Site icon Motherhood.co.th Blog

ป้องกันโควิดด้วย “วัคซีนใบยา” รับอาสาสมัครทดสอบกันยานี้

วัคซีนใบยาของไทย

ความหวังใหม่ของวัคซีนโควิด-19 โดยคนไทย พร้อมทดลองรอบแรกกันยานี้

ป้องกันโควิดด้วย “วัคซีนใบยา” รับอาสาสมัครทดสอบกันยานี้

เภสัชฯ จุฬาฯ เตรียมทดสอบ “วัคซีนใบยา” ซึ่งนับเป็นวัคซีนสัญชาติไทยแท้ที่จะช่วยป้องกันโควิด-19 โดยเตรียมเปิดรับอาสาสมัครเพื่อทดสอบวัคซีนในเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมฉีดให้คนไทยภายในกลางปี 2565

วัคซีนใบยาโดยสตาร์ทอัพแห่งจุฬาฯ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยได้ทวีความรุนแรงขึ้นด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่สูงขึ้นในทุก ๆ วัน ทำให้วัคซีนกลายเป็นความหวังหนึ่งเดียวที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

วัคซีนนี้เป็นผลงานของสตาร์ทอัพแห่งจุฬาฯ โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด

คณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้คิดค้นพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มาโดยตลอด ทั้ง ChulaCov19 ที่เป็นวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และอีกความหวังอันใหม่ของคนไทยคือวัคซีนใบยา ที่พร้อมจะเริ่มการทดสอบในเดือนกันยายนนี้ วัคซีนใบยา ป้องกันโควิด-19 ผลิตขึ้นจากใบพืช เป็นผลงานสตาร์ทอัพแห่งจุฬาฯ โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด (ภายใต้ CU Enterprise)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และรองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู พูลเจริญ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ผู้นำทีมวิจัยวัคซีนใบยาเผยว่า วัคซีนนี้เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด Subunit vaccine ซึ่งต่างประเทศมีการผลิตวัคซีนชนิดนี้มานานแล้ว โดยผลิตจากหลายแหล่ง เช่น พืช แมลง ฯลฯ ขณะที่หลายประเทศผลิต Subunit vaccine จากใบพืช เช่น แคนาดา และเกาหลีใต้

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เผยว่า วัคซีนใบยาใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ดั้งเดิมจากออสเตรเลีย ทำหน้าที่เสมือนโรงงานผลิตชิ้นส่วนของไวรัสซึ่งเป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรคเมื่อฉีดวัคซีนใบยาเข้าไปในร่างกาย วัคซีนจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเราหากติดเชื้อโควิด-19 ก็จะป้องกันโรคได้

วัคซีนใบยาพร้อมให้ทดสอบกันยายนนี้

หลังจากได้รับวัคซีนต้นแบบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการทดสอบวัคซีนใบยากับสัตว์ทดลอง เช่น หนูขาวและลิง ซึ่งแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2563 พบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองได้ผลสูง หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม 2563 จึงเริ่มสร้างโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2564 โรงงานมีเนื้อที่ 1,200 ตร.ม. มีกำลังการผลิตวัคซีนเดือนละ 1-5 ล้านโดส

ทางคณะยังคงวิจัยพัฒนาวัคซีนอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือการกลายพันธุ์ของเชื้อ

ในสิงหาคม 2564 ทางคณะวิจัยจะเปิดรับอาสาสมัครเพื่อทดสอบวัคซีนกลุ่มแรกจำนวน 50 คน อายุ 18-60 ปี โดยอาสาสมัครต้องมีสุขภาพแข็งแรงและไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน การทดสอบวัคซีนจะเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน อาสาสมัครจะได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม โดยเว้นระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ เมื่อทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มแรกเสร็จ ก็จะทำการทดสอบวัคซีนกับอาสาสมัครกลุ่มอายุ 60–75 ปี ต่อไป และคาดว่าวัคซีนใบยาจะพร้อมฉีดให้คนไทยในช่วงกลางปี 2565 ในราคาต้นทุนโดสละ 300-500 บาท

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนใบยารุ่นที่ 2 เพื่อรับมือการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะพร้อมทดสอบกับอาสาสมัครในช่วงปลายปี 2564 โดยจะปรับปรุงศักยภาพของวัคซีนในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ดียิ่งขึ้นด้วย

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th