เคลียร์ทุกความสงสัย ตรวจอะไรบ้างตอนตั้งครรภ์
เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ที่พ่อแม่ส่วนใหญ่จะเป็นกังวลกับสุขภาพของลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ การทดสอบต่าง ๆ จะทำให้คุณสบายใจขึ้น ว่าแต่เขา “ตรวจอะไรบ้างตอนตั้งครรภ์” สิ่งที่ตรวจนั้นจะช่วยลดความประสาทเสียของพ่อแม่ได้มากน้อยแค่ไหน มันจะทำให้คุณมั่นใจได้มากขึ้นหรือไม่ว่าลูกน้อยจะเจริญเติบโตเป็นอย่างดี วันนี้คุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการตรวจ 4 แบบ ที่แพทย์มักแนะนำให้คุณเข้ารับอย่างน้อย 1 ชนิด
การอัลตร้าซาวด์: มันเอาไว้ทดสอบอะไร ?
แพทย์หลายคนก็ทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ ซึ่งภาพที่ได้รับนั้นเราเรียกกันว่า Sonogram เพื่อตรวจสอบอายุของทารกในครรภ์ เพื่อดูว่าคุณกำลังอุ้มท้องทารกมากกว่าหนึ่งคนอยู่หรือเปล่า และเป็นการตรวจหาข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นกับทารก
ตรวจเมื่อไหร่ ?
สามารถตรวจเมื่อไหร่ก็ได้ในระหว่างที่ตั้งครรภ์
ทำการตรวจอย่างไร ?
แพทย์หรือช่างเทคนิคอัลตร้าซาวด์จะทาเจลลงบนหน้าท้อง ของคุณแล้วกดหัวตรวจลงไปบริเวณนั้น คลื่นเสียงจะส่งผ่านหัวตรวจไปและสร้างภาพมดลูกของคุณบนหน้าจอ การตรวจนี้ไม่ทำให้คุณเจ็บแต่อย่างใด แต่ภาพ Sonogram อาจสร้างความสับสนให้คุณในการดู แพทย์จะคอยแนะนำคุณในสิ่งที่เห็น แพทย์หรือช่างเทคนิคอัลตร้าซาวด์จะสำรวขลูกน้อยของคุณตั้งแต่หัวจรดเท้า การตรวจร่างกายเช่นนี้เป็นไปเพื่อดูสัญญาณของกระดูกสันหลังและหัวใจที่แข็งแรง นอกจากนี้ยังตรวจสอบรก คำนวณน้ำหนักโดยประมาณของทารก และตรวจสอบตำแหน่งของทารก เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี
ถ้าผลตรวจผิดปกติ ?
หากแพทย์สงสัยว่ามีปัญหาใด ๆ หรือบางครั้งที่คุณต้องการความระมัดระวังเป็นพิเศษ คุณอาจได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ที่มีรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งมันอาจจะต้องใช้อุปกรณ์อัลตร้าซาวด์ที่ซับซ้อนมากขึ้นและจะใช้เวลานานขึ้น โดยมากมักจะนานกว่า 30 นาที
การตรวจเลือดมารดา: มันเอาไว้ทดสอบอะไร ?
การตรวจเลือดของมารดาจะสามารถแสดงให้เห็นว่า ทารกมีความเสี่ยงสูงกว่าค่าเฉลี่ยสำหรับความผิดปกติใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับสมองหรือกระดูกสันหลัง (เรียกว่าข้อบกพร่องของท่อประสาท) และตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม
ตรวจเมื่อไหร่ ?
มักจะดำเนินการตรวจใจสัปดาห์ที่ 16
ทำการตรวจอย่างไร ?
ตัวอย่างเลือดจะถูกเก็บไป และนำไปวัดระดับของสารอย่างน้อย 3 ชนิดด้วยกัน เช่น โปรตีนที่เรียกว่า Alpha-fetoprotein และฮอร์โมนอีก 2 ตัว ที่อยู่ในเลือดของคุณ
ถ้าผลตรวจผิดปกติ ?
ผู้หญิง 9 ใน 10 คนได้รับผลปกติ และถอนหายใจด้วยความโล่งอก แต่ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่มีผลลัพธ์ผิดปกติ อย่าเพิ่งตกใจไป ยังมีโอกาสที่เด็กจะปกติดี เนื่องจากมันเป็นตรวจแบบคัดกรอง เด็กจำนวนมากจึงถูกแสดงผลว่าความเสี่ยงมากกว่าที่จะมีปัญหานั้นจริง ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับผู้หญิงทุก 100 คนที่มีผลลัพธ์ที่ผิดปกติ มีเพียง 2 หรือ 3 คนเท่านั้น ที่มีลูกที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด ในกรณีส่วนมาก ผลการทดสอบที่ผิดปกติเกิดขึ้นเพราะลูกของคุณมีอายุมากกว่าหรือน้อยกว่า 2-3 สัปดาห์จากที่ประเมินไว้ ดังนั้น หากคุณได้ผลลัพธ์ที่ผิดปกติ ขั้นตอนแรกที่แพทย์ของคุณจะทำคือให้อัลตร้าซาวด์เพื่อคำนวณอายุของทารก อัลตร้าซาวด์จะแสดงว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ลูกแฝดอยู่หรือไม่ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของผลการตรวจเลือดที่ผิดปกติ หากอายุของทารกหรือการตั้งครรภ์แฝดคือสาเหตุผลการตรวจที่ผิดปกติ คุณอาจไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบเพิ่มเติม
การเจาะน้ำคร่ำ: มันเอาไว้ทดสอบอะไร ?
หากผลการตรวจเลือดของคุณผิดปกติและการอัลตร้าซาวด์ไม่แสดงสาเหตุที่แน่ชัด แพทย์ของคุณอาจแนะนำให้ทำการตรวจน้ำคร่ำเพื่อหาข้อบกพร่องที่เกิด ขึ้น นอกจากนี้ ความเสี่ยงของการมีทารกที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดจะเพิ่มขึ้นตามอายุของคุณ แพทย์อาจต้องการเจาะน้ำคร่ำเพื่อเป็นการป้องกันล่วงหน้า ในระหว่าง 15-18 สัปดาห์ หากคุณมีอายุมากกว่า 35 ปี กาเจาะน้ำคร่ำนั้นให้คความแม่นยำในการวินิจฉัยข้อบกพร่องของโครโมโซม เช่น ดาวน์ซินโดรม ความบกพร่องทางพันธุกรรมต่าง ๆ เช่น กล้ามเนื้อเสื่อม ซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) และความผิดปกติบางอย่าง เช่น ข้อบกพร่องท่อประสาท หรือ ความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง (Spina bifida)
ทำการตรวจอย่างไร ?
น้ำคร่ำปริมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะจะถูกดึงออกมาจากหน้าท้องของคุณด้วยเข็มเล่มบาง ผู้หญิงบางคนบอกว่าขั้นตอนนี้ไม่ได้เจ็บเลย บางคนรู้สึกเป็นตะคริวเมื่อเข็มเข้าสู่มดลูก หรือรู้สึกถึงความดันในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ของเหลวถูกดึงออกมา ผู้หญิงร้อยละ 1-2 มีอาการเป็นตะคริวมีน้ำคร่ำรั่ว หรือสังเกตเห็นการรั่วหลังจากทำหัตถการ ซึ่งคุณควรรายงานแพทย์ และแพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้คุณพักผ่อนเป็นเวลาหลายชั่วโมงหลังการทดสอบ
อันตรายหรือไม่ ?
การเจาะน้ำคร่ำมีความเสี่ยงเล็กน้อยต่อการแท้งบุตร ดังนั้น จึงเป็นทางเลือกของคุณว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนหรือไม่ อัตราการแท้งบุตรหลังจากการเจาะน้ำคร่ำอยู่ระหว่าง 1 ใน 200 และ 1 ใน 400 และมีความเสี่ยงสูงกว่าสามเท่าหากดำเนินการในไตรมาสแรก นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่ำต่อการติดเชื้อในมดลูก (น้อยกว่า 1 ใน 1,000) ซึ่งอาจนำไปสู่การแท้งบุตร
ถ้าผลตรวจผิดปกติ ?
ผลลัพธ์อาจใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลานานในการรอถ้าคุณกังวลกับผล อย่างไรก็ตามการตรวจน้ำคร่ำให้โอกาสคุณในการเตรียมตัวล่วงหน้าหากมีความผิดปกติแต่กำเนิด และในบางกรณีสามารถรักษาปัญหากับแพทย์ได้ในขณะที่ทารกยังอยู่ในครรภ์
การดูดตัวอย่างของรกเด็ก (Chorionic villus sampling): มันเอาไว้ทดสอบอะไร ?
การทดสอบ CVS ใช้สำหรับความผิดปกติแต่กำเนิดเช่นเดียวกับการเจาะน้ำคร่ำ ยกเว้นข้อบกพร่องของท่อประสาท ทั้งการเจาะน้ำคร่ำและ CVS มีความแม่นยำมากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ในการวินิจฉัยความผิดปกติแต่กำเนิดของโครโมโซมและปัญหาทางพันธุกรรมที่เฉพาะเจาะจง ประโยชน์ของ CVS คือผลลัพธ์ออกมาเร็วกว่าการเจาะน้ำคร่ำไปตรวจมาก แต่ข้อเสียของมันคือมันมีแนวโน้มที่จะให้ผลลัพธ์ที่สรุปไม่ได้เล็กน้อย ซึ่งหมายความว่าคุณอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจน้ำคร่ำอยู่ดี หากคุณมีลูกที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด มีการตั้งครรภ์ครั้งที่ผ่านมาที่ได้รับผลกระทบจากความผิดปกติแต่กำเนิด หรือมีสมาชิกในครอบครัวที่มีความผิดปกติเหล่านี้และมีความกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับมัน CVS อาจเป็นสิ่งที่คุณควรพิจารณา
ตรวจเมื่อไหร่ ?
มักจะดำเนินการตรวจใจสัปดาห์ที่ 10-12
ทำการตรวจอย่างไร ?
ในการทำ CVS แพทย์จะใช้ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของเซลล์ Chorionic villi จากเนื้อเยื่อรกที่เกาะกับผนังมดลูกไปตรวจ เซลล์จะถูกรวบรวมโดยการตรวจผ่านช่องคลอด (Transcervical) ซึ่งใช้ท่อดูดเอาเซลล์รกมาตรวจผ่านท่างช่องคลอดและปากมดลูกของคุณ เป็นวิธีการที่ใช้บ่อย หรือโดยการเจาะจากหน้าท้อง (Transabdominal) ซึ่งมีการสอดเข็มเข้าไปในช่องท้องของคุณและดูดเอาเซลล์ไปตรวจ วิธีนี้จะสามารถแสดงความผิดปกติแต่กำเนิดได้เป็นส่วนใหญ่
เช่นเดียวกับการเจาะเลือด ผู้หญิงบางคนบอกว่า CVS ไม่เจ็บปวด แต่บางคนก็รู้สึกเป็นตะคริวเมื่อกำลังนำตัวอย่างออกมา เมื่อได้พักหลังขั้นตอนการเก็บตัวอย่าง ผู้หญิง 1 ใน 3 คน มักมีเลือดออกหรือเป็นจุด ๆ ซึ่งมักจะหยุดภายในไม่กี่วัน คุณควรรายงานอาการเหล่านี้ต่อแพทย์ ผลทดสอบจะออกภายในเวลา 1-2 สัปดาห์
อันตรายหรือไม่ ?
ผู้หญิงระหว่าง 1 ใน 100 และ 1 ใน 200 คน แท้งบุตรหลังจากการทำ CVS ดังนั้น คุณอาจต้องการพิจารณาตัวเลือกทั้งหมดก่อนตัดสินใจ
หวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะได้รับรู้ถึงขั้นตอนการตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์แล้วนะคะ เรียนรู้เอาไว้ก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกังวลมากจนเกินเหตุ เพราะความเครียดนั้นไม่ส่งผลดีกับการตั้งครรภ์เท่าไหร่ค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th