Site icon Motherhood.co.th Blog

Thailand Only! “ฉีดวัคซีนแบบผสมสูตร” WHO ท้วงแล้วว่าอันตราย

ไทยฉีดวัคซีนแบบผสมสูตร

WHO ออกโรงเตือน การฉีดวัคซีนผสมสูตรยังไม่มีงานวิจัยรองรับมากพอ

Thailand Only! “ฉีดวัคซีนแบบผสมสูตร” WHO ท้วงแล้วว่าอันตราย

จากการที่คณะกรรมการโรคติดต่อได้มีมติให้มีการ “ฉีดวัคซีนแบบผสมสูตร” เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 โดยให้เหตุผว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในไทยและมีผลการศึกษารองรับ แต่ทางหัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนถึงอันตรายจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบผสมสูตร

WHO ออกมาท้วงเรื่องการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตร

ดร. ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลกเตือนว่า การสร้างภูมิคุ้มกันโดยจับคู่วัคซีนจากผู้ผลิตที่แตกต่างหลากหลายรายมาผสมกัน ซึ่งหลายประเทศกำลังดำเนินการอยู่นั้นถือเป็นแนวโน้มที่อันตราย เพราะยังมีข้อมูลการวิจัยว่าด้วยการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตรอยู่น้อยมาก จนไม่อาจจะทราบได้ว่าจะมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง

ดร. ซุมยา สวามินาธานเตือนว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบผสมสูตรมีแนวโน้มที่อันตราย

“การจับคู่ผสมวัคซีนต่างชนิดเข้าด้วยกันเป็นกระแสความนิยมที่ค่อนข้างเสี่ยง เรายังอยู่ในขั้นที่ปราศจากข้อมูลหลักฐานใด ๆ ที่จะมาสนับสนุนเรื่องนี้ สถานการณ์ในอนาคตอาจตกอยู่ในความปั่นป่วนได้ หากประชาชนเริ่มตัดสินใจกันเองว่าจะฉีดวัคซีนเข็มที่สอง สาม สี่ หรือไม่ อย่างไร และจะฉีดเมื่อใดแน่” ดร. ซุมยากล่าว

องค์การอนามัยโลกออกมาแถลงเตือนดังข้างต้น หลังจากที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติของไทยมีมติเห็นชอบให้ฉีดวัคซีนต่างชนิดร่วมกันได้ โดยผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 ให้ฉีดเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยฉีดเว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา

นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อฯ ยังมีมติรับทราบเรื่องการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือบูสเตอร์โดสสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยกระตุ้นภูมิจะเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งเป็นชนิดไวรัลเวกเตอร์เป็นหลัก เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายของซิโนแวค ซึ่งผู้เชี่ยวชาญไทยพบว่าการให้วัคซีนคนละชนิดกันจะมีผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น

ต่อมา ดร. ซุมยาได้ทวีตข้อความอธิบายความเห็นของเธอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนผสมสูตรว่า หากเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลก็เป็นสิ่งที่กระทำได้

“ประชาชนไม่ควรตัดสินใจเองในเรื่องนี้ แต่ควรเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่” ดร. ซุมยาทวีต “เรายังต้องรอผลการศึกษาเกี่ยวกับการให้วัคซีนผสมสูตร ทั้งข้อมูลในส่วนของภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องประเมิน”

ดร. ซุมยา หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกยังกล่าวเสริมอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีนเข็มที่สาม หากได้รับวัคซีนครบโดสพื้นฐานไปเรียบร้อยแล้ว แต่ดร. ซุมยาก็ไม่ได้ปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ที่อาจต้องฉีดวัคซีนเข็มที่สามกันในอนาคต

คนไทยไม่ได้เลือกที่จะฉีดผสมสูตรเอง แต่นโยบายรัฐเลือกให้

ไทยจะทำอย่างไรต่อ ?

ปัจจุบันวัคซีนโควิดที่ประเทศไทยใช้มี 2 ชนิดคือวัคซีนเชื้อตาย ได้แก่ วัคซีนของซิโนแวคและซิโนฟาร์ม และวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ ได้แก่ วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้เริ่มฉีดวัคซีนสูตรนี้ ก็มีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนออกมาแสดงความเห็น โดยหนึ่งในนั้นคือ แพทย์จากจุฬาฯ ที่บอกว่า การฉีดด้วยสูตรนี้ไม่ต่างอะไรกับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเพียงเข็มเดียว เพราะซิโนแวคต้องฉีด 2 เข็ม จึงจะได้ผล

ตามข้อมูลจาก Financial Times ระบุว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์เพียง 1 เข็ม ให้ผลลัพธ์การป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในพื้นที่ศึกษาแตกต่างกัน แคนาดา 65% อังกฤษ 33% และสก็อตแลนด์ 33% ขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดเข็มเดียวให้ผลลัพธ์การป้องกันในแคนาดา 67% อังกฤษ 33% และสก็อตแลนด์ 33%
จะเห็นได้ว่า แม้เราฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็ม ระดับภูมิคุ้มกันก็ขึ้นมาในระดับหนึ่ง ซึ่งต่างจากวัคซีนซิโนแวค ผลการทดลองจากศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมือกับห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี ไบโอเทค บ่งชี้ว่า แม้จะฉีดครบ 2 เข็ม แต่ภูมิคุ้มกันจะลดลง 50% ในทุกๆ 40 วัน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นถึงการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตร โดยระบุว่า แนวทางนี้เป็นแนวทางภาคบังคับเนื่องจากวัคซีนแต่ละยี่ห้อออกมาไม่ทันใช้ จึงต้องหายี่ห้ออื่นมาใช้ร่วมกัน ประกอบกับความต้องการเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ไทยฉีดซิโนแวคเป็นตัวหลัก และพบว่าช่วงเดือนแรกสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดี แต่ในเดือนที่สองเริ่มมีรายงานผู้ติดเชื้อและการป่วยแบบแสดงอาการมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลระดับภูมิที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว จาก 90% เหลือเพียง 30-40% ซึ่งเป็นสิ่งเห็นได้จากทั้งประเทศชิลีและอินโดนีเซีย ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาสูงอีกครั้งหลังฉีดวัคซีนซิโนแวคครบโดส
รอการนำเข้าวัคซีนตัวที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ากันต่อไป

ขณะที่ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การฉีดวัคซีนตามสูตร เข็มที่ 1 ซิโนแวค – เข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า สร้างระดับภูมิคุ้มกัน Neutralizating antibody (NAb) ได้สูงกว่าการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แต่ก็ยังน้อยกว่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม

อย่างไรก็ตาม หมอมานพกล่าวว่า มาตรการนี้ควรเป็นมาตรการระยะสั้นในช่วงที่ปริมาณวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไม่เพียงพอเท่านั้น ควรหยุดสั่งซื้อซิโนแวคเพิ่มและหันไปจัดหาวัคซีนชนิด mRNA หรือวัคซีนชนิดอื่นที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ามาเป็นวัคซีนตัวหลัก จะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมกว่า

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th