เชื้อราในช่องปาก โรคที่เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
มีโรคภัยไข้เจ็บมากมายที่สามารถเป็นกันได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งโรค “เชื้อราในช่องปาก” ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่เองหรือเจ้าตัวน้อยก็สามารถติดเชื้อมาได้ทั้งนั้น วันนี้เราจะมาทำความรู้จักโรคนี้ให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งวิธีป้องกันรักษาให้ลูกรักห่างไกลจากเชื้อราในปากกันค่ะ
เชื้อราในช่องปากคืออะไร ?
เชื้อราในปาก (Oral thrush) คืออาการติดเชื้อที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก โดยเกิดจากเชื้อราแคนดิดา (Candida) ซึ่งเป็นผลมาจากอาการเจ็บป่วย ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือการใช้ยาบางชนิดที่สามารถกระตุ้นให้เชื้อราชนิดนี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เชื้อราในปากไม่ค่อยมีอันตรายและสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อรา
อาการของเชื้อราในปาก
แม้จะมีสาเหตุมาจากเชื้อราชนิดเดียวกัน แต่การแสดงออกของอาการเชื้อราในปากจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
1. อาการในเด็กและผู้ใหญ่
ในเบื้องต้นผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเชื้อราในปาก ทั้งนี้การแสดงอาการอาจจะเกิดขึ้นทันทีหรือกินระยะเวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ถึงจะมีอาการให้เห็น โดยลักษณะอาการมีดังนี้
- มีคราบสีขาวที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดานปาก เหงือก และต่อมทอนซิล
- คราบขาวที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะคล้ายกับฝ้าในปาก
- ภายในช่องปากแดงหรือเป็นแผล จนส่งผลกระทบต่อการกลืนอาหารและการเคี้ยวอาหาร
- อาจมีเลือดออกซิบ ๆ มาจากบริเวณแผลหากไปถูหรือขูด
- ผู้ที่ใส่ฟันปลอมอาจมีอาการปากแตกหรือเกิดรอยแดงที่มุมปาก
- รู้สึกปากแห้ง
- ลิ้นไม่ค่อยรับรู้รสชาติ
ในผู้ป่วยรายที่อาการรุนแรง คราบเชื้อราอาจแพร่กระจายลงไปถึงภายในหลอดอาหาร จนทำให้กลืนอาหารได้ลำบาก และจะรู้สึกเหมือนมีอะไรติดคออยู่ตลอดเวลา
2. อาการในทารกและแม่ที่ให้นมลูก
สำหรับทารกอาจเกิดเชื้อราขึ้นได้ในช่วง 3-4 สัปดาห์หลังคลอด (มักพบในทารกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน) เกิดขึ้นตามสมดุลทางธรรมชาติของร่างกาย มีปริมาณไม่มาก จึงไม่ก่อให้เกิดโรค แต่หากเชื้อรามีปริมาณมากและเป็นฝ้าขาวหนา จะทำให้ทารกที่ติดเชื้อราในช่องปากมีปัญหาเรื่องการดูดนม และมีอาการหงุดหงิดได้ง่าย นอกจากนี้ ยังอาจแพร่เชื้อไปยังแม่ผ่านทางการดูดนมแม่ได้อีกด้วย ทำให้แม่เกิดอาการติดเชื้อราที่บริเวณหัวนม และมีอาการดังต่อไปนี้
- เกิดอาการคัน เจ็บ ที่บริเวณหัวนม
- หัวนมมีลักษณะแดงหรือแห้งแตกผิดปกติ
- ลานหัวนมมีลักษณะเงาและเป็นขุย
- มีอาการเจ็บบริเวณหัวนมขณะที่ให้นมลูก
- อาจมีอาการเจ็บร้าวลึกเข้าไปในหน้าอก
สาเหตุของเชื้อราในปาก
เชื้อราในปากมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อราแคนดิดา (Candida) ซึ่งโดยปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะช่วยป้องกันการติดเชื้อราดังกล่าวได้ แต่ถ้าหากสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติก็จะทำให้เชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตจนเกินการควบคุม และกลายเป็นอาการติดเชื้อรา
กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อเชื้อราในปากคือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อย่างเด็กทารกและเด็กเล็ก และผู้ที่มีประวัติการปลูกถ่ายอวัยวะ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การรักษามะเร็ง ด้วยการทำเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี ซึ่งส่งผลกระทบให้เซลล์ที่ดีอ่อนแอลง และเซลล์บางส่วนถูกทำลายไปพร้อมกับเซลล์มะเร็ง
- โรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ HIV โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน โรคเบาหวาน โรคเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน จนทำให้เชื้อราเจริญเติบโตขึ้น
- การตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และมีภาวะเชื้อราในช่องคลอด สามารถที่จะแพร่เชื้อราแคนดิดาไปยังเด็กทารกขณะที่คลอดได้ ทำให้เด็กทารกเกิดเชื้อราในช่องปาก
- การใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเกิดเชื้อราในปากได้
- การใช้ยาพ่นสเตียรอยด์ในผู้ป่วยหอบหืด ผู้ป่วยโรคนี้ที่ต้องใช้ยาพ่นสเตียรอยด์เป็นประจำอาจมีเชื้อราเกิดขึ้นในช่องปาก
- การใส่ฟันปลอม หากใส่ฟันปลอมไม่ถูกต้องหรือใส่ไม่พอดีก็อาจทำให้เกิดเชื้อราในช่องปากได้
- การรักษาความสะอาดของช่องปากไม่เพียงพอ ที่ดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดี อาจเป็นสาเหตุของเชื้อราในช่องปากได้
- อาการปากแห้ง ผู้ที่มีอาการปากแห้งจากการใช้ยาหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อาจมีส่วนกระตุ้นการเกิดเชื้อรา
- สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ สารเคมีในบุหรี่จะกระตุ้นให้เชื้อราภายในช่องปากเจริญเติบโตเร็วขึ้น
การวินิจฉัยเชื้อราในปาก
เชื้อราในปากสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในเบื้องต้นหากผู้ป่วยสังเกตพบคราบขาวภายในช่องปาก ควรรีบไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด โดยแพทย์จะตรวจและนำตัวอย่างจากแผลไปตรวจกับห้องปฏิบัติการอีกครั้งเพื่อยืนยันผล แต่หากอาการเชื้อรานั้นแพร่กระจายลงไปในหลอดอาหาร อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น
- การเพาะเชื้อ โดยนำสำลีก้านยาวป้ายเก็บตัวอย่างที่บริเวณในลำคอส่วนหลัง แล้วนำไปเพาะเชื้อเพื่อหาเชื้อราแคนดิดา
- การส่องกล้อง โดยการสอดกล้องผ่านเข้าไปทางหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กเพื่อดูร่องรอยของเชื้อรา
การรักษาเชื้อราในปาก
เชื้อราในปากรักษาให้หายได้ด้วยยารักษาเชื้อรา ซึ่งในปัจจุบันมีให้เลือกใช้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ด ยาอม หรือยาน้ำ โดยต้องใช้ติดต่อกันอย่างน้อยประมาณ 7-14 วัน จึงจะหายเป็นปกติ ซึ่งยาเหล่านี้มักเป็นยาที่ไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่ก็อาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ปวดท้อง หรือท้องเสียได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรมีความระมัดระวังในการใช้ยา
หากเชื้อราในปากมีสาเหตุมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาสเตียรอยด์ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข โดยแพทย์อาจเปลี่ยนยาหรือปรับยาให้เหมาะสมมากขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของเชื้อราในปาก
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการเป็นเชื้อราในปากนั้นมีน้อยมาก โดยมักเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ เช่น
- เชื้อราแพร่เข้าสู่กระแสเลือด จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อราลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ
- ปัญหาในการดูดซึมสาอาหาร หากปล่อยให้มีอาการเชื้อราในปากโดยไม่รักษาอย่างจริงจัง จะทำให้เชื้อราแพร่กระจายลงไปถึงลำไส้ และส่งผลให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างเต็มที่
การป้องกันเชื้อราในปาก
ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเชื้อราในปากได้ โดยวิธีที่จะช่วยให้ช่องปากสะอาดอยู่เสมอมีดังนี้
- บ้วนปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่ผสมสารฟลูออไรด์ รวมทั้งใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ
- พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกับคนที่ใส่ฟันปลอม
- ถอดฟันปลอมออกมาทำความสะอาดทุกคืน โดยควรทำความสะอาดด้วยยาสีฟัน หรือสบู่ และล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นแช่ในน้ำยาสำหรับทำความสะอาดโดยเฉพาะ
- แปรงเหงือก ลิ้น และภายในช่องปากด้วยแปรงสีฟันขนที่มีอ่อนนุ่มเป็นประจำเพื่อทำความสะอาด
- หากรู้สึกว่าฟันปลอมที่ใช้อยู่สวมใส่ได้ไม่พอดี ควรไปพบทันตแพทย์ทันที
- สำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ต้องพ่นยาสเตียรอยด์ ควรบ้วนปากทุกครั้งหลังจากใช้ยา
- ควบคุมอาการของโรคที่เป็นสาเหตุของเชื้อราในปาก เช่น โรคเบาหวาน ให้อยู่ในระดับที่ดี ก็จะสามารถลดการเกิดเชื้อราในช่องปากได้
- หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์ปากหรือน้ำยาบ้วนปากมากเกินจำเป็น เพราะหากใช้มากเกินไปอาจทำให้เกิดการเสียสมดุลของแบคทีเรียในช่องปาก
- เลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่กระตุ้นการเกิดเชื้อราได้
สำหรับทารก คุณแม่ควรดูแลทำความสะอาดช่องปากให้ลูกวันละ 1-2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น โดยเฉพาะหลังกินนมผสม ควรดื่มน้ำสะอาดตามทุกมื้อ หรือใช้ผ้าสะอาด ชุบน้ำอุ่นเช็ดในช่องปาก ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้กับปากของลูก รวมถึงของเล่นก็ไม่ควรมองข้าม ต้องหมั่นทำความสะอาดเพื่อป้องกันเชื้อโรค
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th