Site icon Motherhood.co.th Blog

พบเด็กป่วยหลังกินไส้กรอก จนเกิด “ภาวะเมธฮีโมโกลบิน”

ภาวะเมธฮีโมโกลบินในเด็ก

เด็ก 6 รายเกิดภาวะเมธฮีโมโกลบินหลังจากกินไส้กรอกฟุตลองไก่ปนเปื้อน

พบเด็กป่วยหลังกินไส้กรอก จนเกิด “ภาวะเมธฮีโมโกลบิน”

ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีเตือนเกี่ยวกับ “ภาวะเมธฮีโมโกลบิน” (Methemoglobin) หลังพบเด็กป่วยด้วยภาวะนี้ 6 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมาใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 2 ราย สระบุรี 1 ราย กาญจนบุรี 1 ราย เพชรบุรี 1 ราย และตรัง 1 ราย โดยเด็กทั้ง 6 รายมีประวัติรับประทานไส้กรอกไม่ทราบยี่ห้อและไม่มีเอกสารกำกับ อาการของผู้ป่วยคือ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ เหนื่อย หายใจเร็ว เขียว ระดับออกซิเจนที่วัดปลายนิ้วต่ำ แต่ไม่มีรายใดที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต ภาวะนี้อันตรายอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร และเราจะป้องกันได้แค่ไหน วันนี้เรามาทำความรู้จักมันให้มากขึ้นกันค่ะ

ภาวะเมธฮีโมโกลบินคืออะไร ?

ภาวะเมธฮีโมโกลบินในเลือดหรือเมธฮีโมโกลบินนีเมีย (Methemoglobinemia) เป็นภาวะที่ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงทำปฏิกิริยากับสารเคมีกลายเป็นเมธฮีโมโกลบิน ซึ่งในภาวะปกติฮีโมโกลบินมีหน้าที่จับกับออกซิเจน เมื่อกลายเป็นเมธฮีโมโกลบินมันจะไม่สามารถจับกับออกซิเจนได้ ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน และเม็ดเลือดเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลดำ

ร่างกายคนเราได้รับสารออกซิแดนต์ในขนาดน้อย ๆ จากแหล่งต่าง ๆ อยู่เป็นปกติ แต่ที่ไม่เกิดปัญหาเพราะร่างกายสามารถเปลี่ยนเมธฮีโมโกลบินกลับเป็นฮีโมโกลบินปกติได้ แต่หากมีปริมาณเมธฮีโมโกลบินสูงมาก ๆ (ได้รับสารออกซิแดนท์เยอะเกินไป) ร่างกายจะเปลี่ยนเมธฮีโมโกลบินคืนเป็นฮีโมโกลบินปกติไม่ทัน นำไปสู่ภาวะขาดออกซิเจน ในเด็ก ความสามารถในการเปลี่ยนเมธฮีโมโกลบินกลับเป็นฮีโมโกลบินปกติจะน้อยกว่าในผู้ใหญ่ เด็กจึงเกิดภาวะเมธฮีโมโกลบินได้ง่ายกว่า

ปกติร่างกายคนเรามีระดับความเข้มข้นของเมธฮีโมโกลบินประมาณ 1% และมีกลไกรักษาระดับเมธฮีโมโกลบินให้อยู่ในระดับปกติ แต่ถ้าได้รับสารพิษจะทำให้ความเข้มข้นของเมธฮีโมโกลบินมากขึ้น

สาธารณสุขจังหวัดตรังได้ทำการสอบสวนเส้นทางของไส้กรอกแล้ว

มีสาเหตุจากอะไร ?

สารเคมีที่ทำให้เกิดภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย ได้แก่

สำหรับกรณีเด็กป่วย 6 รายนี้ ศูนย์พิษวิทยาสงสัยว่ามีสาเหตุมาจากไส้กรอก ซึ่งเด็กจากทั้ง 3 จังหวัดได้รับประทานเหมือนกัน เป็นไส้กรอกที่ติดป้ายว่า ‘ฟุตลองไก่รมควัน’ ไม่มียี่ห้อ ไม่มีวันและสถานที่ผลิต ไม่ลงวันหมดอายุ ไม่มีส่วนประกอบและข้อมูล​โภชนาการ ลักษณะภายนอกไม่ต่างไปจากไส้กรอกปกติ เนื่องจากสีของไส้กรอก แฮม เบคอน หรือลูกชิ้นไม่สามารถบ่งชี้ว่ามีปริมาณไนเตรทมากหรือน้อย และการปิ้ง ย่าง หรือทอดก็ไม่สามารถทำลายสารพิษตัวนี้

สารไนเตรทในอาหาร

ไนไตรท์-ไนเตรทเป็นสารเคมีที่นิยมใช้เป็นสารกันเสีย และทำให้สีของเนื้อสัตว์เป็นสีแดงอมชมพูในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป หากได้รับในปริมาณที่สูงเกินจะเกิดผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก

ในประเทศไทยเคยพบภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมียในผู้ป่วยเด็กที่บริโภคไส้กรอกไก่ ซึ่งมีปริมาณสารไนไตรท์มากกว่า 3,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) ที่จังหวัดอยุธยา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 และผู้ป่วยจำนวน 24 ราย ที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย หลังจากการบริโภคไก่ทอดที่ใช้สารไนไตรท์ ซึ่งใช้ปริมาณมากเกิดกว่าปริมาณสูงสุดที่อนุญาตหลายเท่า โดยพบว่ามีการใช้โซเดียมไนไตรท์ 100%

ข้อกำหนดในการใช้งาน

ทั้งนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 418 พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ได้กำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้โซเดียมไนไตรท์หรือโพแทสเซียมไนไตรท์สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดไม่เกิน 80 มก./กก. และโซเดียมไนเตรทหรือโพแทสเซียมไนเตรทไม่เกิน 200 มก./กก.

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเชียงใหม่ออกตรวจและเฝ้าระวัง ที่ตลาดเมืองใหม่ ต.ช้างม่อย อ.เมือง

การรักษาภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย

หากสงสัยว่ามีภาวะนี้คือมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ เหนื่อย หายใจเร็ว เขียว ควรรีบไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ให้ออกซิเจนเสริมหากมีอาการเหนื่อยหรือเขียว ให้น้ำเกลือทดแทนหรือหากมีภาวะความดันโลหิตต่ำ และใส่ท่อช่วยหายใจหากมีภาวะหมดสติหรือการหายใจไม่เพียงพอ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีเม็ดเลือดแดงแตกรุนแรงจากการได้รับสารออกซิแดนท์ร่วมด้วย แพทย์จึงต้องมีการติดตามระดับเกลือแร่ รวมทั้งให้สารน้ำและเลือดทนแทน

ส่วนยาต้านพิษคือเมธิลีนบลู (Methylene blue) แพทย์จะพิจารณาให้เมื่อมีข้อบ่งใช้

อาหารที่ต้องระวัง

ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีแจ้งเตือนให้ระวังการรับประทานไส้กรอกจากแหล่งผลิตที่ไม่แน่ชัดหรือไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะเด็ก เนื่องจากจะไวต่อสารกลุ่มนี้มากกว่าผู้ใหญ่ หากมีอาการผิดปกติควรไปตรวจที่โรงพยาบาล ขณะนี้ทางศูนย์พิษวิทยาได้ประสานไปทางกองระบาดวิทยา​ กรมควบคุมโรค​ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อดำเนินการสืบค้นแหล่งที่มาของการระบาดเพิ่มเติมแล้ว

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th