 เดือน ส่วนอาหารปรุงสุกที่ปรุงไว้นานกว่า 4 ชั่วโมง ควรนำมาอุ่นร้อนก่อนทุกครั้งหากจะรับประทานในมื้อต่อไป ที่สำคัญ อย่าลืมล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหยิบจับอาหารสด เพื่อสุขอนามัยที่ดี
สรุปแล้ว เราไม่ควรกินเมนูที่ทำจากไก่ดิบโดยเฉพาะในประเทศไทย ที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุณหภูมิในบ้านเรานั้นเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้นไปอีก
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th