Site icon Motherhood.co.th Blog

ทำความรู้จักกับ “สุนัขช่วยเหลือคนพิการ” เพื่อน 4 ขาผู้คอยช่วยเหลือ

รู้จักสุนัขช่วยเหลือคนพิการ

สุนัขช่วยเหลือผู้พิการ เพื่อนสี่ขาที่นำพาให้คนพิการมีอิสระกว่าที่เคย

ทำความรู้จักกับ “สุนัขช่วยเหลือคนพิการ” เพื่อน 4 ขาผู้คอยช่วยเหลือ

วันนี้เป็นวัน “สุนัขช่วยเหลือคนพิการ” โลกค่ะ ซึ่งจะตรงกับวันพุธสุดท้ายของเดือนเมษายนในทุก ๆ ปี เด็กผู้พิการหลายคนทั่วโลกก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน 4 ขาที่น่ารักเหล่านี้ Motherhood จึงอยากชวนให้ผู้อ่านมาทำความรู้จักว่าสุนัขช่วยเหลือมีหน้าที่อะไรบ้าง ได้รับการฝึกฝนมาอย่างไร คนทั่ว ๆ ไปจะต้องปฏิบัติต่อพวกมันอย่างไรเมื่อพบเห็น รวมทั้งข้อจำกัดในการใช้งาน ที่ทำให้พวกเราไม่ค่อยเห็นว่ามีการใช้สุนัขนำทางกันอย่างแพร่หลายนักในบ้านเรา

สุนัขเหล่านี้ผ่านการฝึกฝนในระดับสูงมาแล้วเพื่อทำหน้าที่

สุนัขช่วยเหลือคนพิการคืออะไร ?

สุนัขนำทางหรือสุนัขช่วยเหลือคนพิการ คือสุนัขที่ได้รับการฝึกในระดับสูงสำหรับดูแลเจ้าของสุนัขเพียงคนเดียว โดยสุนัขจะคอยอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือคนพิการ สุนัขแต่ละตัวจะมีเอกสารรับรองเฉพาะที่ระบุความสามารถของสุนัขในการให้ความช่วยเหลือคนพิการแต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจน

สุนัขช่วยเหลือผู้พิการมีกี่ประเภท ?

เราสามารถแบ่งสุนัขช่วยเหลือออกเป็น 3 ประเภท

  1. Guide dog (สุนัขนำทาง) มีหน้าที่ช่วยนำทางคนพิการทางการมองเห็น คอยสอดส่องดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ
  2. Hearing dog (สุนัขช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการได้ยิน) มีหน้าที่รับฟังเสียงและคอยเตือนผู้พิการเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น
  3. Service dog (สุนัขช่วยเหลือ) มีหน้าที่ช่วยเหลือคนพิการ คนพิการซ้ำซ้อน หรือคนที่มีความผิดปกติบางอย่าง เช่น ความพิการประเภทต่าง ๆ ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือด โดยสุนัขช่วยเหลือจะทำหน้าที่ช่วยเตือนระดับน้ำตาลในเลือดให้กับผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ พวกมันยังถูกฝึกให้มีความสามารถเพิ่มเติมอย่างอื่นด้วย เช่น การช่วยกดปุ่ม เปิด/เปิดประตู หยิบสิ่งของ นำทางรถเข็น ช่วยเรื่องการทรงตัว หรือเตือนผู้อื่นเมื่อเจ้าของสุนัขไม่ตอบสนองได้อีกด้วย

สุนัขพันธุ์ยอดนิยมในการเป็นสุนัขช่วยเหลือ

  1. German Shepherd เป็นสุนัขที่มีขนาดใหญ่ เฉลียวฉลาด ฝึกง่าย และชอบทำกิจกรรม
  2. Labrador Retriever เป็นสุนัขที่มักถูกนำมาฝึกสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ เพราะมีความกระตือรือร้น สงบ เชื่อฟัง และเป็นมิตร รวมทั้งมีแข็งแรงและมีพลังงานเหลือเฟือ
  3. Golden Retriever เป็นสุนัขที่มีขนาดกลางแต่มีประสาทสัมผัสดีเยี่ยม ฉลาด และมีความร่าเริง
  4. Border Collie เป็นสุนัขที่ฉลาด คล่องแคล่ว ว่องไว ฝึกสอนได้ง่าย และมีความช่างสังเกต
สุนัขทุกตัวจะได้รับประกาศนีบัตรเพื่อรับรองหลักสูตรการฝึก

กว่าจะมาเป็นสุนัขนำทาง ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ?

กว่าจะได้มาเป็นสุนัขช่วยเหลือคนพิการนั้น สุนัขต้องเจ้ารับการฝึกฝนอย่างสูงและผ่านบททดสอบอันหลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจที่ต้องทำ เป็นการฝึกอย่างเข้มข้นโดยเทรนเนอร์ ที่ต้องฝึกกันอย่างน้อย 18 เดือน หรือประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึงจะสามารถออกมาปฏิบัติหน้าที่ได้ สุนัขที่เข้ารับการฝึกต้องมีความอดทนสูงและมีสมาธิ จนสามารถผ่านบททดสอบมาตรฐาน ซึ่งได้แก่

การฝึกกับเทรนเนอร์ไม่ได้สอนกันเฉพาะการดูแลผู้พิการเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่ส่งเสียงดังรบกวนคนรอบข้าง ไม่ขับถ่ายเรี่ยราด และไม่สร้างความเสียหายให้กับสถานที่ต่าง ๆ ด้วย

สุนัขที่ผ่านการทดสอบจะได้ใบรับรองเป็นประกาศนียบัตรจากหน่วยงาน Dog Certification of America หรือจาก Nation Service Animal Registry (NSAR) ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงอีกหลายหน่วยงานที่มีการทดสอบและออกใบรับรองให้แก่สุนัขช่วยเหลือ เพื่อเป็นการแสดงสิทธิ์ว่าสุนัขเหล่านี้สามารถเข้าไปในพื้นที่สาธารณะหรือสถานที่ซึ่งไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงปกติเข้าไปได้

สุนัขนำทางมีการจำกัดอายุในการทำงานประมาณ 7-10 ปี หลังจากนั้นก็จะเกษียณและหาสุนัขนำทางตัวใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน ส่วนใหญ่แล้วสุนัขก็จะอยู่กับเจ้าของหรือครอบครัวเดิม แต่หากทางเจ้าของไม่สะดวกที่จะดูแลต่อก็จะมีการหาบ้านใหม่ให้หรือส่งตัวกลับไปยังโรงเรียนฝึกสุนัขเดิม

คนทั่วไปก็ต้องเรียนรู้ว่าควรวางตัวเช่นไรเมื่อพบเห็นสุนัขช่วยเหลือ

เมื่อเราพบเจอสุนัขช่วยเหลือ เราควรวางตัวอย่างไร ?

คนทั่วไปอาจมีโอกาสได้พบเจอกับสุนัขนำทางหรือสุนัขช่วยเหลือตามที่ต่าง ๆ มากขึ้น เราอาจจะเผลอไปกับความน่ารักของมัน โดยลืมไปว่าพวกมันกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ อาจส่งผลให้สุนัขเสียสมาธิและทำให้เจ้าของบาดเจ็บได้ ดังนั้น การปฏิบัติตัวของคนรอบข้างจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรรู้ตระหนัก

คนในสังคมต้องเปิดใจและเรียนรู้ เพื่อให้ผู้พิการมีชีวิตที่อิสระ

ทำไมสุนัขนำทางไม่ค่อยเป็นที่นิยมในประเทศไทย ?

แม้ว่าประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในมาตรา 20 วรรค 8 “สิทธิที่จะนำสัตว์นำทาง เครื่องมือหรืออุปกรณ์นำทาง หรือเครื่องช่วยความพิการใด ๆ ติดตัวไปในยานพาหนะหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการเดินทางและการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ โดยได้รับการยกเว้นค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าเช่าเพิ่มเติมสำหรับสัตว์ เครื่องมืออุปกรณ์ หรือเครื่องช่วยความพิการดังกล่าว” แต่หลายสถานที่ก็ยังมีข้อจำกัดในการห้ามนำสัตว์เข้ามาในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า รถโดยสารสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล กลายเป็นว่าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ควบคุมสถานที่นั้น ๆ เสียเอง ถือเป็นการที่สังคมไม่สนับสนุนเพื่อให้เกิดการใช้สุนัขช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ คนพิการที่มีสุนัขช่วยเหลือจึงมักถูกปฏิเสธในการเข้าสถานที่ต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งประชาชนส่วนมากก็ไม่ค่อยรู้จักกฎหมายคุ้มครองชุดนี้ด้วย

ทางเท้าในประเทศไทยมีปัญหามาเสมอ ทั้งพื้นไม่เรียบ สิ่งของขรุขระ มีแอ่งน้ำขังสกปรก มีขยะวาง ป้ายหาเสียงบดบังทางเดิน รวมถึงรถจักรยานยนต์ที่ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้า อุปสรรคเหล่านี้เป็นปัญหากับคนทั่วไปมากอยู่แล้ว และยิ่งเป็นปัญหากับคนพิการก็อาจสร้างความอันตรายถึงแก่ชีวิต

การพบเจอสุนัขจรจัดหรือสุนัขเจ้าถิ่นอาจทำให้เกิดอันตรายต่อคนพิการและสุนัขนำทางได้ โดยเฉพาะเมื่อสุนัขนำทางถูกฝึกมาให้ไม่ต่อสู้ การเจอกับสุนัขตัวอื่นที่เข้ามาทำร้ายจึงอาจทำให้สุนัขไม่สามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือคนพิการได้เหมือนเดิม และอาจเกิดอันตรายกับทั้งคนพิการและสุนัขได้

หวังว่าผู้พิการในบ้านเราจะสามารถใช้สุนัขช่วยเหลือกันได้อย่างแพร่หลายมากขึ้นนะคะ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของคนในสังคมด้วยที่จะเพิ่มความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้และเพิ่มการให้เกียรติกันและกัน เพื่อให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสวัสดิภาพและอิสระเสรีค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th