Site icon Motherhood.co.th Blog

6 วิธี ที่คุณจะปรับแนวทางสอนลูกเมื่อ “พ่อแม่เลิกกัน”

เมื่อพ่อแม่เลิกกัน

ถึงพวกคุณจะเลิกกัน แต่คุณสามารถวางแผนการเลี้ยงลูกด้วยกันได้นะ

6 วิธี ที่คุณจะปรับแนวทางสอนลูกเมื่อ “พ่อแม่เลิกกัน”

เมื่อ “พ่อแม่เลิกกัน” มีสิ่งหนึ่งที่คุณควรจะทำ นั่นคือการวางกลยุทธ์ว่าคุณจะสามารถสร้างประสบการณ์การเลี้ยงดูร่วมกันได้อย่างไร ให้มันเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ๆ วันนี้ Motherhood จะนำเอาคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมาฝากกันค่ะ

แม้ความสัมพันธ์จะจบลง แต่หน้าที่ของพ่อแม่ยังต้องดำเนินต่อไป

1. สื่อสารกันเสมอ

อย่าใช้ลูกของคุณเป็นผู้ส่งสาร เพราะอาจสร้างแรงกดดันให้กับวัยรุ่นโดยไม่จำเป็น และมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด นึกถึงเกมที่ให้ผู้เล่นกระซิบข้อความต่อกันเป็นทอด ๆ นั่นสิ ในไม่ช้าข้อความก็จะผิดเพี้ยนไป นอกจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวัยรุ่นลืมเอาข้อความนั้นไปบอกต่อ หรือจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณคนใดคนหนึ่งมีคำถาม เช่น ‘เขาหมายความว่ายังไง’ หรือ ‘ทำไมเธอถึงต้องการแบบนั้น ?’ เป็นคำถามที่วัยรุ่นไม่สามารถตอบได้ด้วยตัวเอง พ่อแม่จึงต้องสื่อสารกันโดยตรง ไม่ใช่ผ่านวัยรุ่น

2. ใช้แอพปฏิทินและตั้งการแจ้งเตือน

ความผิดพลาดเกิดขึ้นในการจัดตารางเวลา คุณอาจจะไปรับเขาสาย หรือลืมไปว่าวันนี้เป็น “คิวของคุณ” หากทุกคนรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันก็วางแผนได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสน้อยที่จะมีข้อผิดพลาดที่ทำให้วัยรุ่นรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นกระเป๋าเดินทางที่ผู้โดยสารลืมหยิบมันไปด้วย ให้ลูกของคุณได้มีการเข้าถึงแอพเหล่านั้นไปพร้อม ๆ กันกับคุณ

3. ทำให้บ้านทั้งสองแห่งปลอดภัย

ไม่มีวันที่คุณสองคนจะปกครองลูกด้วยวิธีการเดียวกัน แต่เพื่อประโยชน์ของเด็ก ๆ จะเป็นการดีที่สุดหากคุณเขาสามารถตกลงกันในประเด็นใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เด็ก ๆ ไว้วางใจพ่อแม่เพื่อความปลอดภัยของพวกเขาเอง หากวัยรุ่นเชื่อว่าพ่อแม่คนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนไม่กังวลเรื่องความปลอดภัยของพวกเขา พวกเขาก็จะรู้สึกกลัวได้อย่างจริงจัง

หากพวกคุณมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แนะนำให้มีการสนทนาที่รวมถึงตัวลูกของคุณ รวมทั้งทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รับทราบความแตกต่างเหล่านี้ แต่พยายามหาทางประนีประนอม บางครั้งพ่อแม่ที่หย่าร้างหรือแยกทางกันมักจะอยากเป็นพ่อแม่ที่ดี บางทีก็เพื่อทดแทนอีกฝ่ายที่พวกเขาคิดว่าเป็นพ่อแม่ที่ ใจร้าย สิ่งนี้ไม่ได้ผล นอกจากนี้ยังสร้างความสับสนให้กับเด็ก ๆ อย่างมากอีกด้วย และความปลอดภัยก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ ‘ความดี’ นั้น

อย่าทำให้เด็กรู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นพ่อแม่ที่ใจร้าย

4. ผลัดกันอย่างยุติธรรม

นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะจำไว้ว่าพ่อแม่เลือกที่จะหย่าร้างกันเอง ไม่ได้มาจากตัวลูก นอกเหนือจากความยุติธรรมเกี่ยวกับการใช้เวลาของลูกแล้ว สิ่งสำคัญคืออย่าพูดไม่ดีเกี่ยวกับสามีหรือภรรยาเก่ากับลูกของคุณ มันเป็นเรื่องน่าดึงดูดที่คุณอยากจะระบายให้เด็กฟังเกี่ยวกับสิ่งเลวร้ายที่แฟนเก่าคุณได้ทำเอาไว้ ไม่ว่าเขาหรือเธอจะน่ารำคาญ ไม่มีความเกรงใจ หรืองี่เง่าสักแค่ไหน จำไว้ว่าอย่าพูดให้เด็กฟัง มันเป็นภาระทางความรู้สึกที่แย่มาก ๆ ที่คุณจะเอาไปใส่ให้เด็ก จำไว้ว่าลูกของคุณก็มีอีกครึ่งหนึ่งของเขาหรือเธออยู่ หากคุณพูดเรื่องไม่ดีเกี่ยวกับอีกฝ่าย คุณกำลังประณามลูกครึ่งหนึ่ง ถ้าคุณดูถูกแฟนเก่าแสดงว่าคุณกำลังสื่อสารกับลูกว่าครึ่งหนึ่งของพวกเขานั้นไร้ค่า

หากคุณไปกันไม่ได้ ให้ปรับสถานการณ์ใหม่โดยคิดเสียว่าเขาหรือเธอเป็นเพื่อนร่วมงานที่คุณไม่ชอบ คุณอาจไม่มีทางที่จะเป็นเพื่อนกันด้วยดี แต่คุณจะต้องเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาร่วมกัน พบปะตัวต่อตัวเมื่อพวกคุณต้องทำการตัดสินใจครั้งใหญ่

5. โฟกัสที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ

คุณสามารถควบคุมความสัมพันธ์ที่คุณมีกับลูกได้มากมาย ความใกล้ชิดไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนชั่วโมงที่คุณใช้กับเขาเท่านั้น หาตารางเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคนและมั่นใจว่าคุณจะสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูก ๆ ของคุณได้

6. พิจารณาการพบปะรายเดือน

ทำให้การพบปะเหล่านี้เป็นไปอย่างราบรื่น การทำสิ่งนี้ให้ดีเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็ก ๆ ว่าคนที่โต ๆ กันแล้วต้องทำตัวอย่างไร หากคุณกำลังดิ้นรนกับประสบการณ์การเลี้ยงดูร่วมกันของคุณ ให้ลองไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม

ไม่ว่า ณ วันนี้คุณจะตัดสินใจที่จะจบความสัมพันธ์ลงไปอย่างไร คนที่จะต้องรับผลมากที่สุดก็คือลูกนะคะ ดังนั้น ในเรื่องของแนวทางการเลี้ยงดู มันเป็นหน้าที่ของพวกคุณที่จะต้องวางแผนออกมาให้ดี แม้ว่าคุณทั้งคู่จะจบกันไปแล้ว แต่คุณยังมีหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกันในการเลี้ยงเขาให้ดีที่สุดค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th