ออฟฟิศซินโดรม รู้หรือไม่โยคะช่วยคุณได้
สำหรับคนวัยทำงานแล้ว “ออฟฟิศซินโดรม” ก็คงเป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตที่พบกันได้ทั่วไปนะคะ เรียกว่าเป็นความฮิตที่ไม่ได้มีใครอยากให้มันเกิดขึ้นกับตัวเองเลยแม้แต่น้อย แต่ในบางครั้งเราเองนั่นแหละที่มีส่วนทำให้มันเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว ด้วยความไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่นั่งทำงานในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน ซึ่งความจริงมันไม่ใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะกับคนทำงานออฟฟิศเท่านั้น คนทำงานประเภทอื่นที่ใช้กล้ามเนื้อมาก เช่น หิ้วหรือแบกของหนัก รวมไปถึงคุณแม่บ้านที่ทำงานบ้านด้วย หากใครเริ่มมีอาการปวดตัว ปวดหลัง หรือปวดศีรษะ วันนี้เรามีท่าโยคะ ที่จะช่วยให้คุณได้ยืดเหยียดคอ บ่า สะบัก หลัง และสะโพก ที่คุณสามารถทำเพื่อช่วยบำบัดอาการมาฝากกันค่ะ
สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม
ก่อนที่จะรู้วิธีแก้ เราต้องรู้ที่มาของมันก่อน โรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจากการนั่งทำงานที่ไม่ถูกวิธี ไม่เข้ากับสรีระของร่างกาย ทำให้เกิดเป็นอาการปวดเมื่อย ดังนั้นหากเรานั่งทำงานอย่างถูกวิธีก็สามารถช่วยขจัดต้นเหตุได้ส่วนหนึ่ง
- นั่งหลังตรงแทนนั่งหลังค่อม ใครที่ชอบนั่งหลังค่อมควรเปลี่ยนนิสัยมานั่งหลังตรงกันได้แล้ว เพราะการนั่งหลังค่อมทำให้หลังของเราปวดเมื่อยได้ง่าย
- จัดระดับจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องก้มต่ำมองหน้าจอ หากเราตั้งหน้าจอคอมพ์ต่ำกว่าระดับสายตา ก็ทำให้คอของเราต้องเกร็งและก้มต่ำเป็นเวลานาน จนเกิดเป็นอาการปวดเมื่อยคอ หลัง และบ่า
- การตั้งแป้นพิมพ์ก็มีส่วน หากแป้นพิมพ์ตั้งไว้สูงหรือต่ำไป จะทำให้การวางข้อมือผิดเพี้ยนจากสรีระ ดังนั้น ควรวางแป้นพิมพ์ในระยะที่เหมาะสม และวางข้อมือทั้งสองข้างแบบตั้งฉาก จะช่วยให้อาการปวดเมื่อยไหล่และบ่าลดลง
- การวางขาทั้งสองข้างควรวางตั้งฉากขนานไปกับพื้น จะช่วยให้นั่งได้ถูกสรีระมากขึ้น และลดอาการปวดเมื่อยลงได้
- ควรมีการยืดเส้นยืดสายคลายกล้ามเนื้อเป็นระยะ
5 ท่าโยคะบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม
1. Sun Salutations with twists
ท่าแรกคือการนั่งเหยียดตัวตรง ขาขนานตั้งฉากวางแนบไปกับพื้น จากนั้นค่อย ๆ บิดลำตัวท่อนบนอย่างช้า ๆ ไปที่ข้างซ้ายหรือขวา อาจใช้แขนดันไว้กับพนักของเก้าอี้ ค้างท่าไว้สักครู่ แล้วค่อย ๆ บิดตัวกลับมาสู่ยังท่าเริ่มต้น ทำเช่นเดียวกันกับอักข้างหนึ่ง สลับไปมาจนอาการปวดเมื่อยบริเวณหลังบรรเทา
2. Backbend Arch
เข้าท่าด้วยการขยับตัว นั่งหลังตรงลงบนปลายเบาะ ขาตั้งฉากตรงกับพื้น จากนั้นใช้ปลายนิ้วทั้งสองข้างวางและยันลงไปบนปลายเบาะด้านหลัง แล้วค่อย ๆ แหงนหน้าและลำคอขึ้นไปจนสุด จากนั้นให้ค้างท่าไว้สักครู่ แล้วค่อย ๆ ลดระดับคอลงจนสู่ท่าเริ่มต้น ทำเช่นเดิมจนรู้สึกว่าอาการปวดบริเวณคอดีขึ้น
3. Assisted neck stretches
นั่งหลังตรง ขาวางราบไปกับพื้นแบบตั้งฉาก จากนั้นเอนศีรษะไปทางด้านใดด้านหนึ่ง แล้วใช้มือข้างนั้นจับศีรษะไว้อย่างเบามือ ค้างท่าไว้ประมาณ 6-7 วินาที จากนั้นให้สลับไปทำอีกข้าง ท่านี้จะช่วยลดและคลายเส้นบริเวณคอได้เป็นอย่างดี
4. High Altar side leans
ท่าแสนเบสิคนี้ช่วยบรรเทาอาการปวดบริเวณบ่าและไหล่ได้ดี เริ่มจากนั่งหลังตรง ขาเหยียดลงไปกับพื้นแบบตั้งฉาก จากนั้นค่อย ๆ ประสานมือทั้งสองข้างและยกขึ้นไปด้านบนอย่างช้า ๆ พร้อมกับเอนตัวไปด้านข้าง ค้างท่าไว้สักครู่ แล้วเอนไปด้านตรงข้ามอีกครั้งหนึ่ง ทำสลับกันไปเรื่อย ๆ จนอาการปวดเมื่อยบรรเทา
5. Eagle Arms
นั่งหลังตรง ขาวางตั้งฉากแนบไปกับพื้น จากนั้นประสานมือแบบเกลียวทั้งสองข้างในทิศทางแนวตั้ว ค้างท่าไว้สักครู่ ขณะที่ทำท่านี้ อาจเงยคอและหน้าไปด้านบนด้วยก็ได้ จะได้เป็นการบริหารหลาย ๆ ส่วนในท่าเดียว
Motherhood เข้าใจว่าคนรุ่นใหม่นั้นพยายามดูแลสุขภาพตัวเองและคนที่เรารักกันมากขึ้น แต่บางครั้งโรคภัยบางอย่างก็เกิดมากจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราอาจละเลย เช่น หลาย ๆ ออฟฟิศก็ไม่ได้เลือกใช้เก้าอี้ Ergonomic ให้พนักงานได้นั่งทำงานกัน หรือแม้แต่การ Work from home ช่วงนี้ ที่หลาย ๆ บ้านก็ไม่ได้มีโต๊ะนั่งทำงานโดยเฉพาะ จึงต้องดัดแปลงมุมอื่นของบ้านไว้นั่งทำงาน อย่างไรแล้วก็ขอให้ทุกคนคำนึงถึงสุขภาพมาก่อนเสมอนะคะ ออกกำลังกายกันบ่อย ๆ เพื่อสุขภาพที่ดีค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th