ทำความรู้จักกับ “สุนัขช่วยเหลือคนพิการ” เพื่อน 4 ขาผู้คอยช่วยเหลือ
วันนี้เป็นวัน “สุนัขช่วยเหลือคนพิการ” โลกค่ะ ซึ่งจะตรงกับวันพุธสุดท้ายของเดือนเมษายนในทุก ๆ ปี เด็กผู้พิการหลายคนทั่วโลกก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน 4 ขาที่น่ารักเหล่านี้ Motherhood จึงอยากชวนให้ผู้อ่านมาทำความรู้จักว่าสุนัขช่วยเหลือมีหน้าที่อะไรบ้าง ได้รับการฝึกฝนมาอย่างไร คนทั่ว ๆ ไปจะต้องปฏิบัติต่อพวกมันอย่างไรเมื่อพบเห็น รวมทั้งข้อจำกัดในการใช้งาน ที่ทำให้พวกเราไม่ค่อยเห็นว่ามีการใช้สุนัขนำทางกันอย่างแพร่หลายนักในบ้านเรา
สุนัขช่วยเหลือคนพิการคืออะไร ?
สุนัขนำทางหรือสุนัขช่วยเหลือคนพิการ คือสุนัขที่ได้รับการฝึกในระดับสูงสำหรับดูแลเจ้าของสุนัขเพียงคนเดียว โดยสุนัขจะคอยอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือคนพิการ สุนัขแต่ละตัวจะมีเอกสารรับรองเฉพาะที่ระบุความสามารถของสุนัขในการให้ความช่วยเหลือคนพิการแต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจน
สุนัขช่วยเหลือผู้พิการมีกี่ประเภท ?
เราสามารถแบ่งสุนัขช่วยเหลือออกเป็น 3 ประเภท
- Guide dog (สุนัขนำทาง) มีหน้าที่ช่วยนำทางคนพิการทางการมองเห็น คอยสอดส่องดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ
- Hearing dog (สุนัขช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการได้ยิน) มีหน้าที่รับฟังเสียงและคอยเตือนผู้พิการเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น
- Service dog (สุนัขช่วยเหลือ) มีหน้าที่ช่วยเหลือคนพิการ คนพิการซ้ำซ้อน หรือคนที่มีความผิดปกติบางอย่าง เช่น ความพิการประเภทต่าง ๆ ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือด โดยสุนัขช่วยเหลือจะทำหน้าที่ช่วยเตือนระดับน้ำตาลในเลือดให้กับผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ พวกมันยังถูกฝึกให้มีความสามารถเพิ่มเติมอย่างอื่นด้วย เช่น การช่วยกดปุ่ม เปิด/เปิดประตู หยิบสิ่งของ นำทางรถเข็น ช่วยเรื่องการทรงตัว หรือเตือนผู้อื่นเมื่อเจ้าของสุนัขไม่ตอบสนองได้อีกด้วย
สุนัขพันธุ์ยอดนิยมในการเป็นสุนัขช่วยเหลือ
- German Shepherd เป็นสุนัขที่มีขนาดใหญ่ เฉลียวฉลาด ฝึกง่าย และชอบทำกิจกรรม
- Labrador Retriever เป็นสุนัขที่มักถูกนำมาฝึกสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ เพราะมีความกระตือรือร้น สงบ เชื่อฟัง และเป็นมิตร รวมทั้งมีแข็งแรงและมีพลังงานเหลือเฟือ
- Golden Retriever เป็นสุนัขที่มีขนาดกลางแต่มีประสาทสัมผัสดีเยี่ยม ฉลาด และมีความร่าเริง
- Border Collie เป็นสุนัขที่ฉลาด คล่องแคล่ว ว่องไว ฝึกสอนได้ง่าย และมีความช่างสังเกต
กว่าจะมาเป็นสุนัขนำทาง ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ?
กว่าจะได้มาเป็นสุนัขช่วยเหลือคนพิการนั้น สุนัขต้องเจ้ารับการฝึกฝนอย่างสูงและผ่านบททดสอบอันหลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจที่ต้องทำ เป็นการฝึกอย่างเข้มข้นโดยเทรนเนอร์ ที่ต้องฝึกกันอย่างน้อย 18 เดือน หรือประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึงจะสามารถออกมาปฏิบัติหน้าที่ได้ สุนัขที่เข้ารับการฝึกต้องมีความอดทนสูงและมีสมาธิ จนสามารถผ่านบททดสอบมาตรฐาน ซึ่งได้แก่
- การทดสอบให้อยู่ในพื้นที่สาธารณะ (Public access test) เป็นการทดสอบที่มีขึ้นเพื่อดูว่าสุนัขสามารถควบคุมสมาธิพร้อมรับมือกับสภาพเเวดล้อมต่าง ๆ ได้ดีหรือไม่ สามารถอยู่ข้างถนนที่มีรถจำนวนมากผ่านไปมาได้ไหม หรือการอยู่ในที่เปิด เช่น งานแฟร์ สวนสาธารณะได้ไหม สุนัขต้องสามารถอยู่ในที่สาธารณะได้โดยไม่มีสายจูงเผื่อเกิดกรณีที่สายจูงหลุด
- การทดสอบช่วยเหลือคนพิการทางร่างกาย เช่น สุนัขสามารถนั่งคอยได้นาน ๆ อย่างสงบ แม้จะมีคนมาเล่นด้วยก็ต้องไม่กระโดด ตื่นเต้น หรือทำท่าทางดีใจ สามารถนั่งใต้โต๊ะอาหารนิ่ง ๆ ได้เป็นเวลานาน แม้จะมีคนแอบโยนอาหารให้ก็ตาม รวมทั้งสุนัขยังต้องรับฟังคำสั่งให้หยิบของและ เปิด/ปิดประตูได้
- การทดสอบการนำทางโดยเฉพาะสุนัขนำทางคนพิการทางสายตา เป็นการดูว่าสุนัขสามารถนำทางได้อย่างปลอดภัย หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ ทดสอบการข้ามถนน ต้องมีสมาธิสูง ไม่วอกแวก และตัดสินใจได้ดี
- การทดสอบการได้ยินโดยเฉพาะสุนัขดูแลคนพิการทางการได้ยิน เพื่อดูการตอบสนองต่อการได้ยินและเเยกประเภทของเสียงต่าง ๆ ว่าเป็นเสียงรบกวนทั่วไปหรือเป็นเสียงเตือนภัย เช่น เช็คปฏิกิริยาเมื่อได้ยินเครื่องดูดฝุ่นกับเสียงกริ่งไฟไหม้ การขานรับเมื่อเจ้าของเรียกชื่อ
การฝึกกับเทรนเนอร์ไม่ได้สอนกันเฉพาะการดูแลผู้พิการเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่ส่งเสียงดังรบกวนคนรอบข้าง ไม่ขับถ่ายเรี่ยราด และไม่สร้างความเสียหายให้กับสถานที่ต่าง ๆ ด้วย
สุนัขที่ผ่านการทดสอบจะได้ใบรับรองเป็นประกาศนียบัตรจากหน่วยงาน Dog Certification of America หรือจาก Nation Service Animal Registry (NSAR) ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงอีกหลายหน่วยงานที่มีการทดสอบและออกใบรับรองให้แก่สุนัขช่วยเหลือ เพื่อเป็นการแสดงสิทธิ์ว่าสุนัขเหล่านี้สามารถเข้าไปในพื้นที่สาธารณะหรือสถานที่ซึ่งไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงปกติเข้าไปได้
สุนัขนำทางมีการจำกัดอายุในการทำงานประมาณ 7-10 ปี หลังจากนั้นก็จะเกษียณและหาสุนัขนำทางตัวใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน ส่วนใหญ่แล้วสุนัขก็จะอยู่กับเจ้าของหรือครอบครัวเดิม แต่หากทางเจ้าของไม่สะดวกที่จะดูแลต่อก็จะมีการหาบ้านใหม่ให้หรือส่งตัวกลับไปยังโรงเรียนฝึกสุนัขเดิม
เมื่อเราพบเจอสุนัขช่วยเหลือ เราควรวางตัวอย่างไร ?
คนทั่วไปอาจมีโอกาสได้พบเจอกับสุนัขนำทางหรือสุนัขช่วยเหลือตามที่ต่าง ๆ มากขึ้น เราอาจจะเผลอไปกับความน่ารักของมัน โดยลืมไปว่าพวกมันกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ อาจส่งผลให้สุนัขเสียสมาธิและทำให้เจ้าของบาดเจ็บได้ ดังนั้น การปฏิบัติตัวของคนรอบข้างจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรรู้ตระหนัก
- เมื่อเราพบเจอคนพิการที่ใช้สุนัขช่วยเหลือ สามารถสังเกตง่าย ๆ โดยดูจากสัญลักษณ์บนตัวสุนัข เช่น สุนัขนำทางจะใส่บังเหียนที่เป็นเหมือนชุดเกราะคลุมตัวอยู่หรือมีสัญลักษณ์ โลโก้ต่าง ๆ หรือตัวอักษรว่า Service Dog เขียนอยู่ แสดงว่าสุนัขตัวนั้นเป็นสุนัขช่วยเหลือ
- ไม่ว่าจะเป็นสุนัขช่วยเหลือประเภทไหน ก็ไม่ควรเข้าไปรบกวนด้วยการสัมผัส เรียกชื่อ ส่งเสียงดัง หรือให้อาหาร เพราะเป็นการรบกวนให้สุนัขเสียสมาธิและอาจส่งผลให้เจ้าของสุนัขบาดเจ็บได้
- แม้จะเห็นว่าสุนัขนอนหมอบอยู่ ตราบใดที่ยังใส่บังเหียนอยู่ก็ถือว่าอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ควรเข้าไปรบกวนเช่นกัน ที่เห็นว่าสุนัขนอนนั้นไม่ใช่การนอนเพื่อพักผ่อน แต่เป็นการนอนเพื่อควบคุมตัวเองไม่ให้ออกไปวิ่งเล่น
- หากต้องการที่จะพูดคุยกับคนพิการหรือต้องการที่จะเล่นกับสุนัข ก็ควรที่จะทักทายคนพิการก่อนเท่านั้น ไม่ควรตรงเข้าไปหาหรือเรียกชื่อสุนัขก่อน โดยที่ไม่ทักคนพิการหรือไม่ขออนุญาตเขาก่อน เพราะการกระทำเหล่านี้ทำให้คนพิการรู้สึกถูกมองข้าม
- การใช้สุนัขนำทางเป็นทางเลือกที่คนพิการสามารถเลือกได้ใช้ได้เพื่อการดำรงชีวิต ซึ่งถูกระบุไว้ในกฎหมายอย่างถูกต้องรวมทั้งในประเทศไทยด้วย ฉะนั้น สุนัขช่วยเหลือจึงสามารถเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ ได้พร้อมกับเจ้าของที่เป็นคนพิการได้อย่างถูกกฎหมาย การห้ามไม่ให้สุนัขช่วยเหลือเข้าใช้สถานที่ต่าง ๆ ระบบขนส่งสาธารณะ หรือการบอกให้คนพิการผูก ล่าม มัดสุนัขไว้นอกอาคารจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถือเป็นการละเมิดสิทธิคนพิการ และเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความพิการ
- สำหรับคนที่ไม่ชอบสุนัข หากเห็นสุนัขนำทางเดินเข้าออกสถานต่าง ๆ อาจรู้สึกไม่ชอบใจนัก ก็ควรเปิดใจยอมรับ สุนัขช่วยเหลือเปรียบเสมือนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา อีกทั้งยังได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี และต้องมีเอกสารรับรองทุกตัวจึงสามารถทำหน้าที่นี้ได้ จึงไม่ต้องกลัวว่าสุนัขจะทำร้าย อึ/ฉี่เรี่ยราด หรือก่อความรำคาญใด ๆ ให้แก่ผู้อื่น
- อย่ามองว่าเป็นการทรมานสัตว์ บางคนอาจคิดว่าเป็นการบังคับให้สุนัขมาทำงาน ความจริงแล้วกว่าจะผ่านกระบวนการฝึกมาได้นั้น สุนัขต้องใช้เวลาฝึกยาวนานมาก ถ้าสุนัขไม่อยากทำหน้าที่นี้ สุนัขจะแสดงออกให้เห็นระหว่างที่กำลังฝึกอยู่ หมายความว่าการทำหน้าที่นี้เป็นสิ่งที่เขาทำด้วยความเต็มใจ
ทำไมสุนัขนำทางไม่ค่อยเป็นที่นิยมในประเทศไทย ?
- ถึงมีกฎหมายคุ้มครองแต่กลับใช้ไม่ได้จริง
แม้ว่าประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในมาตรา 20 วรรค 8 “สิทธิที่จะนำสัตว์นำทาง เครื่องมือหรืออุปกรณ์นำทาง หรือเครื่องช่วยความพิการใด ๆ ติดตัวไปในยานพาหนะหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการเดินทางและการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ โดยได้รับการยกเว้นค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าเช่าเพิ่มเติมสำหรับสัตว์ เครื่องมืออุปกรณ์ หรือเครื่องช่วยความพิการดังกล่าว” แต่หลายสถานที่ก็ยังมีข้อจำกัดในการห้ามนำสัตว์เข้ามาในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า รถโดยสารสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล กลายเป็นว่าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ควบคุมสถานที่นั้น ๆ เสียเอง ถือเป็นการที่สังคมไม่สนับสนุนเพื่อให้เกิดการใช้สุนัขช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ คนพิการที่มีสุนัขช่วยเหลือจึงมักถูกปฏิเสธในการเข้าสถานที่ต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งประชาชนส่วนมากก็ไม่ค่อยรู้จักกฎหมายคุ้มครองชุดนี้ด้วย
- ทางเท้าไม่ดี
ทางเท้าในประเทศไทยมีปัญหามาเสมอ ทั้งพื้นไม่เรียบ สิ่งของขรุขระ มีแอ่งน้ำขังสกปรก มีขยะวาง ป้ายหาเสียงบดบังทางเดิน รวมถึงรถจักรยานยนต์ที่ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้า อุปสรรคเหล่านี้เป็นปัญหากับคนทั่วไปมากอยู่แล้ว และยิ่งเป็นปัญหากับคนพิการก็อาจสร้างความอันตรายถึงแก่ชีวิต
- สุนัขจรจัดและสุนัขเจ้าถิ่น
การพบเจอสุนัขจรจัดหรือสุนัขเจ้าถิ่นอาจทำให้เกิดอันตรายต่อคนพิการและสุนัขนำทางได้ โดยเฉพาะเมื่อสุนัขนำทางถูกฝึกมาให้ไม่ต่อสู้ การเจอกับสุนัขตัวอื่นที่เข้ามาทำร้ายจึงอาจทำให้สุนัขไม่สามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือคนพิการได้เหมือนเดิม และอาจเกิดอันตรายกับทั้งคนพิการและสุนัขได้
หวังว่าผู้พิการในบ้านเราจะสามารถใช้สุนัขช่วยเหลือกันได้อย่างแพร่หลายมากขึ้นนะคะ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของคนในสังคมด้วยที่จะเพิ่มความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้และเพิ่มการให้เกียรติกันและกัน เพื่อให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสวัสดิภาพและอิสระเสรีค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th