Site icon Motherhood.co.th Blog

ทำอย่างไรเมื่อ “ลูกตกเตียง” ?

ทำอย่างไรเมื่อลูกตกเตียง

นี่คือสิ่งที่คุณควรทำเมื่อลูกน้อยตกเตียง

ทำอย่างไรเมื่อ “ลูกตกเตียง” ?

เป็นช่วงเวลาที่ทำให้หัวใจหยุดเต้น หาก “ลูกตกเตียง” ตกจากโซฟา หรือโต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม ไม่ว่าคุณจะเห็นมันเกิดขึ้นที่ไหน ทุกอย่างดูคล้ายภาพสโลว์โมชั่นในขณะที่คุณรีบวิ่งเข้าไปรับตัวลูกน้อย หรือคุณกำลังหันหลังทำอะไรอยู่แล้วได้ยินเสียงตุ๊บ มันเป็นความรู้สึกที่แย่มาก จากนั้นคุณควรทำอะไรต่อ ? มาดูคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญกันดีกว่าค่ะ

ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำต่อสถานการณ์เช่นนี้ว่าให้ดูอาการของลูกก่อน หากพวกเขาร้องไห้ แต่กลับสงบลงและเป็นตัวของตัวเองตามปกติหลังจากที่คุณเข้าไปกอดไปโอ๋ พวกเขาก็คงสบายดี แต่ก็ยังควรจับตาดูพวกเขาสักวันหนึ่งก่อน ในสถานการณ์นี้ คุณสามารถให้ไอบูโพรเฟนหรืออะเซตามิโนเฟนสำหรับทารกในปริมาณที่เหมาะสมกับวัยได้ และใช้แผ่นประคบเย็นห่อด้วยผ้าประคบบริเวณที่กระแทกเบา ๆ

หากพวกเขาแสดงอาการไม่ปกติ หงุดหงิด อาเจียน หรือดูเหมือนทรงตัวไม่ได้ หรือเวียนหัวเมื่อคลานหรือเดิน นี่อาจเป็นสัญญาณของการบาดเจ็บที่ศีรษะ นอกจากนี้ควรดูด้วยว่าพวกเขาไม่ได้เคลื่อนไหวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรือเปล่า เช่น ขาหรือข้อมือ หรือหากเด็กวัยหัดเดินแสดงอาการว่าไม่ต้องการเดิน เพราะอาจเพิ่มโอกาสที่จะทำให้กระดูกหักได้ หากคุณสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมที่ยังคงมีอยู่หรือทำให้คุณกังวล ก็สมควรที่จะให้ลูกเข้ารับการตรวจ หากสิ่งใดไม่ปกติให้โทรติดต่อแพทย์หรือไปที่ห้องฉุกเฉิน หากมีสิ่งผิดปกติอย่างรุนแรง เช่น พวกเขาหมดสติหรือมีอาการชัก หรือถ้ากระดูกทะลุผิวหนัง ให้เรียกรถพยาบาล

อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ปกครองในการประเมินทารกน้อยที่อายุ 4 เดือนหรือต่ำกว่า (เขาอาจจะโยเยแค่เพราะง่วง) ทารกในวัยนี้มีความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เนื่องจากกะโหลกศีรษะของพวกเขามีการพัฒนาน้อยกว่าเด็กที่มีอายุมากกว่า ดังนั้น จึงควรระมัดระวังและโทรติดต่อแพทย์ของคุณ

ทารกที่เข้า 4 เดือนจะเริ่มกลิ้งไปมาได้ ไม่แปลกที่อาจตกเตียง

จะเกิดอะไรขึ้นที่โรงพยาบาล ?

หากแพทย์ของคุณส่งลูกไปที่ห้องฉุกเฉินหรือคุณไปโรงพยาบาลเองโดยตรง เจ้าหน้าที่พยาบาลจะทำการประเมินเบื้องต้น หากการประเมินครั้งแรกพบว่าลูกน้อยของคุณมียังดูปกติอยู่และมีอาการดี คุณอาจต้องรอให้ถึงคิวคุณตามความร้ายแรงของกรณีอื่น ๆ ในห้องฉุกเฉิน หากการประเมินพบข้อกังวลในทันที แพทย์จะมาพบคุณได้อย่างรวดเร็ว แพทย์จะขอให้พ่อแม่รายงานว่าทารกทำอะไรตลอดทั้งตอนเกิดเหตุและหลังจากนั้น มีใครเห็นตอนตกบ้าง ? ทารกตกลงไปไกลแค่ไหนและไปที่พื้นผิวใด ? เด็กมีอาการหงุดหงิดง่ายกว่าปกติหรือไม่ ? เด็กนอนหลับสบายกว่าปกติหรือไม่ ? เด็กได้กินหรือดื่มอะไรตั้งแต่ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ? มีอาการอาเจียนหรือไม่ ? หากแพทย์ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสั่ง X-ray หรือ CT scan หรือโทรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น ศัลยแพทย์ระบบประสาท เพื่อขอคำปรึกษา

บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บบ่อยมีอะไรบ้าง ?

บริเวณที่เกิดการบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุดคือส่วนหน้าของกะโหลกศีรษะ เนื่องจากทารกส่วนใหญ่มักจะล้มลงไปข้างหน้าเมื่อตกจากเตียง ที่พบมากที่สุดอันดับสองคือด้านหลังศีรษะ หากพวกเขาล้มหงายลงไปข้างหลัง มันจะน่ากังวลกว่านี้เล็กน้อยหากพวกเขาโดนด้านข้างของศีรษะ เนื่องจากกระดูกมีความบางลงกว่าจุดอื่นและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากขึ้น และโครงสร้างของหลอดเลือดบางส่วนอาจเสียหายได้ แพทย์จะประเมินสัญญาณและอาการของผู้ป่วยเพื่อตรวจสอบว่าเด็กได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเล็กน้อย (เช่น กระแทกหรือรอยช้ำ) การถูกกระทบกระแทก กะโหลกศีรษะร้าว หรือการบาดเจ็บที่สำคัญกว่า (เช่น เลือดออกในสมอง)

เมื่อไหร่ที่ต้องกังวลเรื่องการกระแทก ?

การกระแทกที่หน้าผากมีแนวโน้มที่จะรุนแรงน้อยกว่า แต่ให้ใส่ใจกับพฤติกรรมของทารกและตรวจดูหากคุณมีข้อสงสัย อาการบวมที่บริเวณอื่น ๆ ของศีรษะ (ด้านหลัง ด้านข้าง หรือขมับ) อาจร้ายแรงกว่าและสมควรได้รับการเดินทางไปที่ห้องฉุกเฉิน บริเวณที่บวมแต่นุ่มซึ่งปรากฏขึ้นไม่กี่วันหลังจากการหกล้มมักเกี่ยวข้องกับการแตกหักของกะโหลกศีรษะ

หากตกแบบเอามุมลงอย่างแรง ก็อาจจะกระดูกหักได้

กระดูกหักอาจเป็นปัญหาได้เช่นกัน

หากลูกของคุณตกลงมาแบบทำมุมมากขึ้นและเอาไหล่ลง พวกเขามักจะกระดูกไหปลาร้าหัก อาการกระดูกหักอาจไม่ชัดเจนในทันที แต่มักหมายถึงเด็กงอแงที่ที่ไม่ต้องการเคลื่อนไหวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย การบาดเจ็บที่อวัยวะภายในนั้นค่อนข้างหาได้ยากเมื่อมีการหกล้มหรือตกเตียงในครัวเรือน เว้นแต่จะเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บที่สำคัญ เช่น การตกบันไดหลาย ๆ ขั้น

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณออกจากโรงพยาบาล ?

ในกรณีส่วนใหญ่ หากเด็กดูมีอาการดีเมื่อแพทย์ให้กลับบ้านได้ เขาก็ยังคงจะสบายดีที่บ้าน โดยปกติเราจะมีการพูดคุยกันอย่างดีเกี่ยวกับการเฝ้าดูอาการ เช่น อาเจียน หงุดหงิด และปวดศีรษะอย่างรุนแรง ก่อนที่ให้กลับบ้านได้ แพทย์ฉุกเฉินควรปรึกษาขั้นตอนต่อไปกับคุณ ในกรณีที่สงสัยว่ามีการกระทบกระแทก ลูกของคุณควรพักผ่อน และแพทย์ของคุณอาจไม่แนะนำให้ปลุกเขาในช่วงเวลาปกติ หากแพทย์ขอให้คุณปลุกลูกทุก 2-3 ชั่วโมงใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจากเกิดเหตุ ลูกของคุณควรตื่นง่ายและไม่แสดงพฤติกรรมผิดปกติตามที่กล่าวมาข้างต้น

ติดตั้งประตูกันที่บันไดเพื่อป้องกันการบาดเจ็บหนัก

จะป้องกันการตกเตียงตั้งแต่แรกได้อย่างไร ?

ทารกสามารถเคลื่อนไหวได้ในทันทีทันใด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องจับมือข้างหนึ่งของเขาไว้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่บนเตียง โต๊ะเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือโต๊ะตรวจของแพทย์ หากคุณต้องการเล่นแบบปลอดภัยเป็นพิเศษให้เปลี่ยนไปเล่นกันที่พื้น อย่าวางเก้าอี้เด็กหรือที่นั่งบนพื้นบนเคาน์เตอร์ หรือปล่อยให้เด็กทารกอยู่บนโซฟาหรือเตียงโดยไม่มีใครดูแล และใช้สายรัดนิรภัยที่เก้าอี้และรถเข็นเด็กเสมอ อย่าลืมติดตั้งประตูกั้นเด็กที่บันไดเมื่อลูกของคุณอายุ 4 เดือน เพราะนั่นคือช่วงที่พวกเขามักจะเริ่มกลิ้งไปมา รวมทั้งพัฒนาทักษะในการเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ และคลาน

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th