โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด อีกโรคที่พบบ่อยในทารก
เรื่องสุขภาพของลูกเป็นสิ่งที่คนเป็นพ่อแม่ล้วนกังวลมากที่สุดเลยนะคะ โดยเฉพาะตอนที่เขายังเป็นทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด” ที่พบได้บ่อยในเด็ก และหากมีภาวะแทรกซ้อนมากก็ส่งผลถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น Motherhood จึงจะนำแนะโรคนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้จักกันเอาไว้ค่ะ
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart disease) เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก มันคือภาวะหัวใจล้มเหลว เพราะหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ทำให้เกิดอาการเหนื่อย หายใจเร็ว น้ำหนักตัวขึ้นช้า หรือมีขนาดตัวที่เล็กกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านพยาธิสภาพ อาการ และอาการแสดง ดังนั้นการรักษาและการดูแลจึงต้องแตกต่างกันไปตามแต่ละกรณี แต่หากได้รับการวินิจฉัยล่าช้า สามารถส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้
สาเหตุของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดนัก แต่ความปกตินั้นเกิดขึ้นในขั้นตอนการสร้างอวัยวะตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งอาจมีส่วนสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสในช่วง 3 เดือนแรก หรือเกิดจากกรรมพันธุ์
ชนิดของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
1. ชนิดเขียว
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าชนิดมีอ็อกซิเจนในเลือดต่ำ เกิดจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด หรืออย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้เลือดดำปนกับเลือดแดงที่ไปหล่อเลี้ยงร่างกาย ส่งผลให้ทารกเกิดภาวะขาดอ็อกซิเจน ผิวจึงมีสีเขียวคล้ำอมม่วง ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนตอนทารกร้องไห้หรือดูดนม อาการเขียวมักพบได้ตามปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปากมาแต่กำเนิด หรือค่อย ๆ เขียวมากขึ้นหลังคลอด ในรายที่มีอาการเขียวมากและเรื้อรัง จะพบว่ามีนิ้วมือหรือนิ้วเท้าปุ้ม นอกจากนี้อาจยังมีความผิดปกติอื่น ๆ ที่ค่อนข้างรุนแรง
โรคหัวใจชนิดที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้คือ ชนิดที่มีรูรั่วที่ผนังกั้นระหว่างห้องล่างของหัวใจร่วมกับการตีบของทางออกของห้องล่างขวา (Tetralogy of Fallot หรือ TOF) โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดที่มีอาการตัวเขียวชนิดอื่นๆ ที่สามารถพบได้ เช่น
- ชนิดที่เส้นเลือดใหญ่ของหัวใจและปอดสลับกัน (Transposition of great artery หรือ TGA)
- ความผิดปกติของเส้นเลือดปอดที่นำเลือดกลับมายังหัวใจ (Total anomalous pulmonary venous connection หรือ TAPVC)
- โรคหัวใจพิการแบบซับซ้อน (Cyanotic complex congenital heart disease)
2. ชนิดไม่เขียว
เกิดขึ้นจากความผิดปกติในโครงสร้างของระบบหลอดเลือดและหัวใจ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไม่เกิดการผสมกันของเลือดดำและเลือดแดง โดยความผิดปกติอาจเกิดขึ้นบริเวณผนังกั้นหัวใจมีรูลิ้นหัวใจที่ปิดไม่สนิท (รั่ว) หรือไม่กว้างเท่าปกติ (ตีบ)
โรคหัวใจชนิดที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้คือ การมีรูรั่วของผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจห้องล่าง (Ventricular septal defect หรือ VSD) โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดที่ไม่มีอาการตัวเขียวชนิดอื่นๆ ที่สามารถพบได้บ่อย เช่น
- การมีความผิดปกติของเส้นเลือดใหญ่ระหว่างหัวใจและปอด (Patent ductus arteriosus หรือ PDA)
- การมีรูรั่วของผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจห้องบน (Atrial septal defect หรือ ASD)
- การมีรูรั่วของผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจห้องบนและล่าง (Atrioventricular septal defect หรือ AVSD)
อาการของโรค
อาการสามารถเริ่มได้จากไม่มีอาการเลย จนถึงอาการรุนแรง ส่วนอาการที่มักพบได้บ่อยและทำให้พ่อแม่สงสัยว่าลูกน้อยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือไม่ มีดังนี้
- เหนื่อยง่ายเมื่อเทียบกับเด็กปกติ ในทารกจะพบว่าต้องใช้เวลานานในการดูดนม ดูดนมแล้วพักบ่อย หายใจเร็ว หายใจแล้วจมูกหรือซี่โครงบาน
- ลิ้นเขียว เยื่อบุตา ริมฝีปาก ปลายมือ ปลายเท้าเป็นสีคล้ำ
- ติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัดหรือปอดบวมบ่อย
- การเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
- ลักษณะภายนอกผิดปกติเข้าได้กับกลุ่มที่มีความผิดปกติของโครโมโซม เช่น กลุ่มอาการดาวน์
- หน้าอกผิดรูป ยุบหรือโป่งมากผิดปกติ นิ้วปุ้ม
- หัวใจเต้นเร็วและแรงผิดปกติ
การตรวจวินิจฉัยโรค
ควรให้ทารกได้รับการตรวจเบื้องต้นโดยกุมารแพทย์ทั่วไป จากนั้นให้มีการตรวจยืนยันเพิ่มเติมโดยกุมารแพทย์โรคหัวใจอีกครั้ง โดยขั้นตอนการตรวจจะเริ่มจากการตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น การฟังเสียงหัวใจ หลังจากนั้นกุมารแพทย์โรคหัวใจจะพิจารณาการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นหัวใจ เอ็กซเรย์หัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง และการสวนหัวใจ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน
การรักษา
- รักษาด้วยยา เพื่อเป็นการประคับประคองอาการในทารกรายที่มีความผิดปกติไม่มากและสามารถหายได้เอง
- รักษาด้วยการสวนหัวใจ ทำการรักษาในรายที่สามารถใส่อุปกรณ์สายสวนหัวใจได้ เช่น ภาวะผนังกั้นหัวใจห้องบนหรือห้องล่างรั่ว หรือทำบอลลูนให้ในรายที่มีอาการตีบของลิ้นหัวใจ
- รักษาด้วยการผ่าตัด มักใช้ในรายที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล ซึ่งการผ่าตัดส่วนใหญ่มักได้ผลดี
คำแนะนำสำหรับทารกที่มีอายุแรกเกิดถึง 1 ปี
- ในทารกบางรายอาจต้องมีการจำกัดปริมาณนม และอาจไม่สามารถรับนมแม่ได้
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารเสริมชนิดที่มีรสเค็ม
คำแนะนำสำหรับทารกที่อายุมากกว่า 1 ปี
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และให้พลังงานสูง
- ควรได้รับวัคซีนคุ้มกันเหมือนเด็กปกติและต้องได้รับวัคซีนเสริมบางชนิด
- หมั่นดูแลสุขภาพของช่องปากและฟัน เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ รวมทั้งไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจฟัน และต้องแจ้งแก่ทันตแพทย์ว่าเป็นโรคหัวใจ
- ป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยหลีกเลี่ยงการพาทารกไปในที่ชุมชน
- ดูแลเรื่องการขับถ่าย ฝึกการขับถ่ายให้เป็นนิสัย
- งดออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือกิจกรรมที่ใช้กำลังมาก
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th