Site icon Motherhood.co.th Blog

อาการ “ลองโควิด” คืออะไร ? ทำไมพบในผู้หญิงมากกว่า ?

อาการลองโควิด

มาทำความรู้จักกับอาการลองโควิด มันเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าจริงเหรอ ?

อาการ “ลองโควิด” คืออะไร ? ทำไมพบในผู้หญิงมากกว่า ?

สำหรับคนที่ล้มป่วยด้วยโรคโควิด-19 บางคนมีอาการป่วยเรื้อรังในระยะยาว แม้ว่าร่างกายจะหมดเชื้อแล้ว หรือ “ลองโควิด” ส่วนมากจะพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยหญิงในวัยสาวและวัยกลางคน และยังพบได้มากกว่ากลุ่มผู้ป่วยชายถึง 4 เท่า ในขณะที่ผู้ป่วยชายวัย 50 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะป่วยแบบมีอาการรุนแรงได้มากกว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? วันนี้ Motherhood นำคำตอบมาฝากคุณค่ะ

มักพบอาการเรื้อรังระยาวในผู้หญิงวันกลางคนได้มากกว่า

อาการลองโควิดคืออะไร ?

คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะรู้สึกดีขึ้นภายในไม่กี่วันหรือสัปดาห์ แต่บางคนกลับมีอาการเรื้อรังไปนานกว่านั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติในสหราชอาณาจักรระบุว่า คนราว 1 ใน 5 มีอาการลองโควิดหลังจากติดเชื้อครั้งแรกไปแล้ว 5 สัปดาห์

ซึ่งอาการที่พบนั้นมีหลากหลายมาก ตั้งแต่ อ่อนเพลีย ไอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อหรือตามข้อต่อ เวียนศีรษะ ใจสั่น เจ็บหน้าอก และหายใจลำบาก แบบสำรวจยังบ่งชี้ว่า คนอายุระหว่าง 35-49 ปี มีแนวโน้มมีอาการนี้มากที่สุด ตามมาด้วยคนอายุระหว่าง 50-69 ปี โดยผู้หญิงมีแนวโน้มจะมีอาการนี้มากกว่า

ผู้หญิงมีอาการมากกว่าจริงหรือ ?

รายงานจากสถาบันวิจัยและสถานพยาบาลในหลายประเทศของยุโรปพบว่า อายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่มีอาการลองโควิดอยู่ในวัยราว 40 ปี โดยพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีมากถึงเกือบ 70% ของผู้ที่มีอาการลองโควิดทั้งหมด

แพทย์หญิงเมลิซซา ไฮต์แมน ผู้บริหารคลินิกแห่งหนึ่งของโรงพยาบาล UCLH ในกรุงลอนดอน ซึ่งติดตามดูแลคนไข้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้ว บอกว่า “ผู้หญิงที่มีอาการลองโควิดส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีงานประจำทำและมีลูกที่ยังเล็กอยู่ ขณะนี้ 1 ใน 4 ของพวกเธอไม่สามารถกลับไปทำงานได้ เพราะยังรู้สึกอ่อนเพลียและยังป่วยกระเสาะกระแสะอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งนับว่าเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งเลยทีเดียว”

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ผู้หญิงมักจะล้มป่วยด้วยกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome – CFS) มากกว่าผู้ชายถึง 4 เท่า หลังหายจากโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียจากโรคไลม์ (Lyme disease) ซึ่งพบในผู้หญิงได้มากกว่า

มีสมมติฐานว่าผู้ป่วยกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังเป็นผู้หญิงมากกว่า

ภาวะชดเชยการตั้งครรภ์มีความเกี่ยวข้องอย่างไร ?

เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แน่นอนว่าต้องมีผู้ป่วยลองโควิดจำนวนมากเกิดขึ้นในภายหลัง ทำให้เกิดความสนใจในการศึกษากลุ่มอาการ CFS ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง

แนวคิดหนึ่งที่เรียกว่า Pregnancy Compensation Hypothesis หรือภาวะชดเชยการตั้งครรภ์ เป็นสมมติฐานที่อาจนำมาอธิบายได้ว่าพันธุกรรมของสตรีที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อการตั้งครรภ์นั้น มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของภูมิคุ้มกันและอาการป่วยเรื้อรังแม้หายจากการติดเชื้อแล้วได้อย่างไร

ศาสตราจารย์ อะกิโกะ อิวาซากิ จากคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ เป็นผู้ค้นพบว่าเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T- cell) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิคุ้มกันร่างกาย เมื่อเกิดการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในระยะแรก เซลล์ชนิดนี้จะทำงานอย่างแข็งขันในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

“ผู้หญิงมีโครโมโซม X สองชุด มียีนหลายตัวที่กำกับควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอยู่บนโครโมโซม X ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งกว่าผู้ชาย” ศ. อิวาซากิกล่าว

นอกจากนี้ ภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้หญิงจะมีปฏิกิริยาต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมสูงกว่าผู้ชายเป็นพิเศษ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของสตรีมีวิวัฒนาการมาเพื่อปกป้องตัวอ่อนในครรภ์ที่บอบบาง

ถึงแม้ว่าภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งจะทำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์มีอัตราการตายจากโรคโควิดชนิดรุนแรงต่ำกว่าชายมาก แต่การที่มันสามารถตอบสนองต่อเชื้อโรคได้ว่องไวเกินคาด ทำให้ซากชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสโควิดที่ยังตกค้างอยู่ตามแหล่งกักเก็บในอวัยวะต่าง ๆ หลังสิ้นสุดการติดเชื้อ กลายมาเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการอักเสบขึ้นมาใหม่ได้เช่นกัน

อาการจะคงอยู่นานหลายเดือนไปจนถึงหนึ่งปี แม้เชื้อจะหมดแล้วก็ตาม

เมื่อภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง

ภาวะอักเสบจากโปรตีนไซโคไคน์ที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค เป็นสาเหตุของอาการลองโควิดที่ทำให้คนไข้รู้สึกอ่อนเพลีย มีไข้ ไอ ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อแบบเรื้อรัง ซึ่งกลุ่มอาการนี้อาจคงอยู่นานหลายเดือนไปจนถึงหนึ่งปีหลังไวรัสโควิดหมดไปจากร่างกาย

นอกจากสมมติฐานเรื่องการตั้งครรภ์ทำให้ผู้หญิงมีระบบภูมิคุ้มกันที่ตื่นตัวอย่างสูง จนกลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการลองโควิดแล้ว ยีนของผู้หญิงบางตัวและฮอร์โมนเอสโตรเจนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานตอบสนองมากเกินไป จนทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (Autoimmune disease) ได้เช่นกัน

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าลองโควิดเป็นรูปแบบหนึ่งของโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง ซึ่งพบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย ทำให้ผู้ป่วยลองโควิดหญิงหลายคนเริ่มมีอาการแพ้สิ่งต่าง ๆ ที่พวกเธอไม่เคยแพ้มาก่อน รวมทั้งมีอาการปวดข้อคล้ายโรครูมาตอยด์ ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันต่อต้านและทำลายเซลล์ร่างกายตนเอง ในทางกลับกันสำหรับคนไข้เพศชาย ฮอร์โมนเพศชายอย่างเทสโทสเตอโรนกลับจะมีส่วนช่วยได้มาก เพราะมันจะไปกดการทำงานของบีเซลล์ (B-cell) ในระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นตัวผลิตสารออโตแอนติบอดี (Autoantibody) ที่ต่อต้านและเข้าทำลายเซลล์ของตนเอง

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th