Site icon Motherhood.co.th Blog

เมื่อทั้งอินฟลูฯ และคนธรรมดา พากัน “แชร์รูปลูก”

พ่อแม่แชร์รูปลูก

สิทธิเด็กอยู่ตรงไหน ? เมื่อพ่อแม่เอารูปลูกไปลงออนไลน์ตลอดเวลา

เมื่อทั้งอินฟลูฯ และคนธรรมดา พากัน “แชร์รูปลูก”

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตเรามาก และบางทีมันก็มากจนเกินไป ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องสิทธิเด็ก เมื่อพ่อแม่นิยม “แชร์รูปลูก” ในสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่เซเล็บ พ่อแม่จากแวดวงอินฟลูเอนเซอร์ หรือคนธรรมดาก็ตาม ขอบเขตอยู่ที่ตรงไหน ผู้คนในสังคมบางส่วนแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็ก การที่พ่อแม่ลงรูปเด็กเล็กไม่ใส่เสื้อผ้า ก็อาจมีพวกใคร่เด็กเซฟรูปลูกน้อยของคุณไป แต่ผู้คนอีกบางส่วนกลับตำหนิพ่อแม่สายรีวิวทั้งหลายที่ลงรูปหรือวิดีโอของลูกกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้รับมาจากสปอนเซอร์ว่าเป็นการเอาเด็กมาหากินหรือเปล่า ? เด็กยินยอมหรือไม่ที่จะปรากฏตัวในโลกออนไลน์ ?

เด็กบางคนมีตัวตนในโลกออนไลน์ทั้งที่ยังพูดไม่ได้

ยุคสมัยแห่งการเป็นพ่อแม่แบบ ‘Sharenting’

‘Sharenting’ มาจากการรวมกันของ ‘Share’ และ ‘Parenting’ มันคือปรากฏการณ์สมัยใหม่เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับลูก ๆ ของพวกเขาทางออนไลน์ แน่นอนว่า ‘การแบ่งปัน’ ไม่ได้มีเพียงภาพถ่ายและวิดีโอเท่านั้น แต่ข้อมูลที่ละเอียดอ่อน เช่น ชื่อ สถานที่ และวันเกิดก็นับด้วย

คุณคงเคยเห็นวิดีโอของเด็ก ๆ ในโซเชียลมีเดีย ในบางกรณี มีแม้กระทั่งบัญชีที่มีผู้ติดตามเจ็ดหลักที่ทุ่มเทให้กับการลงวิดีโอตลกและน่ารักของเด็กเล็ก บ่อยครั้งที่วิดีโอพวกนั้นถูกโพสต์ซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างชัดแจ้งจากผู้ปกครองหรือเด็ก นอกจากนี้ ครอบครัวบล็อกเกอร์บนแพลตฟอร์มเช่น TikTok และ YouTube กำลังเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น เด็กเหล่านี้จะรู้สึกอย่างไรในภายหลังกับการที่พ่อแม่ของพวกเขาเคยถ่ายทอดเรื่องราวในวัยเด็กของพวกเขาไปสู่คนแปลกหน้าบนอินเตอร์เน็ต

การสำรวจหนึ่งเปิดเผยว่าเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบก็มี ‘ตัวตน’ ในโลกออนไลน์แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจาก ‘Sharenting’ แม้ว่าบ่อยครั้งจะไม่ใช่ความผิดของพ่อแม่ก็ตาม ญาติ ๆ กันเองนี่แหละที่มักจะปล่อยให้ภาพที่มีการแชร์แบบส่วนตัวในกรุ๊ปแชทของครอบครัวหลุดไปยังโซเชียลมีเดียของพวกเขา โดยปกติจะทำโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง

พ่อแม่หลายคนก็แค่อยากแชร์โมเมนท์แห่งความประทับใจ

ปัญหาทางกฎหมายและผลกระทบ

คำถามที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสระในการใช้โซเชียลมีเดียของผู้ปกครองและสิทธิของเด็กที่จะมีความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่บังคับใช้กฎหมายที่กล่าวถึงปัญหานี้โดยเฉพาะ ซึ่งมักจะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก อย่างไรก็ตาม กฎหมายเหล่านี้ก็ยังไม่ถือว่าเข้มงวดเท่าไรนัก

แม้ว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลสามารถลบข้อมูลส่วนใหญ่ที่ยังคงหมุนเวียนอยู่ในโลกออนไลน์ได้ แต่บางส่วนอาจยังหลุดผ่านช่องโหว่ได้อยู่ดี นอกจากนี้ สำเนาออฟไลน์อาจยังคงอยู่และอยู่ในความครอบครองของบุคคลที่เราไม่รู้จักอีกหลายคน ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของ ‘Sharenting’ อาจใช้กฎหมายนี้เมื่อพวกเขามีอายุมากขึ้น แต่มีเพียงไม่กี่คนที่เลือกที่จะทำเช่นนั้นเนื่องจากความยุ่งยากของกระบวนการ

ในฝรั่งเศส เด็ก ๆ มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องพ่อแม่ที่โพสต์รูปภาพของตนบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หากพบว่ามีความผิด ผู้ปกครองอาจถูกจำคุกสูงสุดหนึ่งปีและปรับสูงสุด 45,000 ยูโร อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก กฎหมายดังกล่าวไม่มีอยู่จริง

หาก ‘Sharenting’ เกิดขึ้นภายใต้ความยินยอมของเด็กละ ?

ภายใต้บทบาทของแม่เลี้ยงเดี่ยวและเจ้าของธุรกิจร้านขนมออนไลน์เปี๊ยะฟินบายมายาที่ค่อนข้างรัดตัว คุณรสริน ศิลปกัลป์ จึงใช้การแชร์เรื่องราวความน่ารัก ความกวน ความช่างพูดช่างเจรจาของลูกสาวคนเดียวของเธอลงในเฟซบุ๊กให้เป็นเสมือนบันทึกส่วนตัวเรื่องลูก MTH จึงเลือกที่พาเธอและน้องมายา ศิลปกัลป์ ลูกสาว มาร่วมแบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นการแชร์ภาพ วิดีโอ และเรื่องราวของลูกสาววัย 7 ขวบคนเดียวของเธอลงในโซเชียลมีเดีย

คุณรสรินและน้องมายาถ่ายรูปด้วยกันระหว่างเที่ยวพักผ่อน

น้องมายาอายุเท่าไหร่ในวันที่เราตัดสินใจลงรูป คิดอย่างไรถึงตัดสินใจลง ?

จริง ๆ เป็นคนที่ถ่ายรูปและวิดีโอเก็บไว้เองอยู่แล้ว ลงตั้งแต่เริ่มตั้งแต่ตรวจรู้ว่าท้อง จนกระทั่งฝากครรภ์ จนกระทั่งคลอด จนถึงปัจจุบัน ก็เลยไม่ได้ใช้คำว่าตัดสินใจน่ะ รู้สึกมันเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับลูกก็คือส่วนหนึ่งชีวิตเรา ในร่างกายเรา รู้สึกแบบนั้นน่ะค่ะ แล้วก็ลงรูปลูกก็เหมือนลงรูปตัวเอง ลงบ่อยกว่ารูปตัวเองด้วย เพราะว่ามันก็เห่อลูกน่ะ สัญชาติญาณของความเป็นแม่แหละ

ช่วงที่น้องเริ่มรู้ความแล้วเราได้ถามความยินยอมจากน้องหรือมีการพูดคุยประเด็นนี้บ้างไหม ?

ก็ได้พูดคุยค่ะ คือตั้งแต่เขารู้ความเนี่ยก็คือขอทุกครั้ง แต่ก็จะมีที่พูดคุยอนุญาตกันไว้ สมมติว่าถ่ายเวลาหลับ ก็จะแบบแม่ เวลาหนูหลับเนี่ย คือเด็กหลับก็จะอนุญาตกันไม่ได้อยู่แล้วเนอะ ก็จะคุยกันไว้ว่าถ้าถ่ายรูปลงได้ไหม ลงเฟซบุ๊กได้ไหม ก็นางก็อนุญาต นางก็บอกว่าถ้าแม่มีความสุขอะไรก็ทำ ก็ถ่ายเป็นปกติ แต่ก็มีเหมือนกันที่บางครั้งถ่ายมาในตอนที่นางหงุดหงิดหรือว่ามีความไม่โอเค ไม่เอา ไม่ลง ก็คือไม่ลง เราก็เคารพในการตัดสินใจของเขาน่ะ ถ้าเขาไม่โอเคเราก็ไม่ลงอยู่แล้ว

แสดงว่าตั้งแต่น้องเริ่มรู้ความ สัก 3-4 ขวบก็ได้มีการคุยเรื่องนี้กัน ?

ตั้งแต่ก่อนกระแสสิทธิเด็กมา กฎหมายหรือว่าอะไร คือก่อนหน้าที่มันจะเป็นกระแสอีก

ในโซเชียลมีเดียของร้านขนมมีการลงรูปน้องถ่ายโปรโมทสินค้าด้วย มีการพูดคุยเหมือนที่ลงรูปในเฟซบุ๊กส่วนตัวไหม ?

ใช่ ก็คือมันเป็นการปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ๆ แล้วว่าเขาก็เป็นส่วนหนึ่งในกิจการ มันต้องช่วยกันแล้วก็เป็นหน้าที่น่ะ อะไรที่ช่วยได้ก็ช่วย ง่ายที่สุดสำหรับเด็กเนี่ยก็คือช่วยในการถือขนมโปรโมท แล้วก็คือนางก็ไม่ได้ช่วยแค่การโปรโมทนะ เหมือนกับเขาก็รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของกิจการจริง ๆ น่ะ ก็มีการเสนอตัวช่วยทุกอย่างที่คิดว่าตัวเองช่วยได้ แต่บางอย่างมันก็เด็กน่ะ เด็กมันไม่ได้ทำได้ทุกอย่างเนอะ ทุกวันนี้ก็ช่วยทำขนมบ้าง ช่วยหยิบของ ช่วยชิมขนมสูตรใหม่ ๆ ว่ารสชาติแบบนี้เด็กจะชอบไหม เหมือนกับช่วยเราปรับสูตรด้วยว่าต้องปรับรสชาติยังไง ช่วยแต่งรูปด้วย แต่ก็แต่งแบบงู ๆ ปลา ๆ แต่งเรื่อยเปื่อยของนาง แต่ก็มีการที่พยายามทำคลิปตามประสาเด็กน่ะ เอาขนมไปทำนู้นทำนี้ พยายามที่จะช่วยกิจการ ช่วยเป็นที่ปรึกษาในเวลาที่กิจการมีปัญหาเรื่องพนักงานหรืออะไรที่เรารู้สึกว่าเราพูดคุยกับใครไม่ได้ ก็จริง ๆ เราคิดว่าลูกน่ะสามารถช่วยงานได้มากกว่าที่เราคิดนะ ถ้าเราบอกเราพูดหรือขอความช่วยเหลือไป แล้วก็ทำได้ดีด้วยซ้ำ แบบที่ไม่ใช่งานหนักเกินกว่าความสามารถของเด็กน่ะค่ะ

น้องมายาช่วยกิจการโดยการถ่ายรูปเพื่อโปรโมทขนม

เป็นการให้น้องช่วยงานในฐานะที่วันนึงต้องมารับช่วงต่อกิจการอยู่แล้ว ?

แล้วความแตกต่างระหว่างโซเชียลของร้านกับส่วนตัวน่ะมันต่างกันนะ เพราะว่าส่วนตัวเนี่ยจะเป็นเล่าโดยทั่วไป ชีวิตประจำวันว่าพูดคุยกัน เหมือนกับสมุดไดอารี่น่ะ มันไม่ได้เป็นอะไรเท่ากับตอนที่โปรโมทสินค้าอยู่แล้ว

หลังจากที่เริ่มมีกระแสเรื่องนี้มากขึ้น มันมีผลต่อการตัดสินใจเราไหม ?

ถ้าหมายถึงปัจจุบันเนี่ย ลูกก็โตแล้วเนอะ ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเพราะก็มีการถามมาก่อนหน้านี้ แต่ถ้านึกย้อนกลับไปตอนเด็ก ๆ น่ะ ก็มีความรู้สึกเหมือนกัน ตอนที่เป็นกระแสมาเราก็รู้สึกนะว่าเราก็อาจจะคิดน้อยไป ก็เป็นการละเมิดสิทธิของลูกจริง ๆ แต่ก็ไม่ถึงขั้นซีเรียสอะไรมากเพราะว่ามายาเองเวลาให้ดูรูปตอนที่ตัวเองเด็ก ที่ลงในโซเชียลต่าง ๆ ก็มีปฏิกิริยาที่มันก็ค่อนข้างโอเค หนูน่ารักนะ หนูน่ารักดี อันนี้ตลกดี อะไรอย่างนี้ คือยังไม่เคยเจอที่นางบอกไม่โอเค อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่ได้ลงอะไรที่ .. ไม่แกล้ง

เราเองก็กรองก่อนลงอยู่แล้วระดับหนึ่ง ?

ใช่ แล้วก็ไม่ได้ลงอะไรที่แบบเห็นร่างกายของเด็กขนาดนั้นไงคะ เขาก็เลยโอเค แต่ในทางกลับกันถ้าลูกมีปฏิกิริยาไม่โอเคในการดูรูปเก่า ๆ ที่เราเคยลงเอาไว้ เราก็คงซีเรียสกว่านี้ แล้วก็อาจจะมีการตัดสินใจลบ

การใช้สื่อออนไลน์ของน้องเป็นอย่างไรบ้าง มีมาตรการสอดส่องดูแลอย่างไร ?

ก็มีเล่นโซเชียลทั่ว ๆ ไปเลยค่ะ เฟซบุ๊ก ไลน์ก็มีเพราะว่าต้องคุยไลน์กับครอบครัวอยู่แล้ว มี TikTok แล้วก็มี YouTube ประมาณนี้ ก็มีการตกลงกันนะเรื่องการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เพราะว่ายังไม่อนุญาตให้คอมเมนท์ตอบโต้กับคนภายนอก ไม่อนุญาตให้แอดใครหรือรับแอดใคร เพราะทุกบัญชีเนี่ยเป็นบัญชีของแม่ เหมือนกับสมัครให้ ก็จะมีรหัสเข้า แล้วก็ทำการตกลงว่าเช็คได้ตลอดนะ จะรู้หมดว่ามายาเนี่ยใช้อะไรแบบไหน มีพฤติกรรมยังไง เป็นเรื่องที่คุยไว้ตั้งแต่แรกเลย เขาเลยไม่สามารถที่จะรู้สึกว่าเราไปก้าวล่วงพื้นที่ส่วนตัวของเขาได้ เพราะว่าพุดคุยกันแต่แรกไงคะ คุยกันว่าถ้าวันหนึ่งไม่โอเคกับการตรวจเช็คเนี่ย หรือมีการละเมิดข้อตกลงเนี่ย แม่มีสิทธิ์ปิดบัญชีและยกเลิกการใช้งานได้ทันทีในทุกบัญชีเลยค่ะ

คือให้เขาแค่ดูคลิป ดูรูปน่ารัก ๆ แค่นั้นใช่ไหม ?

ใช่ แต่ยังไม่ให้คุยกับใคร ถ้ามีใครมาคอมเมนท์ก็ยังไม่มีสิทธิ์ในการตอบกลับ ไม่ว่าเขาจะมีคำถามหรือใด ๆ ก็ตาม ก็คือไม่ให้โต้ตอบกับใครเลยค่ะ

น้องมายารู้สึกว่านี่เป็นหน้าที่ในฐานะส่วนหนึ่งของกิจการ

น้องมายารู้ตัวตอนไหนว่าคุณแม่เอารูปเอาวิดีโอเราไปลงโซเชียล แล้วรู้สึกอย่างไร ?

หนูก็รู้สึกว่าหนูเกิดมาพร้อมกับสิ่งนี้เลย หนูก็เลยคิดว่ามันเป็นปกติ รู้สึกว่าปกติมากเลยค่ะ ธรรมดาค่ะ

พอหนูเริ่มรู้ความ เริ่มรู้จักว่ามันมีโซเชียลมีเดีย หนูก็เห็นว่ามีการลงรูปหนูเลย ?

ใช่ค่ะ แต่แม่ก็ให้หนูดูรูปตลอดด้วยค่ะเวลาโพสต์

ตอนที่ได้คุยเรื่องนี้กับคุณแม่อย่างจริงจังรู้สึกอย่างไร ?

หนูรู้สึกว่ามันเป็นสิทธิของตัวเองที่จะบอกว่าลงได้หรือลงไม่ได้ค่ะ

หนูมั่นใจที่จะแสดงออกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยที่คุณแม่จะลงรูปเราถูกไหม ?

ถูกค่ะ

แล้วหนูรู้สึกอย่างไรกับการถ่ายรูปไปลงเพื่อโปรโมทร้าน ต่างหรือเหมือนกันกับการลงในโซเชียลส่วนตัวของคุณแม่ ?

อ๋อ หนูรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของหนูน่ะค่ะ หนูเต็มใจทำมาก ๆ เพราะว่ามันเป็นกิจการของหนูเลย หนูเลยชอบช่วยแม่มากเลยค่ะ

เคยถามเพื่อน ๆ ไหม ว่าพ่อแม่ของเพื่อนเอารูปเพื่อนไปลงหรือเปล่า ?

ไม่เคยเลยค่ะ ไม่ทราบเหมือนกันน่ะค่ะ

ก็ไม่เคยเห็นเหมือนกันใช่ไหม ?

ใช่ค่ะ หนูก็ไม่เคยดูโพสต์ของเพื่อนเลย

หนูมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับสิทธิของเด็ก ในการที่พ่อแม่เอารูปของเด็กไปลงโซเชียล รวมทั้งในแง่ความอันตรายอื่น ?

หนูรู้สึกว่ามันก็ดีนะคะ ที่ควรถามลูกถึงแม้ลูกจะเป็นเด็ก เพราะมันมีกฎหมายใหม่ค่ะ ว่าถ้าถ่ายติดหน้าคนที่เขาไม่อนุญาตแล้วเอาไปลงโซเชียล จะได้ไม่มีปัญหาหรือการขัดแย้งกันทีหลังค่ะ

อยากแนะนำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้พ่อแม่หรือเด็ก ๆ คนอื่นบ้าง ?

เราควรคุยกันในครอบครัวก่อนค่ะว่าโอเคไหม หรือว่าเพื่อน ๆ โอเคไหม ถ้าครอบครัวเราโอเคก็ไม่ต้องสนใจคนอื่นหรอกค่ะ

——————————————————————————————————————————-

เด็ก ๆ เขารู้เยอะและคิดเป็นมากกว่าที่เราเข้าใจเสียอีก ดังนั้น การพูดคุยกันในครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากพ่อแม่สื่อสารกับลูกตลอดไม่ว่าคุณจะตัดสินใจทำอะไร เราเชื่อว่าเด็ก ๆ สามารถที่จะให้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลกับคุณได้อย่างดีเลยละค่ะ อย่าปล่อยให้ ‘Sharenting’ กลายเป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำร้ายลูกของคุณนะคะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th