Site icon Motherhood.co.th Blog

วัคซีน Sinovac ไม่น่าจะยับยั้ง Covid-19 ได้อย่างที่คิด

วัคซีน Sinovac ไม่ได้ผล

วัคซีน Sinovac กลับไม่ให้ผลดีอย่างที่คาดการณ์

วัคซีน Sinovac ไม่น่าจะยับยั้ง Covid-19 ได้อย่างที่คิด

ความพยายามในการคิดค้นวัคซีนเพื่อต่อกรกับเชื้อ Covid-19 ยังคงมีอยู่ทั่วโลกค่ะ ล่าสุด “วัคซีน Sinovac” ที่ได้ถูกนำออกมาใช้กันแล้วในประเทศจีน กลับมีกระแสจากข้อมูลการค้นคว้าวิจัยที่ตีพิมพ์ออกมาว่าวัคซีนตัวนี้ประสิทธิภาพอาจไม่ดีอย่างที่คิด เมื่อได้ยินอย่างนี้ก็ทำเอาความหวังที่มีฝ่อลงไปเลยทีเดียว รายละเอียดจะเป็นอย่างไร วัคซีนตัวนี้ทำไมถึงล้มเหลว มาติดตามกันค่ะ

แรกเริ่มเดิมที Sinovac เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) ที่ปัจจุบันประเทศจีนเป็นผู้ครองตลาดวัคซีนชนิดนี้อยู่ วัคซีนชนิดนี้ความจริงแล้วคือไวรัส SARS-CoV-2 ที่แยกได้จากผู้ป่วย Covid-19 โดยจะทำการคัดเลือกเอาสายพันธุ์ที่เติบโตได้ดี และนำมาเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการเพื่อให้ได้ปริมาณไวรัสที่มากพอ หลังจากที่ได้ไวรัสในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว นักวิจัยจะทำให้ไวรัสเหล่านี้หมดสภาพโดยการใส่สารเคมีไปเพื่อให้ไวรัสที่หมดฤทธิ์ ต่อจากนั้นอนุภาคของไวรัสจะถูกทำให้บริสุทธิ์ ก่อนที่จะบรรจุใส่ขวดและนำไปใช้เป็นวัคซีนต่อไป

วัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่คิดค้นโดยประเทศจีน

เมื่อฉีดไวรัสที่ว่านี้เข้าไปในร่างกายของคนเรา ระบบป้องกันในร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อกำจัดไวรัสที่หมดฤทธิ์เหล่านี้ จากนั้น เมื่อไหร่ที่มีไวรัสที่ยังคงมีฤทธิ์เข้าสู่ร่างกาย ภูมิคุ้มกันเหล่านี้ก็น่าจะสามารถเข้าต่อกรกับเจ้าไวรัสร้ายที่มีลักษณะคล้ายกันเหล่านี้ได้ แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อนักวิจัยไทยได้ออกมาโพสต์อธิบายถึงความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้วัคซีนตัวนี้ เหตุผลหลักก็คือวัคซีนเชื้อตายชนิดนี้อาศัยไวรัสจากธรรมชาติเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะแอนติบอดีชนิด Neutralizing ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่จะจับกับโปรตีนสไปค์บนผิวอนุภาค แล้วจึงออกฤทธิ์ยับยั้งการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ของไวรัส ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าความแตกต่างของไวรัสที่ถูกทำให้หมดฤทธิ์แล้วกับไวรัสที่พบได้ตามธรรมชาติจริง อาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นนั้นใช้ต่อสู้กับไวรัสจริงไม่ได้นั่นเอง เพราะร่างกายก็จะไม่สามารถสร้างแอนติบอดีที่ดีออกมาได้มากพอ

งานวิจัยชิ้นหนึ่งเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Structure แสดงผลการทดลองที่ค่อนข้างน่ากังวลใจ ทีมวิจัยพบว่า โปรตีนสไปค์ที่อยู่บนอนุภาคไวรัสที่ถูกทำให้หมดสภาพลงนั้นเปลี่ยนไปจากไวรัสในธรรมชาติอย่างเห็นได้ชัด โดยอนุภาคไวรัสที่พบได้ในวัคซีนจะมีโปรตีนสไปค์ส่วนใหญ่ (74.4%) ในลักษณะที่เรียกว่า Post-fusion ซึ่งเป็นโครงสร้างที่เกิดขึ้นหลังจากที่ไวรัสได้เข้าสู่เซลล์ไปแล้ว แอนติบอดีต่อโครงสร้างเช่นนี้จึงไม่มีประโยชน์ต่อการป้องกันการติดเชื้อแต่อย่างใด คงเหลือก็แต่โปรตีนสไปค์ส่วนน้อย (25.6%) ที่พอจะสามารถกระตุ้น Neutralizing antibody ได้

ไม่มีรายงานอาสาสมัครที่ทดลองใช้ได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีนแต่อย่างใด

แต่ในประเทศจีนเองมีข่าวออกมาว่าชาวจีนที่จำเป็นต้องเดินทางไปศึกษาที่ต่างประเทศจำนวนหนึ่งยอมที่จะจ่ายเงิน 2,000 หยวน (ประมาณ 9,000 บาท) เพื่อได้รับวัคซีนตัวนี้โดยไม่ต้องรอ ส่วนสาเหตุที่ทางการจีนกล้าตัดสินใจที่จะนำเอาวัคซีน Sinovac ออกมาใช้กับคนส่วนมากในประเทศ ก็เพราะว่าวัคซีนตัวนี้ได้รับการรับรองแล้วว่าปลอดภัย ไม่มีผลเสียต่อผู้รับ ในขณะที่วัคซีนตัวอื่น เช่นจากของมหาวิทยาลัย Oxford ที่ไทยเราจะนำมาใช้ ก็พบว่าปัญหาการเสียชีวิตของอาสาสมัครผู้ทดลองใช้ หรือวัคซีนที่ทำการทดลองโดย Johnson & Johnson ที่เพิ่งถูกสั่งระงับการทดสอบไป หลังพบว่าอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองวัคซีนตัวนี้มีอาการป่วย

ก็เป็นอันว่าความหวังในการจะมีวัคซีนต่อต้านหรือป้องกันไวรัส Covid-19 ก็ยังคงค้างคาอยู่เช่นนี้ต่อไปค่ะ เราจะเห็นได้ว่าวัคซีนที่ปลอดภัยมากพอมักจะเป็นวัคซีนประเภทเชื้อตาย ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะไม่ได้ให้ประสิทธิภาพดีเท่าที่เราคาดหวังกันไว้ ส่วนวัคซีนที่ดูเหมือนจะมีอาณุภาพดีกว่า กลับส่งผลกระทบต่ออาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองอย่างมากมาย จนถึงกับต้องสั่งระงับการทดลองกันไปแล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะในอังกฤษ ในญี่ปุ่น หรืออย่างของ Johnson & Johnson เองที่เพิ่งถูกสั่งระงับไปเมื่อต้นเดือน แต่อย่างไรก็ตามขอให้เรามีหวังกันต่อไปนะคะ และในระหว่างนี้เราก็ต้องไม่ลืมที่จะป้องกันตัวเอง รวมทั้งดูแลรักษาความสะอาดอย่างดีด้วยค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th