มีไข้สูงนาน ตาแดง สัญญาณเตือน “โรคคาวาซากิ”
“โรคคาวาซากิ” (Kawasaki disease) คือ กลุ่มอาการของโรคที่ประกอบด้วยไข้สูง ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เยื่อบุผิว หลอดเลือด และต่อมน้ำเหลืองที่คอโต พบบ่อยในเด็กชาวเอเชีย โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และ ประเทศจีน ส่วนในเด็กชาวยุโรปและอเมริกายังพบได้น้อย และยิ่งพบได้น้อยมากในเด็กชาวผิวดำ โดยพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงเล็กน้อย โรคนี้พบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย แต่ยังไม่ทราบถึงอุบัติการณ์ที่แน่ชัด และไม่มีส่วนสัมพันธ์กับฤดูกาล
โรคคาวาซากิ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะ เฉียบพลัน (Acute stage)
- ระยะ Subacute stage
- ระยะ Convalescent stage
ดังนั้น การวินิจฉัยโรคให้พบตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะ ภายใน 5-7 วันแรกของโรคจึงมีความสำคัญมาก จะได้รีบทำการรักษาและป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นที่หัวใจและเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (Coronary artery)
สาเหตุของโรค
สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวกับทางพันธุกรรม (Genetic) ร่วมด้วย มักพบในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 8 ปี และจะพบมากในช่วงอายุ 1-5 ปี ซึ่งจะพบได้ในเด็กทั้งสองเพศ แต่มักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง
อาการของโรค
- เด็กจะมีไข้สูง หากไม่ได้รับการรักษาไข้จะสูงนาน ประมาณ 1-2 สัปดาห์
- อาการตาแดง โดยเยื่อบุตาขาวจะแดงทั้ง 2 ข้าง แต่ไม่มีขี้ตา เกิดอาการหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน และเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์
- มีการเปลี่ยนแปลงของริมฝีปากและภายในช่องปาก โดยริมฝีปากแดงแห้ง เป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผิวหนังริมฝีปากอาจแตกแห้ง เลือดออกและผิวหนังหลุดลอกได้ ภายในเยื่ออุ้งปากจะแดง ลิ้นก็จะแดงคล้ายลูกสตรอเบอรี่ (Strawberry tongue)
- ฝ่ามือและฝ่าเท้าจะบวมแดงแต่ไม่เจ็บ หลังจากนั้นจะมีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า ในช่วงประมาณ 10-14 วันหลังมีไข้ และอาจลามไปที่ฝ่ามือฝ่าเท้า บางรายเล็บอาจหลุดได้ หลังจากนั้นบางรายจะมีรอยขวางที่เล็บ (Beau’s line) ในช่วง 1-2 เดือน
- มีผื่นขึ้นตามตัวและแขนขา มักเกิดหลังมีไข้ 1-2 วัน และเป็นได้หลายแบบ ผื่นจะอยู่นานประมาณ 1 สัปดาห์ บางรายมีผื่นแถวอวัยวะเพศร่วมด้วย และพบประมาณ 60% มีผื่นแดงขึ้นที่บริเวณฉีดวัคซีนกันวัณโรคที่หัวไหล่
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต โดยพบประมาณร้อยละ 50-70 ของผู้ป่วย มีขนาดโตกว่า 1.5 ซม. แต่ไม่เจ็บ
- อาการแสดงอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย ได้แก่ ปวดตามข้อ ทางเดินปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ปวดท้อง ท้องเสีย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานของตับ และบางรายมีอาการช็อก
ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงไม่ครบตามข้อกำหนด เราเรียกภาวะนี้ว่า Incomplete Kawasaki Disease หรือ Atypical Kawasaki Disease
ภาวะแทรกซ้อนที่พบ
หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบโป่งพอง (Coronary aneurysm) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที ภายใน 7 วันแรกของโรค
การตรวจพบภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะต้องอาศัยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ถ่ายภาพรังสีทรวงอก และการตรวจโดยใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) ตอนเริ่มเป็นโรคและหลังการรักษาเพื่อดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ และ/หรือหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจและหรือหลอดเลือด ก็จะต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องตามความรุนแรงของโรค
การดูแลรักษาผู้ป่วย
การดูแลรักษาต้องอาศัยการดูแลร่วมกันระหว่างกุมารแพทย์ทั่วไปและกุมารแพทย์โรคหัวใจ โดยผู้ป่วยที่ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคคาวาซากิควรได้รับยา Intravenous Gammaglobulin (IVIG) ในขนาดสูงงเพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจและหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ลดการอักเสบผนังหลอดเลือดเพื่อไม่ให้เกิดการโป่งพองและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ร่วมกับการให้ยากันเลือดแข็งตัว (Aspirin) แต่มีโอกาสประมาณ 10 % ที่ผู้ป่วยจะดื้อต่อการรักษา ต้องให้ยาเพิ่ม
สำหรับผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาด้วยยา Intravenous Gammaglobulin (IVIG) จะต้องเว้นการรับวัคซีนชนิดมีตัวเป็นเวลา 7-9 เดือน นับจากได้รับยารักษา
โรคนี้สามารถเกิดเป็นซ้ำได้ประมาณ 3-3.5 % หรือ 6.89 คนต่อผู้ป่วยเด็ก 1000 ราย ต่อปี โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่มีโรคแทรกซ้อน และพบได้บ่อยในเด็กที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน หรือมีสายสัมพันธ์กันทางสายเลือด โดยพบประมาณ 1-2%
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th