Site icon Motherhood.co.th Blog

15 บทเรียนล้ำค่าในการ “สอนลูกถ่ายรูป”

สอนลูกถ่ายรูปกันเถอะ

จะเริ่มต้นสอนให้เด็กถ่ายภาพได้อย่างไร ลองทำตาม 15 บทเรียนนี้

15 บทเรียนล้ำค่าในการ “สอนลูกถ่ายรูป”

ถ้าคุณ “สอนลูกถ่ายรูป” ความอยากรู้อยากเห็นและความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การสอนการถ่ายภาพให้กับเด็กนั้นไม่เหมือนกับการสอนการถ่ายภาพให้กับผู้ใหญ่ เป็นไปได้ว่าผู้ใหญ่จะมีความคิดว่าภาพถ่ายที่ดีควรเป็นอย่างไร แต่เด็กละ ? เด็กมีความอยากรู้อยากเห็นและแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ พวกเขายังไม่มีกฎเกณฑ์ในการจำกัดความคิดสร้างสรรค์ที่มีในหัว การสอนการถ่ายภาพให้เด็กนั้นไม่เกี่ยวกับการเรียนรู้กฎต่าง ๆ แต่เป็นการปล่อยให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ เบ่งบานมากกว่า

หากคุณกำลังต้องการสอนให้บุตรหลานของคุณมีความสุขในการถ่ายภาพ นี่คือ 15 บทเรียนล้ำค่าในการสอนการถ่ายภาพสำหรับเด็กที่ Motherhood นำมาฝากกันเนื่องในโอกาสที่วันนี้เป็นวันถ่ายภาพสากลค่ะ

การถ่ายภาพสำหรับเด็ก: บทเรียนที่ต้องเรียนรู้

การดูแลกล้อง

เพียงแค่ได้เป็นเจ้าของกล้องถ่ายรูปสักตัวก็คือบทเรียนในตัวมันเองอยู่แล้ว จะดูแลรักษากล้องที่มีอย่างไร ? เมื่อเด็ก ๆ มีกล้องแล้ว คุณก็ต้องสอนวิธีดูแลมันให้กับพวกเขา

เด็กควรได้รับคำแนะนำไม่ให้ทำกล้องตกและเก็บไว้ในที่ปลอดภัยเมื่อไม่ใช้งาน เป็นความคิดที่ดีที่จะสอนพวกเขาให้ใช้ผ้าเช็ดเลนส์ด้านหน้าด้วย และคุณควรแสดงวิธีการชาร์จแบตเตอรี่และวิธีการอัปโหลดภาพถ่ายไปยังคอมพิวเตอร์ให้พวกเขาดู

การจับ

การถือกล้องไม่ใช่แค่การหยิบมันมาถือด้วยวิธีใดก็ตามที่สะดวกมือ การจับที่เหมาะสมมีรูปแบบของมันและมันจะช่วยลดการสั่นของกล้อง ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เราเข้าถึงส่วนควบคุมที่เหลือของกล้องได้อย่างง่ายดาย

สอนเด็ก ๆ ให้พันสามนิ้วล่าง (นิ้วก้อย นิ้วนาง และนิ้วกลาง) โอบรอบกริปของกล้อง โดยให้นิ้วชี้อยู่ที่ชัตเตอร์และนิ้วโป้งอยู่ด้านหลัง สำหรับกล้องขนาดใหญ่ มือซ้ายควรอยู่ใต้เลนส์เพื่อช่วยรองรับน้ำหนักที่มากกว่า

อีกหนึ่งเคล็ดลับการจับกล้องที่ดีสำหรับเด็ก ๆ ให้ใช้สายคล้องคอหรือสายรัดข้อมือเพื่อหลีกเลี่ยงการทำกล้องตกโดยไม่ได้ตั้งใจ

ความคิดสร้างสรรค์

ท่ามกลางการเรียนในโรงเรียนที่มีหลักสูตรเข้มงวด แม้แต่ในวิชาศิลปะก็ยังมีการให้คะแนน แต่เราควรใช้แนวทางที่แตกต่างออกไปเมื่อสอนพวกเขาถ่ายภาพ คุณควรส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์นั้น แม้มันจะหมายถึงการฝ่าฝืน “กฎเกณฑ์” บางอย่าง บอกพวกเขาว่าคุณชอบอะไรเกี่ยวกับภาพถ่าย แทนที่จะบอกพวกเขาว่าคุณเกลียดอะไรเกี่ยวกับภาพถ่าย ตัวอย่างเช่น จะเป็นอย่างไรถ้าลองนอนคว่ำเพื่อถ่ายภาพดอกไม้นั้นแทนที่จะยืนคร่อมดอกไม้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวางดอกไม้ไว้ด้านข้างของภาพแทนที่จะให้มันอยู่ตรงกลาง

แทนที่จะวิจารณ์ จงช่วยให้พวกเขามองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

การสำรวจ

ช่างภาพจำนวนมากไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็เรียนรู้จากการทดลอง ด้วยระบบดิจิทัล เขาจะได้ทดลองดูผลที่ต่างกันเมื่อได้ทดลองทำในสิ่งที่แตกต่าง เด็กที่เรียนรู้จากการทดลองมักจะจำข้อมูลนั้นได้ดีกว่าการสอนด้วยวาจาเพียงอย่างเดียว

เมื่อใช้กล้องดิจิทัล จะไม่มีฟิล์มที่เสียไปเปล่า ๆ และคุณสามารถลบภาพได้ด้วยการกดเพียงไม่กี่ครั้ง กระตุ้นให้เด็ก ๆ ลองถ่ายภาพนั้นมากกว่าหนึ่งวิธี

อีกแบบฝึกหัดที่ยอดเยี่ยมในการส่งเสริมให้เด็ก ๆ สำรวจด้วยกล้องของพวกเขาคือการมอบสิ่งของให้กับพวกเขา ขอให้พวกเขาถ่ายรูปวัตถุนั้น 10 ภาพที่แตกต่างกันทั้งหมด หากติดขัด ให้ช่วยคิดหาทางเลือกอื่น อาจเป็นการเปลี่ยนมุมมอง ย้ายวัตถุไปยังตำแหน่งใหม่ หรือปรับการตั้งค่ากล้อง

การฝึกฝน

การถ่ายภาพดิจิทัลหมายความว่าแทบไม่ต้องเสียฟิล์มไปเปล่าเมื่อฝึกถ่ายภาพ กระตุ้นให้เด็กลองถ่ายอีกครั้งเพื่อพยายามแก้ไขสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบในครั้งแรก กล้องที่เด็ก ๆ สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องมีการควบคุมดูแล ที่มีราคาไม่สูงก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะมาก

เด็กๆ สามารถฝึกฝนกับพวกมันได้ตลอดเวลา พวกเขาสามารถพากล้องไปถ่ายภาพอะไรก็ได้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาตลอดทั้งวัน

วัตถุ/ตัวแบบ

ตัวแบบคือหนึ่งในองค์ประกอบการถ่ายภาพขั้นพื้นฐานและจำเป็นที่สุด เด็กส่วนใหญ่เข้าใจดีว่าภาพถ่ายควรมีวัตถุหรือบุคคลอยู่ในนั้น พูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ในรูปถ่ายและสิ่งที่สำคัญที่สุดในรูปถ่าย แนะนำคำว่า ‘ตัวแบบ’ และขอให้พวกเขาคิดวิธีอื่น ๆ ในการถ่ายภาพตัวแบบเดียวกันนั้น

มุมมอง

การถ่ายภาพเป็นวิธีการมองเห็น — กล้องช่วยให้ช่างภาพรุ่นเยาว์แสดงมุมมองต่อโลกให้ผู้อื่นเห็น เสนอเคล็ดลับเกี่ยวกับมุมมองเมื่อคุณสอนพวกเขาถ่ายภาพ ดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพวกเขาถ่ายภาพทุกอย่างจากระดับสายตาเท่านั้น

กระตุ้นให้พวกเขาถ่ายขณะนอนราบกับพื้นหรือยืนเขย่งปลายเท้า แนะนำให้พวกเขาลองถ่ายภาพตัวแบบจากอีกด้านหนึ่ง

การซูม

การเปลี่ยนมุมของคุณไม่ใช่วิธีเดียวในการปรับมุมมอง ขั้นแรก สอนบุตรหลานของคุณถึงวิธีใช้การซูมที่อยู่บนกล้องเพื่อทำให้วัตถุใกล้หรือไกลขึ้น จากนั้นตรวจสอบให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ รู้ว่าพวกเขาสามารถซูมได้ด้วยเท้าของพวกเขาเช่นกัน การเข้าใกล้หรือออกห่างจากวัตถุมากขึ้นเป็นอีกวิธีหนึ่งในการเปลี่ยนมุมมอง

ในขณะที่สอนการซูม แนะนำให้พวกเขาสำรวจการถ่ายภาพมาโครด้วย แบบฝึกหัดสนุก ๆ ในการถ่ายภาพมาโครคือการขอให้พวกเขาถ่ายภาพวัตถุในระยะใกล้ ดูว่าคุณเดาได้ไหมว่าวัตถุเหล่านั้นคืออะไร

อย่าลืมแสดงวิธีเปิดโหมดมาโครในกล้องให้พวกเขาทราบด้วย

รายละเอียด

การใส่ใจในรายละเอียดเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมในฐานะช่างภาพ กระตุ้นให้พวกเขาช้าลงก่อนที่จะลงมือถ่ายภาพ ถือกล้องตรงหรือไม่ ? วัตถุบิดเบี้ยวหรือไม่ ? มีวัตถุที่ไม่เกี่ยวข้องที่เข้ามาปะปนในรูปภาพที่สามารถเอาออกได้หรือไม่ ? นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับช่างภาพรุ่นเยาว์แต่ละคนในการมองหาสิ่งรบกวนในแบ็คกราวด์ด้วย

ให้คำแนะนำในการมองหาวัตถุที่รบกวนสายตาซึ่งอาจละเว้นมันได้ด้วยการปรับมุมมองและการซูม ช่วยให้พวกเขาเห็นการจัดวางตำแหน่งพื้นหลังที่น่าอึดอัดใจ ตัวอย่างเช่น เสาโทรศัพท์ที่งอกออกมาจากหัวของตัวแบบ

แบบฝึกหัดที่ดีในการสอนเรื่องนี้คือการลองทำสิ่งที่ตรงกันข้าม ขอให้พวกเขาถ่ายรูปตลก ๆ ที่ตุ๊กตาสัตว์ของพวกเขาสวม ‘หมวก’ ตลก ๆ สิ่งเหล่านี้คือวัตถุในพื้นหลังที่โผล่ออกมาจากหัวของมัน

การเล่าเรื่อง

ภาพถ่ายบอกเล่าเรื่องราว ดูรูปถ่ายของเด็ก q และขอให้พวกเขาเล่าเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพ

การจัดวางองค์ประกอบ

เด็กส่วนใหญ่มักจะใส่ทุกอย่างไว้ตรงกลางภาพ นอกจากนี้ยังมีเด็ก ๆ บางคนที่จะวางวัตถุไว้ที่ขอบของภาพจนทำให้วัตถุหรือบุคคลถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง เริ่มสอนองค์ประกอบภาพสำหรับเด็กโดยแนะนำแนวคิดในการวางวัตถุไว้ที่อื่นในภาพถ่าย คุณสามารถสอนแนวคิดนี้ได้โดยการถ่ายภาพตัวแบบเดียวกันด้วยองค์ประกอบที่แตกต่างกัน

แบบฝึกหัดการถ่ายภาพยอดนิยมอีกอย่างหนึ่งสำหรับเด็กคือให้กรอบรูปที่ไม่มีกระจกหรือหลัง ขอให้พวกเขา ‘ใส่กรอบ’ ให้กับสิ่งของรอบ ๆ บ้านด้วยวิธีต่าง ๆ มันเป็นแบบฝึกหัดการถ่ายภาพที่ไม่ต้องใช้กล้องจริง ๆ ด้วยซ้ำ

การโฟกัส

เมื่อคุณให้กล้องกับเด็กเป็นครั้งแรก พวกเขาจะใช้โหมด Auto-Area AF ในขณะที่เด็ก ๆ เริ่มเข้าใจการถ่ายภาพขั้นพื้นฐาน ให้แสดงโหมด AF(หากกล้องของพวกเขามี) พวกเขาสามารถเลือกตำแหน่งที่กล้องโฟกัสโดยใช้ปุ่มลูกศรที่ด้านหลังของกล้อง

วางวัตถุสองชิ้นไว้บนโต๊ะ อันหนึ่งใกล้กับกล้องและอีกชิ้นหนึ่งห่างออกไป ให้พวกเขาย้ายจุดโฟกัสไปที่จุดหนึ่ง จากนั้นไปที่อีกจุดหนึ่ง โดยปรับโฟกัสใหม่ทุกครั้ง นี่เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสอนว่าโฟกัสแตกต่างกันอย่างไรตามระยะทาง

โหมดการทำงาน

ก่อนที่จะสอนเด็กเกี่ยวกับค่าการเปิดรับแสง ให้สอนพวกเขาว่ามีโหมดต่าง ๆ ในกล้องสำหรับการถ่ายภาพประเภทต่าง ๆ แสดงโหมดกีฬาสำหรับช็อตแอ็คชั่นและโหมดมาโครสำหรับระยะใกล้ แสดงให้พวกเขาเห็นถึงวิธีการเปลี่ยนโหมดในกล้อง และแต่ละโหมดเหมาะที่สุดสำหรับอะไร มันจะช่วยสร้างรากฐานสำหรับการเรียนรู้เรื่องค่าการเปิดรับแสง

ค่าการเปิดรับแสง

เด็กที่เข้าใจแนวคิดการถ่ายภาพขั้นพื้นฐานอย่างดีสามารถเริ่มลงลึกสู่การเรียนรู้เรื่องค่าการเปิดรับแสงได้ การมุ่งตรงไปยังโหมดแมนนวลนั้นทำได้ยากมาก แม้แต่สำหรับผู้ใหญ่ ควรใช้ภาษาที่เรียบง่ายและต้องฝึกฝนอย่างมาก

ความเร็วชัตเตอร์: สื่อสามารถช่วยคุณได้ ลองหาคลิปการทำงานของชัตเตอร์ให้ดู อธิบายว่าชัตเตอร์คือประตูที่เปิดขึ้นเพื่อถ่ายภาพได้อย่างไร และสิ่งใดที่เคลื่อนไหวขณะที่ประตูนั้นเปิดอยู่จะเบลอ หาของที่เคลื่อนไหวได้ เช่น หมาแมวในบ้าน หรือพัด ถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงและความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อแสดงให้เห็นผล จากนั้นส่งเสริมให้ฝึกใช้โหมด A (กำหนดค่าชัตเตอร์เอง)

รูรับแสง: การเปรียบเทียบด้วยภาพก็ช่วยได้เช่นกัน ออกไปนอกตัวบ้านในช่วงฝนใกล้ตก พร้อมด้วยแก้วปากแคบและถังปากกว้าง ถามเขาว่าอันไหนที่เขาคิดว่าจะเก็บน้ำฝนได้มากกว่า — แล้วรอดูว่าเขาคิดถูกหรือเปล่า อธิบายว่าเช่นเดียวกับถังปากกว้างจะรวบรวมน้ำในได้มากขึ้น รูรับแสงที่กว้างขึ้นจะรวบรวมแสงมากขึ้น จากนั้น ให้แนะนำแนวคิดเรื่องระยะชัดลึก ขอให้พวกเขาถ่ายภาพโดยใช้รูรับแสงกว้างแล้วจึงถ่ายภาพเดียวกันโดยใช้รูรับแสงแคบ เปรียบเทียบลักษณะพื้นหลังของภาพสองภาพ

ศิลปะ

การสอนเด็กถ่ายภาพยังสามารถสร้างความชื่นชมในศิลปะได้โดยทั่วไป นอกจากส่งเสริมให้เด็กๆ ถ่ายรูปแล้ว แนะนำให้พวกเขาดูรูปถ่ายด้วย ไปที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะและพูดคุยเกี่ยวกับภาพหรือจะเปิดภาพในอินเตอร์เนตของสถานที่หรือสิ่งของที่พวกเขาชื่นชอบ พูดคุยเกี่ยวกับรูปภาพ ว่าทำไมพวกเขาถึงชอบ หรือทำไมพวกเขาถึงไม่ชอบ คุณสามารถพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดการถ่ายภาพที่คุณได้แนะนำไปแล้วเช่นกัน

การสอนการถ่ายภาพให้เด็ก ๆ ไม่เพียงแต่ให้ทักษะในการถ่ายภาพที่ดีเท่านั้น การถ่ายภาพยังช่วยให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝนการใช้ความคิดสร้างสรรค์และกระตุ้นให้เกิดการสำรวจ

เมื่อสอนการถ่ายภาพเด็ก ๆ ให้เริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป และให้กำลังใจเยอะ ๆ สร้างจากทักษะแต่ละอย่าง แล้วค่อย ๆ ก้าวต่อไปในทุกระดับที่เหมาะกับระดับทักษะของเด็ก

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th