เริ่มให้ลูกกิน “อาหารสำหรับเด็ก” เมื่อไหร่ดี
วัยทารกเป็นวัยที่เด็กควรได้รับน้ำนมแม่มากที่สุด เพราะน้ำนมแม่มีสารอาหารมากมาย แต่เมื่อลูกโตขึ้นสักพักก็จำเป็นจะต้องได้รับ “อาหารสำหรับเด็ก” ที่เหมาะสมตามวัย เพื่อช่วยเสริมภูมิต้านทาน เสริมพัฒนาการ และเป็นการฝึกให้ลูกมีความคุ้นเคยกับอาหารด้วย แต่ควรเริ่มให้ทารกได้รับประทานอาหารเหล่านี้ตอนไหน สามารถให้เขารับประทานอะไรได้บ้าง และต้องให้ในปริมาณมากน้อยแค่ไหน ติดตามรายละเอียดได้ในบทความนี้เลยค่ะ
จุดประสงค์ของการให้อาหารตามวัยสำหรับทารก
1. ให้สารอาหารเพิ่มเติมจากนมแม่
ในช่วงอายุ 6 เดือนแรก ทารกจะได้รับสารอาหารเพียงพอจากนมแม่ที่มีสุขภาพดี ถ้าหากแม่มีสุขภาพที่ดีและสามารถให้นมแก่ลูกได้อย่างเต็มที่ และทารกเติบโตได้ตามเกณฑ์ นมแม่อย่างเดียวจะเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของลูกไปจนอายุประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นทารกจำเป็นต้องได้รับสารอาหารบางชนิดและพลังงานเพิ่มเติมจากอาหารตามวัยสำหรับทารก เช่น โปรตีน เหล็ก แคลเซียม สังกะสี ไอโอดีน วิตามินเอ เป็นต้น เพื่อให้เจริญเติบโตตามปกติ
ในกรณีที่การเจริญเติบโตของทารกมีแนวโน้มลดลง หรือแม่ไม่สามารถให้นมได้อย่างเต็มที่ อาจให้อาหารตามวัยแก่ทารกก่อนอายุ 6 เดือนได้ แต่ไม่ก่อนธอายุ 4 เดือน
2. ช่วยพัฒนาหน้าที่เกี่ยวกับการเคี้ยวและกลืนอาหาร
การให้อาหารตามวัยสำหรับทารก ช่วยให้ทารกปรับตัวเข้ากับการรับประทานอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว (Semisolid food) ให้คุ้นเคยกับรสชาติและลักษณะอาหารที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาไปสู่การรับประทานอาหารแบบผู้ใหญ่ (Solid food) การเริ่มให้อาการกึ่งแข็งกึ่งเหลวช้าเกินไปอาจทำให้ทารกปฏิเสธอาหารแบบผู้ใหญ่ได้
3. เสริมสร้างนิสัยและพฤติกรรมการกินที่ดีของเด็ก
จะช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น โรคขาดโปรตีนและพลังงาน การขาดธาตุเหล็ก โรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และฟันผุ
การให้อาหารตามวัยสำหรับทารกที่มีคุณภาพและปริมาณเหมาะสมกับวัยเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพของทารก ซึ่งจะมีผลต่อร่างกายและสติปัญญาในระยะยาวได้
สารอาหารที่สำคัญสำหรับทารก
- พลังงานและโปรตีน แหล่งอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกคือนมแม่ หลังจากผ่าน 6 เดือนแรกไปแล้ว ควรได้รับโปรตีนเพิ่มเติมจากไข่และเนื้อสัตว์ต่างๆ
- ธาตุเหล็ก ร้อยละ 90 ของธาตุเหล็กที่ทารกต้องการได้มาจากอาหารเสริมตามวัย ได้แก่ ไข่แดง ตับ เนื้อสัตว์ ดังนั้น หลังอายุ 6 เดือน ทารกที่รับประทานแต่นมจึงเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก
- ไอโอดีน ช่วยในการทำงานของต่อมไทรอยด์ ช่วยในการพัฒนาสมอง และการเจริญเติบโตของร่างกาย จึงควรใช้เกลือไอโอดีนในการปรุงอาหาร
- แคลเซียม จำเป็นในการสร้างกระดูกและฟัน ส่วนใหญ่ได้รับจากนม
- สังกะสี ช่วยในการเจริญเติบโต สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับร่างกาย มีมากในเนื้อสัตว์และอาหารทะเล
- วิตามินเอ เสริมสร้างเซลล์และระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยเกี่ยวกับการมองเห็น แหล่งอาหารสำคัญคือ ไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม และผักผลไม้สีเหลืองแสด
อาหารเสริมตามวัยสำหรับทารกในขวบปีแรกที่พ่อแม่ควรรู้
คุณพ่อคุณแม่คงได้ทราบแล้วว่าทำไมถึงควรให้ทารกได้รับประทานอาหารเสริมตามวัยของเขา และสารอาหารใดบ้างที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการต่างๆของงลูก ตอนนี้ถึงเวลาที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมถึงลักษณะของอาหารที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย รวมทั้งพัฒนาการของลูกในการที่จะกินได้ต้องเป็นอย่างไร มีอะไรเป็นจุดสังเกตถึงพัฒนาการความพร้อมในการกินแต่ละช่วงอายุ
วัยแรกเกิด – 4 เดือน
พัฒนาการการกิน – ปฏิกิริยาตอบสนองการกินนมแม่ คือ การหันหน้าเข้าหาอกแม่ การดูด และการกลืน มีปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อมีวัตถุสัมผัสหรือกดลิ้นโดยการเอาลิ้นดุนสิ่งนั้นออกมา (Extrusion reflex)
ประเภทอาหารที่แนะนำ – ของเหลว คือนมแม่เท่านั้น แต่จะไม่มีการกะเกณฑ์ปริมาณที่ตายตัว
วัย 4-6 เดือน
พัฒนาการการกิน – มีความพร้อมในการกินอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว สามารถชันคอได้มั่นคง มีการทรงตัวของลำตัวได้ดี คว้าของได้ เริ่มเอาของเข้าปาก (Extrusion reflex) ใช้ขากรรไกรขยับขึ้นลงในการบดอาหาร
ประเภทอาหารที่แนะนำ – ของเหลว คือนมแม่เท่านั้น สามารถประมาณการให้นมแต่ละครั้งนานไม่น้อยกว่า 20 – 30 นาที และให้นมอย่างน้อย 8 ครั้ง ต่อวัน
วัย 6-8 เดือน
พัฒนาการการกิน – เริ่มนั่งได้ดีขึ้น สามารถบดเคี้ยวอาหารและถือขวดนมเองได้ มีการส่งเสียงในระหว่างมื้ออาหาร เพื่อแสดงความต้องการ ระบบการย่อยเริ่มแข็งแรงขึ้น
ประเภทอาหารที่แนะนำ – นมแม่ และอาหารตามวัย 1 มื้อ อาหารควรมีเนื้อละเอียดโดยการบดเพื่อให้กลืนได้ง่าย ข้าวบดหรือข้าวตุ๋นพอหยาบ เลือกใช้ผักใบเขียวหรือเหลืองส้มที่อ่อนนุ่มที่ไม่มีกลิ่นแรง เช่น ตำลึง ผักบุ้ง ฟักทอง หรือแครอท เลือกอาหารที่มีโปรตีนสูงแต่อ่อนนุ่มบดง่าย เช่น ไข่แดง ตับไก่ เต้าหู้ปลา ปลา กล้วยครูดสุก หรือผลไม้
วัย 8-10 เดือน
พัฒนาการการกิน – เริ่มใช้นิ้วมือได้ดีขึ้น เริ่มกำช้อนได้แต่ยังไม่สามารถใช้ได้ดี หยิบอาหารชิ้นเข้าปากทานเองได้ ทานอาหารแข็งได้ดีขึ้น เริ่มชอบทานอาหารที่มีรสชาติและลักษณะอาหารใหม่ๆ
ประเภทอาหารที่แนะนำ – นมแม่ และอาหารตามวัย 2 มื้อ เนื้ออาหารควรหยาบมากขึ้น ข้าวบดหรือข้าวตุ๋นพอหยาบ และอาหารที่สามารถหยิบทานเองได้ เช่น ฟักทองนึ่ง มันต้มที่หั่นเป็นชิ้นยาว เลือกใช้ผักใบเขียวหรือเหลืองส้มที่อ่อนนุ่ม กลิ่นไม่แรง เช่น ตำลึง ผักบุ้ง ฟักทอง หรือแครอท อาหารที่มีโปรตีนสูงแต่อ่อนนุ่มบดง่าย ได้แก่ ไข่ ตับไก่ เลือด ตับ ปลา หมูสับหรือบด หมุนเวียนสลับกันไป รวมทั้งผลไม้หั่น
วัย 10-12 เดือน
พัฒนาการการกิน – ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ได้ดี ใช้ช้อนป้อนตัวเองได้บ้าง ฟันขึ้นหลายซี่ สามารถขบเคี้ยวได้เก่งขึ้น เริ่มเรียนรู้ในการทิ้งของและอาหารลงพื้น เริ่มถือถ้วยเองได้ ส่งเสียงและขยับตัวระหว่างมื้ออาหารได้มากขึ้น
ประเภทอาหารที่แนะนำ – นมแม่ และอาหารตามวัย 3 มื้อ อาหารที่หยิบกินเองได้ อาจเป็นอาหารหั่นแบบลูกเต๋าและสับละเอียด ทานอาหารเหมือนช่วงอายุ 8-10 เดือนแต่ต้องการปริมาณที่มากขึ้น
แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องทราบไว้อย่างหนึ่งว่าเด็กบางคนจำเป็นต้องใช้เวลาปรับตัวให้คุ้นเคยกับอาหารชนิดใหม่ๆนานกว่าคนอื่น มีงานวิจัยหนึ่งบอกไว้ว่า เด็กส่วนใหญ่จะยอมลองอาหารชนิดใหม่หลังจากถูกคะยั้นคะยอให้กินประมาณ 11 ครั้ง คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องพยายามนะคะ หรือจะลองใช้เทคนิค Baby Led-Weaning เข้าช่วย จะได้เป็นการฝึกให้ลูกหยิบจับอาหารกินเองได้เร็วขึ้นอีกทาง
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th