Site icon Motherhood.co.th Blog

วัณโรคในเด็ก (Tuberculosis in Children)

เป็นวัณโรคในเด็ก

วัณโรคในเด็กยังเป็นโรคที่น่ากลัวอยู่มั้ย ?

วัณโรคในเด็ก (Tuberculosis in Children)

ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลกจากการจัดอับดับโดยองค์การอนามัยโลก ในปี พ.ศ. 2559 แต่ “วัณโรคในเด็ก” นั้น วินิจฉัยได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะโอกาสจะตรวจพบเชื้อวัณโรคมีน้อย แล้วเราจะป้องกันหรือรักษาให้ลูกได้อย่างไร ติดตามได้ในบทความวันนี้ค่ะ

วัณโรคมีการติดต่ออย่างไร ?

วัณโรคเป็นโรคที่ติดต่อจากคนสู่คนโดยการแพร่กระจายไปในอากาศ ไม่ได้ติดต่อทางการสัมผัส ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยวัณโรค ไอ จาม ตะโกน ทำให้เกิดละอองฝอยเล็ก ๆ แพร่กระจายอยู่ในอากาศ เมื่อสูดหายใจเข้าไป ละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคอยู่ก็จะเข้าไปอยู่ในถุงลมได้ อย่างไรก็ตาม การแพร่เชื้อวัณโรคจะลดลงมาก เมื่อผู้ป่วยวัณโรคได้รับยาต้านวัณโรคที่มีประสิทธิภาพนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ลูกเราเป็นวัณโรคอยู่หรือเปล่า ?

เด็กสามารถป่วยเป็นวัณโรคได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ อาการของวัณโรคในเด็กแสดงได้หลายรูปแบบ ที่พบได้บ่อยคือ ไข้เรื้อรัง เบื่ออาหาร ไม่อยากเล่น น้ำหนักลด ซูบซีด ไอเรื้อรัง เด็กที่ป่วยเป็นวัณโรคมักจะมีอาการร่วมกันหลายอย่าง ไม่ได้มีแค่อาการไออย่างเดียว หรือในเด็กเล็กอาจจะไม่มีอาการไอเลยก็ได้

อาการไอมักพบได้บ่อยในผู้ป่วยวัณโรคทั้งเด็กและผู้ใหญ่

อาการและอาการแสดงที่พบบ่อยของวัณโรคในเด็ก

1. วัณโรคปอด มักเริ่มด้วยอาการทั่วไป เช่น มีไข้ต่ำ ไข้เรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ส่วนของอาการเฉพาะที่ เช่น ไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอก หอบ พบได้ประมาณร้อยละ 50

2. วัณโรคนอกปอด ส่วนใหญ่ก็จะมีอาการของวัณโรคปอดร่วมด้วย

การวินิจฉัยโรค

วัณโรคในเด็กนั้นวินิจฉัยได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะโอกาสจะตรวจพบเชื้อวัณโรคมีน้อย ดังนั้น การวินิจฉัยส่วนใหญ่จึงต้องใช้อาการทางคลินิก การติดตามผลการรักษาก็ต้องใช้อาการและอาการแสดงเป็นเครื่องบ่งชี้ ในเด็กทารกเมื่อได้รับเชื้อวัณโรคแล้วจะมีโอกาสเป็นวัณโรคชนิดแพร่กระจายได้มาก จึงต้องให้การรักษาทันที

วัณโรคในเด็กมักไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

เนื่องจากจำนวนเชื้อวัณโรคที่ทำให้เกิดโรคในเด็กมีจำนวนน้อย จึงทำให้วัณโรคเด็กไม่เป็นปัญหาในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และไม่มีผลกระทบต่อระบาดวิทยาของวัณโรคในภาพรวม เพราะเด็กจะได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่เสมอ

1. การวินิจฉัยทางคลินิก 

2. การวินิจฉัยยืนยันทางห้องปฏิบัติการ

ถ้ามีอาการแสดงเข้าได้กับวัณโรค ร่วมกับตรวจได้เชื้อวัณโรคจากการย้อมหรือเพาะเชื้อจากเสมหะ น้ำเยื่อหุ้มปอด น้ำไขสันหลัง น้ำย่อยจากกระเพาะ จะได้เชื้อวัณโรคประมาณร้อยละ 10-20 เท่านั้น สำหรับการตรวจชิ้นเนื้อทางกล้องจุลทรรศน์จะใช้ในรายที่การวินิจฉัยไม่ชัดเจน เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลืองบางราย วัณโรคเยื่อหุ้มปอดบางราย รวมทั้งวัณโรคปอดบางราย

การรักษาวัณโรคในเด็ก

หากพบว่าเด็กป่วยเป็นวัณโรคก็สามารถรักษาให้หายได้ โดยจะต้องให้ยาตั้งแต่ให้การวินิจฉัยทางคลินิกเบื้องต้น ยารักษาวัณโรคขั้นต้นนั้นเป็นยารับประทาน การรับประทานยารักษาวัณโรคต้องรับประทานยาหลายตัวและต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป

ผลการรักษา

อาการต่าง ๆ จะดีขึ้นในเวลา 1-2 สัปดาห์ ร้อยละ 80 อาการดีขึ้นชัดเจนภายใน 3 เดือน และร้อยละ 90 อาการดีมากภายใน 4 เดือน สำหรับภาพรังสีปอดอาจใช้เวลา 10-12 เดือนจึงจะหายสนิท เมื่อรักษาครบ 6 เดือนแล้ว ถ้ายังคงเห็นรอยโรคในภาพรังสีก็ไม่จำเป็นต้องให้ยานานกว่านั้น

อาการข้างเคียงของยาพบน้อยมาก อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน คัน นอนไม่หลับ ส่วนใหญ่จะเป็นชั่วคราวแล้วจะค่อย ๆ หายไป ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น เป็นไข้ ปวดข้อ ดีซ่าน อาจต้องหยุดยาแล้วให้รักษาด้วยสเตียรอยด์แทนสักพัก เมื่ออาการหายไปจึงกลับมาให้ยารักษาวัณโรคจากขนานน้อย ๆ ก่อน

ทำอย่างไรหากมีคนในบ้านเป็นวัณโรค ?

เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี และเด็กที่ย่างเข้าวัยรุ่นมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรค เมื่อมีคนในบ้านเป็นวัณโรคแม้ว่าจะไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกันก็ตาม อายุเด็กยิ่งน้อย เช่น วัยทารก ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าเด็กโต แต่วัณโรคมีระยะฟักตัวนานประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ดังนั้น แพทย์สามารถให้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กป่วยเป็นวัณโรคได้

แนะนำให้พาเด็กทุกคนที่สัมผัสโรคหรืออยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรคมาพบแพทย์แม้ว่าเด็กจะมีสุขภาพแข็งแรงดีก็ตาม แพทย์จะได้ตรวจประเมินและให้ยาเพื่อป้องกันการเป็นวัณโรคต่อไป

ปกติทารกแรกคลอดจะได้รับวัคซีนบีซีจีที่ป้องกันวัณโรคอยู่แล้ว

สามารถป้องกันวัณโรคได้หรือไม่ ?

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันวัณโรคคือ วัคซีนบีซีจี (BCG) ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันวัณโรคได้ร้อยละ 50-80 ในประเทศไทยเด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนบีซีจีเมื่อแรกคลอด อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่สำคัญที่สุดที่จะไม่ให้เด็กเป็นวัณโรคคือการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและทำการรักษาเพื่อลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น การแพร่เชื้อจะลดลงอย่างมากหลังได้รับยาต้านวัณโรคสม่ำเสมอนาน 2 สัปดาห์

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th