กับเทศกาลกินเจที่กำลังจะมาถึง “เด็กกินเจได้ไหม?”
วันเสาร์หน้าก็จะเข้าเทศกาลกินเจกันแล้วนะคะ หลายๆบ้านที่มีเชื้อสายจีนก็คงเข้าร่วมกินเจกันตามเคย แต่ก็น่าจะยังสงสัยกันใช่ไหมว่า “เด็กกินเจได้ไหม?” การกินเจจะทำให้เด็กขาดสารอาหารที่จำเป็นหรือเปล่า หรือควรเป็นเด็กที่โตหน่อยถึงจะกินได้ มีอายุที่แนะนำไหมว่าสามารถกินเจได้ ไม่เป็นอะไร Motherhood เข้าใจดีค่ะ สมัยนี้อะไรๆก็รัดตัว หากจะต้องทำสำรับแยกกันทั้งอาหารเจและอาหารชอ ก็ออกจะวุ่นวายไปสักหน่อย คุณพ่อคุณแม่บางบ้านเลยอาจจะอยากจัดสำรับทีเดียวไปเลย แต่ก็ยังคงกังวลว่าหากให้ลูกๆกินเจตามไปด้วย เด็กๆจะได้รับสารอาหารครบถ้วนตามที่ต้องการต่อวันหรือไม่ ยังไงลองติดตามบทความนี้ดูนะคะ
ความเป็นมาของการกินเจ
การกินเจ ตามพจนนุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึง การถือศีลอย่างญวนและจีนที่ไม่ทานของสดคาว แต่เน้นบริโภคอาหารประเภทผักที่ไม่มีของสดของคาวผสม อาหารที่ได้จากพืชธรรมชาติ และไม่ปรุงด้วยการผัดฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ และงดเว้นน้ำนมสด นมข้นด้วย เพราะถือว่าเป็นของสดของคาวเช่นกัน นอกจากนี้ยังจะต้องไม่ใช้จานชามปะปนกัน และต้องกินอาหารที่คนกินเจด้วยกันเป็นผู้ปรุงขึ้นมาเท่านั้น
การเริ่มต้นกินเจจะอยู่ในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน รวม 9 วัน 9 คืน ตรงกับเดือน 11 หรือเดือนตุลาคมของไทย ซึ่งบนธงจะเขียนตัวอักษรสีแดง อ่านว่า “ไจ” หรือ “เจ” มีความว่า “ของไม่มีคาว” เหตุที่ใช้สีแดงเพราะชาวจีนเชื่อว่าเป็นสีมงคล สร้างความเจริญให้แก่ชีวิต
จุดประสงค์หลักของการกินเจ
- กินเพื่อสุขภาพที่ดี เพราะอาหารเจเป็นอาหารชีวจิต เมื่อกินติดต่อกัน จะทำให้ร่างกายสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกายได้ และปรับระบบต่างๆในร่างกายให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
- กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากทุกๆวันอาหารที่เรากินประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้ที่มีจิตใจดีงามจึงไม่สามารถกินเนื้อของสัตว์เหล่านั้นได้
- กินเพื่อเว้นกรรม เพราะการฆ่าเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรม แม้ไม่ได้ลงมือทำเองก็ตาม เพราะการซื้อผู้อื่นเท่ากับการจ้างฆ่า ถ้าไม่มีคนกิน ก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย ผู้ที่ต้องการละเว้นกรรมถึงหยุดกิน หันมารับประทานอาหารเจแทน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยในช่วงเวลาสั้นๆ
การกินเจแตกต่างกับมังสวิรัติอย่างไร
คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่าการกินเจต่างกับการกินมังสวิรัติอย่างไร เพราะอาหารมังสวิรัติเป็นอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบเช่นเดียวกัน ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ว่ามังสวิรัติสามารถกินผักได้ทุกชนิด แต่ในการกินอาหารเจจะต้องเว้นผักฉุน 5 ประเภท คือ กระเทียม หัวหอม รวมทั้งหอมแดง หอมขาว หัวหอมใหญ่ ต้นหอม หลักเกียว (กระเทียมโทนจีน ไม่ค่อยพบในประเทศไทย) กุยช่าย และใบยาสูบ รวมถึงของเสพติดทุกชนิด และยังต้องประพฤติศีลร่วมด้วย จึงจะเป็นการถือศีลกินเจที่แท้จริง ในขณะที่การกินมังสวิรัติหมายถึงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์เท่านั้น
ให้ลูกกินเจด้วยได้หรือไม่?
- เด็กทารกและเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ร่างกายยังต้องการสารอาหารเยอะ จึงยังไม่ควรให้ลูกรับประทานอาหารเจเป็นอันขาด ทารกและเด็กที่กำลังเจริญเติบโตไม่ควรรับประทานอาหารเจหรืออาหารมังสวิรัติ เพราะจะเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารต่างๆ ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่มาก อาหารเจและอาหารมังสวิรัติจะมีสารอาหารไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอกับทารกที่กำลังเจริญเติบโต
หรืออาจให้กินได้บ้างเป็นบางมื้อตามความสะดวกของคุณพ่อคุณแม่ แต่ต้องไม่เคร่งครัด และต้องให้กินนมและไข่ด้วย - เด็กอายุ 6-13 ปี สามารถกินได้แต่ต้องไม่เคร่งครัด และคุณพ่อคุณแม่ต้องมั่นใจว่าลูกจะได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ ควรให้เขากินนมและไข่ไปตามปกติ
- เด็กอายุตั้งแต่ 14 ปี ขึ้นไป สามารถกินได้ตามปกติเหมือนที่ผู้ใหญ่กินเจ
การกินเจแบบง่ายๆสำหรับเด็ก
- เด็กที่พ้นวัยทารกมาแล้วสามารถกินเจได้ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเคร่งครัดหรือต้องเป็นไปตามกฏเหมือนผู้ใหญ่กินเจเป๊ะ เพราะถึงแม้ว่าจะงดเนื้อสัตว์ก็ควรให้ลูกกินเจแบบได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่
- ควรหาสารอาหารชนิดอื่นมาเพื่อเป็นโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ เช่น การกินข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ ถั่ว โปรตีนเกษตร แต่ก็ยังมีกรดอะมิโนไม่ครบถ้วนเพราะขาดกรดอะมิโนเมทไทโอนีน ดังนั้นจึงต้องรับประทานอาหารจากพืชหลายๆอย่างร่วมกัน จึงจะได้โปรตีนครบถ้วนมากขึ้น
- ควรกินอาหารเจที่เน้นปริมาณแคลเซียมสูง ได้แก่ งาดำ งาขาว สาหร่าย เต้าหู้ ถั่วต่างๆ เป็นต้น
- ให้ลูกกินผลไม้สด เมล็ดธัญพืชอบกรอบ เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน นมถั่วเหลืองผสมธัญพืช ขนมปังไม่ขัดสี ฯลฯ เป็นอาหารว่างเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกหิวง่าย
- ควรมีการเตรียมพร้อมให้ลูกก่อนกินเจ เริ่มโดยก่อน 2 วัน หรือที่เรียกว่าการล้างท้อง ในช่วงนี้ให้รับประทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เปลี่ยนมากินเป็นอาหารที่ย่อยง่าย อาทิ เนื้อปลา นม และไข่แทน พร้อมเพิ่มปริมาณผักให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้
แล้วคนท้องกินเจได้ไหม?
คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่กังวลว่า หากแม่ท้องกินเจตอนตั้งครรภ์ เด็กในท้องจะไม่แข็งแรง เพราะได้รับสารอาหารน้อยกว่าปกติ กลัวว่าลูกในท้องจะขาดสารอาหาร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาวะขาดสารอาหารในคนกินเจมีเหตุผลเดียวกับคนไม่กินเจ นั่นคือ การเลือกกินเฉพาะของที่ชอบ เน้นกินอาหารบางอย่างมากเกินไป และกินอาหารไม่ได้สัดส่วนที่่เหมาะสม แต่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการกินและรับประทานวิตามินเสริม ซึ่งหลักการนี้ใช้ได้กับทุกเพศวัย ไม่ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม
เรื่องความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์และความแข็งแรงของแม่และลูก ขึ้นกับภาวะโภชนาการของคุณแม่เป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับว่ากินเจหรือไม่กินเจ เรื่องความพิการของทารกในครรภ์ก็ไม่สัมพันธ์กับเรื่องของอาหาร ยกเว้นแต่ว่าขาดโฟลิก
หวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะคลายความสงสัยในเรื่องการให้ลูกกินเจแล้วนะคะ สำหรับเด็กเล็กมากยังไม่ต้องให้เข้าร่วมจะดีกว่า หรือสามารถเข้าร่วมได้ตามความสะดวกในการจัดหาอาหารเป็นบางมื้อไป แต่ควรให้เขาได้รับโปรตีนตามปกติ ส่วนเด็กโตหรือเข้าวัยรุ่นแล้ว ก็สามารถกินเจร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆในบ้านได้เลยค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th