ทำยังไงดี ? “ลูกถูกสุนัขกัด”
ถึงตอนนี้จะไม่ใช่หน้าร้อน แต่คุณก็ยังต้องระวังโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ดีนะคะ หาก “ลูกถูกสุนัขกัด” พ่อแม่จะทำอย่างไรได้บ้าง ? ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลหรือไม่ ? แล้วจะต้องจัดการอย่างไรกับสุนัขที่มากัดลูกเรา สังเกตอาการของมันอย่างไรให้แน่ใจว่าเป็นสุนัขที่ปลอดภัย ไม่ใช่สุนัขที่อาจมีโรคอยู่ วันนี้เรามีคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกันค่ะ
โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร ?
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคร้ายแรงที่เกิดจากไวรัส มันส่งผลต่อเส้นประสาทและสมอง ไวรัสมักติดต่อโดยการกัดจากสัตว์ที่ติดเชื้อ โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้หากผู้ถูกกัดได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว หากผู้ถูกกัดไม่ได้รับการรักษาและอาการของโรคเริ่มพัฒนาขึ้น ผู้ป่วยจะเสียชีวิตได้เกือบทุกครั้ง
อะไรคือสัญญาณและอาการของโรคพิษสุนัขบ้า ?
อาการแรกของโรคพิษสุนัขบ้าสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 2-3 วันจนถึงมากกว่า 1 ปีหลังจากการถูกกัด ช่วงแรกจะรู้สึกเสียวซ่า แสบ หรือคันบริเวณที่ถูกกัด ผู้ถูกกัดอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และเหนื่อยล้า
หลังจากผ่านไป 2-3 วัน อาการทางระบบประสาทจะเกิดขึ้น ได้แก่
- หงุดหงิดหรือก้าวร้าว
- มีการเคลื่อนไหวหรือความปั่นป่วนที่มากเกินไป
- เกิดความสับสน ความคิดที่แปลกประหลาด หรือภาพหลอน
- กล้ามเนื้อกระตุกและท่าทางที่ผิดปกติ
- อาการชัก
- ความอ่อนแอหรืออัมพาต (ไม่สามารถขยับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายได้)
- ไวต่อแสง เสียง หรือการสัมผัสมาก
คนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าสามารถผลิตน้ำลายได้มาก และการที่กล้ามเนื้อในลำคอกระตุกอาจทำให้กลืนลำบาก สิ่งนี้ทำให้เกิดเอฟเฟกต์ ‘ฟองที่ปาก’ ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ยังนำไปสู่ความกลัวที่จะสำลักหรืออาการที่ดูเหมือน ‘กลัวน้ำ’ ซึ่งเป็นสัญญาณที่รู้จักกันดีอีกประการหนึ่งสำหรับโรคพิษสุนัขบ้า
อะไรเป็นสาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า ?
โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากไวรัสพิษสุนัขบ้า สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไวรัสอยู่ในน้ำลาย ไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังหรือตา จมูก ปาก และเดินทางผ่านเส้นประสาทไปยังสมอง มันสามารถเพิ่มทวีคูณและทำให้เกิดการอักเสบและความเสียหาย
โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อได้หรือไม่ ?
โรคพิษสุนัขบ้าไม่ติดต่อจากคนสู่คน ไวรัสมักแพร่กระจายผ่านการกัดจากสัตว์ที่ติดเชื้อ แต่ก็สามารถแพร่กระจายได้เช่นกัน หากน้ำลายของสัตว์เข้าตา จมูก ปาก หรือแผลเปิดของบุคคลโดยตรง เช่น รอยขีดข่วนหรือรอยถลอก
การวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าทำอย่างไร ?
ไม่มีทางรู้ได้ทันทีว่าสัตว์ที่มากัดนั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ เมื่อบุคคลถูกกัดโดยหรือสัมผัสกับสัตว์ที่อาจป่วย แพทย์จะไม่รอการวินิจฉัย พวกเขาจะรักษาทันที การทดสอบในห้องปฏิบัติการสามารถตรวจหาการติดเชื้อได้ แต่ผลลัพธ์มักจะตามมาในภายหลังเมื่อเป็นโรค ซึ่งจะสายเกินไปที่จะรักษา
สามารถจับสัตว์ที่กัดมาทดสอบเพื่อดูว่าไวรัสอยู่ในสมองของมันหรือไม่ แต่จะต้องทำให้มันสลบไปเสียก่อน หากเป็นสัตว์เลี้ยงที่สุขภาพแข็งแรงดี เช่น สุนัขหรือแมว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ดูสัตว์ดังกล่าวเป็นเวลา 10 วันเพื่อดูว่าป่วยหรือไม่ หากเป็นกระต่าย หนู หรือสัตว์ขนาดเล็กอื่น ๆ ที่ปกติไม่แพร่กระจายโรคพิษสุนัขบ้า แพทย์สามารถตรวจสอบกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นเพื่อตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป
หากลูกถูกสุนัขกัดต้องทำอย่างไร ?
1. ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่บ้าน โดยรีบล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด จากนั้นฟอกสบู่ แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดให้มากที่สุด จากนั้นจึงเช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาโพวิโดนไอโอดีน
2. หากสัตว์ที่กัดเป็นสุนัขหรือแมวที่เลี้ยงเองอย่างดี ไม่ไปคลุกคลีกับสัตว์อื่นนอกบ้าน รับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเป็นประจำ และเป็นการกัดที่มีมูลเหตุจูงใจจัดเจน เช่น เด็กไปแกล้งดึงหางหรือยั่วโมโห โดยไม่มีอาการผิดปกติเหมือนติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ก็สามารถเฝ้าสังเกตอาการเป็นเวลา 10 วันได้เลย
3. หากไม่แน่ใจว่าสัตว์ที่กัดอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ หรือถูกสุนัขจรจัดกัด ก็ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อฉีดวีคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าภายในวันนั้นทันที
4. ควรไปพบแพทย์เพื่อพิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ซึ่งจะพิจารณากันตามลักษณะของแผลร่วมกับประวัติการได้รับวัคซีนบาดทะยักในอดีต สำหรับเด็กที่เข้ารับวัคซีนบาดทะยักตามวัยอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำ แนะนำให้พกสมุดคู่มือฉีดวัคซีนของลูกติดไปด้วย
5. แพทย์อาจสั่งให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแผล และให้ยาแก้ปวดตามอาการ
6. หากพบว่ามีอาการแผลบวม แดง ร้อน ปวดแผลมาก ชาแผล หรือคันรอบ ๆ แผล รวมทั้งมีไข้ ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะเป็นสัญญาณว่าจะติดเชื้อ
ป้องกันการสัมผัสกับโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร ?
เพื่อลดโอกาสในการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า คุณควรปฏิบัติดังนี้
- ฉีดวัคซีนสัตว์เลี้ยงของคุณ
- รายงานเกี่ยวกับสัตว์จรจัดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ของคุณหรือเจ้าหน้าที่ควบคุมสัตว์
- เตือนเด็ก ๆ ว่าอย่าแตะต้องหรือให้อาหารแมวจรจัดหรือสุนัขจรจัดในละแวกบ้านหรือที่อื่น
- สอนเด็ก ๆ ให้อยู่ห่างจากสัตว์ป่า เช่น ค้างคาว หรือสุนัขจิ้งจอก
ควรรู้อะไรอีกบ้าง ?
- หากคุณรู้จักเจ้าของสัตว์ที่กัดลูกของคุณ ให้หาข้อมูลทั้งหมดที่คุณทำได้ รวมถึงสถานะการฉีดวัคซีน ชื่อและที่อยู่ของเจ้าของ แจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสัตว์ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
- หากลูกของคุณสัมผัสกับค้างคาวแม้ว่าจะไม่ได้ถูกกัดก็ตาม ให้รีบติดต่อแพทย์
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th