เก้าอี้ ergonomic จำเป็นกับคนทำงานแค่ไหน?
เมื่อต้องปรับชีวิตมาทำงานจากบ้าน หลายคนที่ต้องทำงานจากบ้านจึงประสบปัญหาในการนั่งทำงานไปตาม ๆ กัน เรื่องของ “เก้าอี้ ergonomic” เลยกลายมาเป็นสิ่งที่ผู้คนเริ่มพูดถึงกันอย่างจริงจังในวงกว้าง ว่าเก้าอี้ประเภทนี้คือสิ่งที่จำเป็นต่อคนทำงานออฟฟิศ วันนี้เราจะมาเจาะลึกกันถึงที่มาและความสำคัญของเก้าอี้ชนิดนี้ ว่ามันสามารถช่วยชีวิตคนทำงานให้ง่ายขึ้นได้อย่างไรบ้าง
Ergonomic คืออะไร?
Ergonomic มีความหมายแบบศัพท์วิชาการว่า การยศาสตร์ เป็นคำที่มาจากภาษากรีก คือ “ergon” ที่หมายถึงงาน และอีกคำหนึ่ง “nomos” ที่แปลว่า กฎตามธรรมชาติ เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันจึงกลายเป็นคำว่า “Ergonomics” หรือ “Laws of work” ที่อาจแปลได้ว่ากฎของงาน ถ้าจะพูดให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็คือ การออกแบบอุปกรณ์ให้มีความปลอดภัยและสะดวกสบายต่อการใช้งานของมนุษย์
อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ รอบตัวเราที่เรียกกันว่าเป็น Ergonomic นี้ จะถูกออกแบบตามหลักสรีระศาสตร์ให้เหมาะกับการใช้งานอย่างสะดวกสบาย ซึ่งส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การออกแบบแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ (Keyboard) ให้ผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเอกสาร เพื่อที่จะได้ไม่รู้สึกปวดเมื่อยมือหรือหัวไหล่แม้จะต้องนั่งพิมพ์ต่อเนื่องวันละหลาย ๆ ชั่วโมง หรือการออกแบบชุดโต๊ะเก้าอี้ที่สามารถปรับระดับความสูงหรือระดับการเอนหลังของพนักพิงให้เหมาะสมกับผู้นั่ง ทำให้รู้สึกสบายและไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสรีระ
ทำไมเก้าอี้ Ergonomic ถึงจำเป็น?
เพราะพฤติกรรมการทำงานต่อเนื่องระยะยาวของมนุษย์เรานั้นส่งผลต่อสุขภาพของกระดูกสันหลังได้เป็นอย่างมาก เช่น การนั่งหลังค่อม หรือการนั่งทำงานหน้าจอคอมนาน ๆ หากไม่ระวังก็จะเกิดอาการที่เรียกว่าออฟฟิศซินโดรม ที่เป็นกระแสในหมู่พนักงานออฟฟิศทั่วโลกมานานนับ 10 ปี ความจริงแล้วมีวิธีป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรมอยู่เยอะแยะมากมาย ซึ่งหัวใจหลักก็คือการทำให้พฤติกรรมการทำงานถูกต้องมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้น ตัวอย่างเช่น ควรมีการลุกขึ้นเดินในทุก ๆ 15 นาที หรือนั่งเก้าอี้ที่ออกแบบมาอย่างถูกต้องเพื่อการนั่งที่จะไม่ทำลายสุขภาพของหลังและกรดูก หรือที่เรียกว่าเก้าอี้ Ergonomic นั่นเอง
เก้าอี้การยศาสตร์ถูกออกแบบตามหลักสรีระศาสตร์ของมนุษย์ มีการออกแบบที่เอื้ออำนวยและคำนึงถึงการรักษาสภาพของท่านั่งให้เหมาะสมกับลักษณะของร่างกายที่แตกต่างกัน ด้วยการออกแบบที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้ เพื่อลดปัญหาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อจากการนั่งเป็นระยะเวลานาน ๆ เก้าอี้ประเภทนี้ถูกออกแบบมาใช้กับผู้ที่ต้องทำงานโดยการนั่งนาน ๆ ซึ่งก็คือเหล่าพนักงานออฟฟิศจึงมักเรียกว่า Ergonomic office chair หรือ Ergonomic work chair
เก้าอี้ประเภทนี้มีประโยชน์คือช่วยลดการปวดเมื่อยของหลังในขณะนั่ง มีความสามารถในการปรับระดับ ซึ่งสามารถตอบสนองให้ผู้ใช้เกิดความสะดวกสบายในขณะนั่งทำงาน ช่วยในการเคลื่อนไหวของร่างกายในขณะนั่งได้ดี จึงป้องกันความไม่สบายจากการนั่งและการกดทับที่เกิดขึ้นในร่างกาย ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บเรื้อรังตามมา ถึงแม้ว่าเก้าอี้การยศาสตร์จะเป็นเก้าอี้ที่มีราคาสูงพอสมควร แต่ด้วยคุณประโยชน์และความสะดวกสบายจึงทำให้กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทำงานยุคใหม่อย่างเรา ๆ
ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร?
ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome) คือ อาการปวดกล้ามเนื้อเนื่องมาจากรูปแบบการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง เช่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไป โดยไม่มีการขยับ ผ่อนคลาย หรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถ จนอาจส่งผลให้เกิดโรคและอาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ที่จะพบอาการปวดเรื้อรัง รวมไปถึงอาการชาที่บริเวณแขนหรือมือจากการที่เส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง ระบบการย่อยอาหาร ระบบนัยน์ตาและการมองเห็น รวมไปถึงระบบอื่น ๆ
จากการรายงานของสํานักงานสถิติพบว่า ผู้มีงานทำที่มีปัญหาที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทํางานมีจํานวน 4.36 ล้านคน ซึ่งเป็นปัญหาในเรื่องอริยาบทในการทํางาน ผลวิจัยในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนทํางานได้รับผลกระทบมากขึ้นและกลุ่มคนเหล่านี้กำลังเผชิญกับอาการปวดหลัง ปวดไหล่ และปวดคอเป็นอย่างมาก โดยผลสํารวจระบุอย่างชัดเจนว่าคนทํางานสํานักงานเกิดอาการเหล่านี้ถึง 99.8 เปอร์เซ็นต์ จากการทํางานที่ต้องอยู่ในอิริยาบทเดิม ๆ นานเกินไปคนทํางานในสํานักงานกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มีการนั่งทํางานนานเกิน 1 ชั่วโมงโดยไม่เปลี่ยนอริยาบถ นํามาซึ่งโรคปวดเมื่อยโดยมีสาเหตุมาจากการนั่งทํางานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานในแต่ละวัน จัดว่าเป็นการนั่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
อาการของออฟฟิศซินโดรม
1. ปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก มักมีอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง แต่กลับไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน อาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย มีลักษณะการปวดล้า ความรุนแรงมีได้ตั้งแต่ปวดเล็กน้อยแค่พอรำคาญ ไปจนถึงปวดรุนแรงและทรมานมาก
2. อาการของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งพบร่วมด้วย เช่น ซ่า วูบ เย็น เหน็บ ซีด ขนลุก เหงื่อออก ตามบริเวณที่ปวดร้าว ถ้าเป็นบริเวณคออาจมีอาการมึนงง หูอื้อ ตาพร่า
3. อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ เช่น อาการชาที่บริเวณแขนและมือ ไปจนถึงอาการอ่อนแรง หากมีการกดทับเส้นประสาทนานจนเกินไป
คุณสมบัติของเก้าอี้ Ergonomic มีอะไรบ้าง?
- นั่งแล้วข้อศอกทำมุม 90 องศากับโต๊ะ หรือข้อศอกอยู่ระดับเดียวกับคีย์บอร์ด
- ที่พักแขนที่สามารถปรับได้และช่วยกระจายน้ำหนัก มีขนาดเล็กและอยู่ในระดับต่ำพอที่สามารถสอดเข้าใต้โต๊ะ มุมขอบต้องไม่แหลมเพื่อป้องกันการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อศอก
- มีที่พักเท้าสำหรับใช้งานของคนตัวเตี้ยหรือสามารถปรับระยะให้เท้าสามารถวางพื้นได้เมื่อนั่ง เพื่อลดการกัดทับของต้นขาและป้องกันปัญหาจากอาการนั่งห้อยเท้า เพิ่มการไหลเวียนเลือดของร่างกายส่วนล่าง
- มีพนักพิงหลังที่มีส่วนเสริมกระดูกสันหลังช่วงล่างเพื่อดันการโค้งงอของแผ่นหลัง และมีขนาดพอดีแขน ทำให้เคลื่อนไหวได้โดยไม่รบกวนการใช้เก้าอี้
- เบาะรองนั่งควรมีลักษณะนิ่มแต่ไม่ควรนิ่มจนเกินไป เพื่อช่วยกระจายน้ำหนักและแรงกด วัสดุที่ใช้ทำเบาะควรถ่ายเทความร้อนได้ง่าย หากเป็นเบาะรูปลิ่มจะช่วยรับน้ำหนักกระดูกเชิงกรานด้านหน้า ทำให้ผู้ใช้งานนั่งตัวตรง ซึ่งเป็นผลดีต่อกระดูกแนวสันหลัง
- ขาเก้าอี้แบบ 5 ง่าม ที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการนั่ง
การนั่งทำงานที่ดีควรมีเก้าอี้ที่คอยแก้ปัญหาที่อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง หากวันนี้คุณต้องทำงานที่บ้านและไม่ได้มีเก้าอี้ทำงานที่เหมาะสม การเลือกซื้อเก้าอี้ Ergonomic ก็อาจเป็นทางออกที่ดีในระยาวสำหรับสุขภาพของคุณค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th