Site icon Motherhood.co.th Blog

โรคไข้เลือดออก กลับมาระบาดอีกแล้วในหน้าฝนนี้

โรคไข้เลือดออกระบาด

โรคไข้เลือดออกกำลังระบาดในหน้าฝนอย่างนี้ ผู้ปกครองต้องระวัง

โรคไข้เลือดออก กลับมาระบาดอีกแล้วในหน้าฝนนี้

เรารู้จัก “โรคไข้เลือดออก” กันมานานแล้วนะคะ และในช่วงหน้าฝนอย่างนี้มันก็กลับมาระบาดอีกครั้ง อีกทั้งยังพบได้มากในแทบจะทุกเพศทุกวัย ต่างจากสมัยก่อนที่พบในเด็กเล็กเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่คนเป็นพ่อแม่อย่างเรา ๆ ก็กังวลว่าลูกรักจะติดเชื้อไข้เลือดออกแบบรุนแรง ดังนั้น วันนี้เราจะมาดูข้อสังเกตและสัญญาณอันตรายของการเป็นไข้เลือดออกชนิดรุนแรงกันค่ะ

โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever)

สาเหตุของโรค

ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่าไวรัสเดงกี (Dengue virus) เชื้อไวรัสนี้ติดต่อในคนโดยการถูกยุงลายกัด ซึ่งทั้งยุงลายบ้าน (ที่มักวางไข่ในภาชนะซึ่งมีน้ำในบ้าน) และยุงลายสวน (ที่มักวางไข่ในที่ที่มีน้ำขังนอกบ้าน) สามารถนำเชื้อไวรัสนี้มาสู่คนได้ เชื้อไวรัสเดงกีมีระยะฟักตัวในยุงลายประมาณ 8-10 วัน หลังจากที่ถูกกัดแล้วจะมีระยะฟักตัวในคนประมาณ 5-8 วัน

เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ที่แพร่ในยุงลาย

เชื้อไวรัสเดงกีปัจจุบันมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เดงกี่-1, เดงกี่-2, เดงกี่-3 และ เดงกี่-4 ซึ่งทั้ง 4 สายพันธุ์จะมี Antigen ร่วมบางชนิด จึงทำให้มีปฏิกิริยาข้ามกัน (Cross reaction) และการต้านเชื้อข้ามกัน (Cross protection) ได้ในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่งแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีชนิดนั้นตลอดไป (Long lasting homotypic immunity) และจะมีภูมิคุ้มกัน Cross protection ต่อชนิดอื่น (Heterotypic immunity) ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 6-12 เดือน ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีไวรัสเดงกีชุกชุมอาจมีการติดเชื้อ 3-4 ครั้งได้

ปัจจัยเสี่ยงของโรค

โดยทั่วไปสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงต่อการติดโรคแบบรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

วิธีการติดต่อโรค

โรคสามารถติดต่อกันได้โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ และในชนบทบางพื้นที่จะมียุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดเป็นรายต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้

อาการของโรค

ไข้เลือดออกอาจแสดงอาการเพียงไข้อย่างเดียว ซึ่งในบางคนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปวดตามเนื้อตัว ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ อาจมีผื่นแดงขึ้น และบางรายอาจมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล หรือเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร แต่โดยปกติผู้ป่วยมักไม่มีอาการไอหรือน้ำมูก

อาจมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย

ระยะของโรค

1. ระยะไข้สูง

ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงร่วมกับอาการต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น ระยะนี้จะใช้เวลาราว 3-7 วัน เมื่อได้รับยาลดไข้ ไข้ก็จะลง หลังจากหมดฤทธิ์ยา ไข้ก็จะกลับสูงขึ้นอีก ในระยะนี้ถ้าไม่มีเลือดออกมาก โดยปกติไม่ทำให้เกิดอาการที่รุนแรงนัก ผู้ป่วยอาจดูซึมลง รับประทานอาหารได้น้อยลง ระยะนี้เป็นระยะที่ตรวจพบไวรัสเดงกีในเลือด และถ้ายุงมากัดผู้ป่วย ยุงก็จะเป็นพาหะของโรคต่อไป

2. ระยะวิกฤต

ผู้ป่วยบางคนหลังไข้ลงแล้วจะเข้าสู่ระยะนี้ ซึ่งจะมีการรั่วของน้ำเหลืองออกนอกเส้นเลือด ทำให้มีอาการเหมือนสูญเสียของเหลวหรือเลือดจากร่างกาย จึงมีความดันเลือดต่ำจนถึงอาการช็อกได้ ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น เด็กบางคนจะดูตัวลาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในระยะนี้ผู้ป่วยบางคนอาจมีเลือดออกมาก โดยเฉพาะในทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการช็อกได้มากขึ้น ระยะนี้โดยทั่วไปจะกินเวลาราว 1-2 วัน

3. ระยะฟื้น

หลังระยะไข้สูงผ่านพ้นไปก็จะเข้าสู่ระยะนี้ทันที บางคนถ้าเข้าสู่ระยะวิกฤตแล้ว 1-2 วัน ก็จะเข้าสู่ระยะนี้ ผู้ป่วยจะเริ่มอยากรับประทานอาหารมากขึ้น มีผื่นแดงที่มีวงขาวขึ้นตามตัว มีอาการคันตามตัวและตามฝ่ามือฝ่าเท้า ระยะนี้เป็นระยะที่ผู้ป่วยกำลังจะหายจากโรคและเป็นระยะปลอดภัย

การวินิจฉัยโรค

เนื่องจากอาการของโรคไข้เลือดออกในระยะแรก ๆ อาจจะคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้จากสาเหตุอื่น ดังนั้น นอกเหนือจากการสังเกตอาการและซักประวัติของผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจเพิ่มเติมและตรวจทางห้องปฏิบัติการ ดังนี้

การรักษาโรค

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นไปตามอาการ โดยจุดมุ่งหมายคือทำให้ร่างกายของผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งในรายที่อาการไม่รุนแรงโรคก็อาจหายได้เองภายใน 2-7 วัน

กำจัดยุงในแหล่งที่อาจมีน้ำขังอย่างสม่ำเสมอ

การป้องกันโรค

สิ่งสำคัญคือการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดโดยสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด ใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงชนิดต่าง ๆ เช่น DEET และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและใกล้เคียง โดยการไม่ให้มีน้ำขังในภาชนะ ปิดภาชนะที่ใส่น้ำเพื่อไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ได้ เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ เช่น แจกัน ทุกสัปดาห์ ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว ต้องหมั่นปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาดปราศจากเศษวัสดุที่อาจมีน้ำขัง

ในปัจจุบันกำลังมีการศึกษาถึงวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกอยู่นะคะ Motherhood ก็หวังว่าเรามีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพออกมาให้ได้ใช้กันในเร็ววันค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th