วัณโรคในเด็ก (Tuberculosis in Children)
ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลกจากการจัดอับดับโดยองค์การอนามัยโลก ในปี พ.ศ. 2559 แต่ “วัณโรคในเด็ก” นั้น วินิจฉัยได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะโอกาสจะตรวจพบเชื้อวัณโรคมีน้อย แล้วเราจะป้องกันหรือรักษาให้ลูกได้อย่างไร ติดตามได้ในบทความวันนี้ค่ะ
วัณโรคมีการติดต่ออย่างไร ?
วัณโรคเป็นโรคที่ติดต่อจากคนสู่คนโดยการแพร่กระจายไปในอากาศ ไม่ได้ติดต่อทางการสัมผัส ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยวัณโรค ไอ จาม ตะโกน ทำให้เกิดละอองฝอยเล็ก ๆ แพร่กระจายอยู่ในอากาศ เมื่อสูดหายใจเข้าไป ละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคอยู่ก็จะเข้าไปอยู่ในถุงลมได้ อย่างไรก็ตาม การแพร่เชื้อวัณโรคจะลดลงมาก เมื่อผู้ป่วยวัณโรคได้รับยาต้านวัณโรคที่มีประสิทธิภาพนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์
ลูกเราเป็นวัณโรคอยู่หรือเปล่า ?
เด็กสามารถป่วยเป็นวัณโรคได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ อาการของวัณโรคในเด็กแสดงได้หลายรูปแบบ ที่พบได้บ่อยคือ ไข้เรื้อรัง เบื่ออาหาร ไม่อยากเล่น น้ำหนักลด ซูบซีด ไอเรื้อรัง เด็กที่ป่วยเป็นวัณโรคมักจะมีอาการร่วมกันหลายอย่าง ไม่ได้มีแค่อาการไออย่างเดียว หรือในเด็กเล็กอาจจะไม่มีอาการไอเลยก็ได้
อาการและอาการแสดงที่พบบ่อยของวัณโรคในเด็ก
1. วัณโรคปอด มักเริ่มด้วยอาการทั่วไป เช่น มีไข้ต่ำ ไข้เรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ส่วนของอาการเฉพาะที่ เช่น ไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอก หอบ พบได้ประมาณร้อยละ 50
2. วัณโรคนอกปอด ส่วนใหญ่ก็จะมีอาการของวัณโรคปอดร่วมด้วย
- วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง มีอาการแสดงของความดันในสมองสูง (Increased intracranial pressure) ร่วมกับไข้ รายที่เป็นมากจะมีอาการซึม หมดสติ การตรวจน้ำไขสันหลังจะทำให้พบลักษณะจำเพาะ
- วัณโรคต่อมน้ำเหลือง ส่วนใหญ่จะพบบริเวณคอ จะมีก้อนโต กดไม่เจ็บ หากเป็นเรื้อรังอาจแตกออก มีหนองไหล เป็น ๆ หาย ๆ
- วัณโรคทางเดินอาหาร อาจเริ่มด้วยอาการ ทั่วไป เช่น ไข้ น้ำหนักตัวลด อาการเฉพาะที่อาจมีอุจจาระร่วงเรื้อรัง ปวดท้อง ลำไส้อุดตัน มีก้อนในท้อง มีน้ำในช่องท้อง ฯลฯ
- วัณโรคกระดูก มักมีความพิการที่ข้อกระดูกให้เห็น บางรายมีฝีไร้เชื้อ (Sterile abscess)
- วัณโรคไต จะปัสสาวะเป็นเลือด (Hematuria) หรือปัสสาวะเป็นหนอง (Sterile pyuria)
- วัณโรคชนิดแพร่กระจาย (Miliary) มีอาการรุนแรง ไข้สูง ซึม อาจมีอาการหอบร่วมด้วย
การวินิจฉัยโรค
วัณโรคในเด็กนั้นวินิจฉัยได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะโอกาสจะตรวจพบเชื้อวัณโรคมีน้อย ดังนั้น การวินิจฉัยส่วนใหญ่จึงต้องใช้อาการทางคลินิก การติดตามผลการรักษาก็ต้องใช้อาการและอาการแสดงเป็นเครื่องบ่งชี้ ในเด็กทารกเมื่อได้รับเชื้อวัณโรคแล้วจะมีโอกาสเป็นวัณโรคชนิดแพร่กระจายได้มาก จึงต้องให้การรักษาทันที
เนื่องจากจำนวนเชื้อวัณโรคที่ทำให้เกิดโรคในเด็กมีจำนวนน้อย จึงทำให้วัณโรคเด็กไม่เป็นปัญหาในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และไม่มีผลกระทบต่อระบาดวิทยาของวัณโรคในภาพรวม เพราะเด็กจะได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่เสมอ
1. การวินิจฉัยทางคลินิก
- อาการและอาการแสดงที่เข้าได้กับวัณโรค
- การทดสอบทูเบอร์คูลิน (Tuberculin skin tests) เป็นการทดสอบวัณโรคทางผิวหนัง เพื่อทำการคัดกรองการติดเชื้อวัณโรค (Tubercle bacillus) ใช้ทดสอบเป็นประจำในเด็ก วัยรุ่น และผู้ป่วยที่ฉายรังสีแล้วพบว่ามีการติดเชื้อ
- ภาพรังสีทรวงอกมีความผิดปกติ เข้าได้กับวัณโรค รูปแบบมีได้ตั้งแต่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดโตอย่างเดียว หรือมีแผลในเนื้อปอดร่วมด้วย หรือมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด หากเป็นชนิดแพร่กระจายควรถ่ายภาพรังสีทรวงอกทั้งด้านหน้าและด้านข้าง
- ประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่กำลังเป็นวัณโรคปอด
- การวินิจฉัยแยกโรคอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงออกไป
2. การวินิจฉัยยืนยันทางห้องปฏิบัติการ
ถ้ามีอาการแสดงเข้าได้กับวัณโรค ร่วมกับตรวจได้เชื้อวัณโรคจากการย้อมหรือเพาะเชื้อจากเสมหะ น้ำเยื่อหุ้มปอด น้ำไขสันหลัง น้ำย่อยจากกระเพาะ จะได้เชื้อวัณโรคประมาณร้อยละ 10-20 เท่านั้น สำหรับการตรวจชิ้นเนื้อทางกล้องจุลทรรศน์จะใช้ในรายที่การวินิจฉัยไม่ชัดเจน เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลืองบางราย วัณโรคเยื่อหุ้มปอดบางราย รวมทั้งวัณโรคปอดบางราย
การรักษาวัณโรคในเด็ก
หากพบว่าเด็กป่วยเป็นวัณโรคก็สามารถรักษาให้หายได้ โดยจะต้องให้ยาตั้งแต่ให้การวินิจฉัยทางคลินิกเบื้องต้น ยารักษาวัณโรคขั้นต้นนั้นเป็นยารับประทาน การรับประทานยารักษาวัณโรคต้องรับประทานยาหลายตัวและต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป
ผลการรักษา
อาการต่าง ๆ จะดีขึ้นในเวลา 1-2 สัปดาห์ ร้อยละ 80 อาการดีขึ้นชัดเจนภายใน 3 เดือน และร้อยละ 90 อาการดีมากภายใน 4 เดือน สำหรับภาพรังสีปอดอาจใช้เวลา 10-12 เดือนจึงจะหายสนิท เมื่อรักษาครบ 6 เดือนแล้ว ถ้ายังคงเห็นรอยโรคในภาพรังสีก็ไม่จำเป็นต้องให้ยานานกว่านั้น
อาการข้างเคียงของยาพบน้อยมาก อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน คัน นอนไม่หลับ ส่วนใหญ่จะเป็นชั่วคราวแล้วจะค่อย ๆ หายไป ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น เป็นไข้ ปวดข้อ ดีซ่าน อาจต้องหยุดยาแล้วให้รักษาด้วยสเตียรอยด์แทนสักพัก เมื่ออาการหายไปจึงกลับมาให้ยารักษาวัณโรคจากขนานน้อย ๆ ก่อน
ทำอย่างไรหากมีคนในบ้านเป็นวัณโรค ?
เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี และเด็กที่ย่างเข้าวัยรุ่นมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรค เมื่อมีคนในบ้านเป็นวัณโรคแม้ว่าจะไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกันก็ตาม อายุเด็กยิ่งน้อย เช่น วัยทารก ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าเด็กโต แต่วัณโรคมีระยะฟักตัวนานประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ดังนั้น แพทย์สามารถให้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กป่วยเป็นวัณโรคได้
แนะนำให้พาเด็กทุกคนที่สัมผัสโรคหรืออยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรคมาพบแพทย์แม้ว่าเด็กจะมีสุขภาพแข็งแรงดีก็ตาม แพทย์จะได้ตรวจประเมินและให้ยาเพื่อป้องกันการเป็นวัณโรคต่อไป
สามารถป้องกันวัณโรคได้หรือไม่ ?
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันวัณโรคคือ วัคซีนบีซีจี (BCG) ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันวัณโรคได้ร้อยละ 50-80 ในประเทศไทยเด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนบีซีจีเมื่อแรกคลอด อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่สำคัญที่สุดที่จะไม่ให้เด็กเป็นวัณโรคคือการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและทำการรักษาเพื่อลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น การแพร่เชื้อจะลดลงอย่างมากหลังได้รับยาต้านวัณโรคสม่ำเสมอนาน 2 สัปดาห์
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th