Site icon Motherhood.co.th Blog

11 คำถาม ที่ต้องถามหมอหาก “อยากท้อง”

อยากท้องต้องปรึกษาแพทย์

เมื่อวางแผนจะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตั้งครรภ์ที่ดีที่สุด

11 คำถาม ที่ต้องถามหมอหาก “อยากท้อง”

เนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนแห่งความรัก Motherhood เชื่อว่าน่าจะมีคู่รักจำนวนไม่น้อยที่เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะท้องเสียที “อยากท้อง” เพราะอยากมีเจ้าตัวน้อยมาเชยชม ขอบอกว่าหากคู่รักคู่ไหนต้องการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์อย่างมีสุขภาพดี เรามีคำถามสำคัญ 11 ข้อที่คุณต้องนำไปถามแพทย์เมื่อเข้ารับคำปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์มาฝากค่ะ

เมื่อคุณตัดสินใจจะมีลูก

การตัดสินใจมีลูกคือการตัดสินใจครั้งสำคัญ และในขณะที่คุณสามารถทดลองเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้มีเบบี๋ตัวน้อยมาเชยชมสมใจ มันก็เป็นความคิดที่ดีกว่าที่คุณจะสละเวลาไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาด้านสุขภาพสัก 2-3 เดือนก่อนที่จะตั้งครรภ์ หรือเผื่อเวลาไว้หลายเดือนกว่านั้นหน่อยหากคุณมีปัญหาสุขภาพมาก่อน

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนตั้งครรภ์ เพื่อสุขภาพครรภ์ที่ดี

ในการปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์นี้ แพทย์จะประเมินประวัติสุขภาพของคุณ รวมทั้งประเมินปัญหาทางการแพทย์ใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และให้คำแนะนำในการตั้งครรภ์อย่างมีสุขภาพดี ให้คุณคิดเสียว่าการนัดหมายนี้เป็นเหมือนกับช่วงเวลาที่คุณจะถามอะไรก็ได้ที่คุณสงสัย ยิ่งถ้าคุณจดรายการคำถามไว้ล่วงหน้าก่อนได้ก็จะยิ่งดี และนี่เป็นคำถาม 11 ข้อ ที่คนอยากท้องควรนำไปถามแพทย์ของคุณ

1. นานแค่ไหนกว่าจะตั้งครรภ์?

แน่นอนว่าแพทย์คงไม่สามารถทำนายได้อย่างตรงเป๊ะหรอกว่าคุณจะตั้งครรภ์เมื่อไหร่ เพราะบางคู่ก็ตั้งครรภ์ทันทีหลังจากหยุดคุมกำเนิด ในขณะที่คู่อื่น ๆ ก็กลับไม่ตั้งครรภ์เลยเป็นปี ๆ ทั้งที่ไม่ได้คุมกำเนิดแล้ว แต่แพทย์อาจจะมีการคาดการณ์ทั่ว ๆ ไปตามอายุ ประวัติสุขภาพ และประสบการณ์ของการคุมกำเนิดที่ผ่านมา

2. หยุดคุมกำเนิดได้เมื่อไหร่?

คุณไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ทันทีหลังจากที่หยุดคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดแบบเม็ดฮอร์โมนจะยังมีผลในการเปลี่ยนแปลงรอบเดือนของคุณอีกสักพักหลังแม้ว่าคุณจะหยุดยาแล้ว เช่นเดียวกับการใช้ห่วงคุมกำเนิดและแผ่นแปะคุมกำเนิด หากคุณใช้ห่วงคุมกำเนิดอยู่ คุณจะต้องปรึกษาแพทย์ว่าสามารถถอดมันออกได้เมื่อไหร่

3. สุขภาพในช่วงนี้มีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์หรือไม่?

เงื่อนไขทางการแพทย์บางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการตั้งครรภ์ของคุณ เหล่านี้รวมถึงกลุ่มอาการรังไข่ (PCOS) เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ และแม้กระทั่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อพูดถึงฝ่ายชาย ปัญหาเกี่ยวกับจำนวนอสุจิ การเคลื่อนไหวของพวกมัน หรือลักษณะของมัน อาจทำให้การตั้งครรภ์เป็นเรื่องยาก แพทย์ของคุณเป็นคนที่จะประเมินสถานการณ์ให้กับคุณและเสนอวิธีแก้ไขปัญหา

4. ยาที่ใช้อยู่มีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์หรือไม่?

ยาบางชนิดรวมถึงยาสำหรับความดันโลหิตสูงและโรคลมชักอาจลดโอกาสในการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยาที่ขายตามเคาน์เตอร์และยาที่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์บางชนิดอาจเป็นอันตรายต่อทารกเมื่อคุณตั้งครรภ์ เช่น NSAIDs สเตียรอยด์ ยากล่อมประสาทและยารักษาโรคจิตเวช รวมทั้งยาไทรอยด์ คุณควรทบทวนข้อกังวลด้านความปลอดภัยกับแพทย์ ซึ่งอาจรวมถึงการเปลี่ยนยาหรือแนะนำให้คุณใช้ยาสมุนไพรบางชนิดเป็นทางเลือก

5. ควรรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมหรือไม่?

คุณควรเริ่มรับประทานอาหารเสริมที่มีกรดโฟลิค 3-6 เดือนก่อนจะตั้งครรภ์ กรดโฟลิกช่วยลดความเสี่ยงของข้อบกพร่องในเส้นประสาทและข้อบกพร่องที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด แพทย์แนะนำวิตามินสำหรับรับประมานในช่วงก่อนคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณดูเหมือนจะขาดสารอาหารบางอย่าง

ปรึกษาแพทย์เสียแต่เนิ่น ๆ จะลดปัญหาแทรกซ้อนลงไปได้มาก

6. ควรเปลี่ยนอาหาร / การออกกำลังกาย / พฤติกรรมการใช้ชีวิตอื่น ๆ หรือไม่?

คุณรู้หรือไม่ว่าการมีน้ำหนักเกินหรือต่ำกว่าเกณฑ์สามารถลดภาวะเจริญพันธุ์ได้ น้ำหนักตัวที่ไม่ตรงตามเกณฑ์ยังสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง การผ่าคลอด และการแท้ง การออกกำลังกายมากเกินไป การดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ อาจส่งผลเสียต่อภาวะเจริญพันธุ์และการตั้งครรภ์ของคุณ พูดคุยกับแพทย์อย่างเปิดเผยเกี่ยวกับนิสัยการใช้ชีวิตของคุณ และถามว่าคุณจำเป็นต้องทำการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก่อนที่จะตั้งครรภ์

7. ต้องได้รับการฉีดวัคซีนอะไรหรือไม่?

การเจ็บป่วยในระหว่างตั้งครรภ์จะทำให้สุขภาพของคุณและสุขภาพของทารกในครรภ์มีความเสี่ยง ปกป้องลูกน้อยของคุณจากการเจ็บป่วยที่รุนแรงโดยการอัพเดทการรับวัคซีนให้ทันสมัยอยู่เสมอ หากคุณยังไม่มีภูมิคุ้มกัน แพทย์จะให้วัคซีนป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) และโรคอิสุกอิใสก่อนตั้งครรภ์ เนื่องจากเหล่านี้ไม่ปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล บาดทะยัก / โรคคอตีบ / ไอกรน (Tdap) และวัคซีนตับอักเสบบี ก็เป็นวัคซีนที่สามารถรับได้ระหว่างตั้งครรภ์

8. ควรไปพบแพทย์อีกคนหรือไม่?

ไม่ใช่สูตินรีแพทย์ทุกคนที่มีใบรับรองสูติศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ถามแพทย์ที่คุณไปพบว่าเขาหรือเธอมีคุณสมบัติที่จะจัดการกับการตั้งครรภ์หรือไม่ หากไม่มี ก็ขอให้แนะนำสูติแพทย์คนอื่นที่ชำนาญกว่า

9. จำเป็นต้องเข้ารับการทดสอบทางพันธุกรรมหรือไม่?

คุณและคู่อาจตัดสินใจทำการทดสอบทางพันธุกรรมเพื่อดูว่าคุณเป็นพาหะของเงื่อนไขทางพันธุกรรมใด ๆ หรือไม่ หากผลลัพธ์กลับมาเป็นบวก แพทย์ของคุณสามารถช่วยชั่งน้ำหนักความเสี่ยงในการติดตามการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ อีกวิธีหนึ่งในการป้องกันไม่ให้ส่งผ่านเงื่อนไขทางพันธุกรรมที่ไม่พึงประสงค์ไปยังลูกหลาน คือจะต้องดำเนินการในการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) ด้วยการวินิจฉัยทางพันธุกรรมก่อนการปลูกถ่าย (PGD) สิ่งนี้ช่วยให้คุณและแพทย์ทดสอบตัวอ่อนเกี่ยวกับเงื่อนไขทางพันธุกรรมเหล่านี้

10. ทำไมถึงไม่ตั้งครรภ์เสียที?

หากคุณพยายามที่จะตั้งครรภ์มาเกิน 1 ปีและก็ยังไม่ได้ผล หรือครึ่งปีหากคุณมีอายุมากกว่า 35 ปี แสดงว่าคุณมีแนวโน้มที่จะมีบุตรยาก แพทย์จะประเมินคุณและคู่ของคุณเพื่อหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก จากนั้นแพทย์จะพยายามรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยยาหรือรักษาตามเงื่อนไขอื่น ๆ ที่คุณมี

11. ควรทำอย่างไรต่อหากตรวจครรภ์แล้วพบว่ามีลูก?

คู่รักหลาย ๆ คนไม่ทราบว่าจะต้องทำอะไรหลังจากที่ตรวจครรภ์แล้วพบว่าพวกเขากำลังมีลูก พวกเขาควรตรงไปที่สูติแพทย์หรือรอจนกว่าทารกในครรภ์โตพอที่จะปรากฏตัวในอัลตร้าซาวด์ แพทย์สามารถให้คำแนะนำอย่างผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ไลฟ์สไตล์บางอย่างอาจส่งผลให้คุณมีบุตรยาก

มีอะไรอีกบ้างที่จะเกิดขึ้นในการปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมตัวตั้งครรภ์

นอกจากการพบปะเพื่อปรึกษาหารือและตอบคำถามที่คุณข้องใจ การเข้ารับคำปรึกษานี้ยังอาจรวมถึงการทดสอบบางประการ คุณสามารถเข้าถึงการทดสอบเหล่านี้ได้ผ่านทางการตรวจประจำปีกับสูติแพทย์ของคุณ อย่างการตรวจความดันโลหิต ตรวจแป็บสเมียร์ รวมถึงการตรวจอุ้งเชิงกรานและหน้าอก อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของคุณอาจทดสอบปัญหาที่อาจรบกวนการเจริญพันธุ์ เช่น เนื้องอกในมดลูก ซีสต์ หรือ PCOS โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีอาการของโรคเหล่านี้

การตรวจเลือดยังสามารถเช็คระดับวิตามินของคุณ สุขภาพของต่อมไทรอยด์ สถานะของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) และภูมิคุ้มกันสำหรับการเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น อีสุกอีใสและโรคตับอักเสบบี แพทย์อาจทำการตรวจปัสสาวะหรือตรวจคัดกรองสุขภาพจิตด้วย

สำหรับคู่รักที่อยากท้องเต็มแก่ การพบแพทย์เพื่อปรึกษาในแนวทางเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยนะคะ เพราะจะได้เพิ่มความมั่นใจได้ว่าหากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ทารกน้อยของเราจะเติบโตในครรภ์อย่างสมบูรณ์แข็งแรง และช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ด้วยค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th