Site icon Motherhood.co.th Blog

“อวัยวะเสียหายจากโควิด” เกิดได้ในผู้ติดเชื้ออายุน้อยกว่า 50 ปี

เมื่ออวัยวะเสียหายจากโควิด

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อายุไม่น้อยมีอวัยวะที่เสียหายจากโควิดกันมากขึ้น

“อวัยวะเสียหายจากโควิด” เกิดได้ในผู้ติดเชื้ออายุน้อยกว่า 50 ปี

อาการแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโควิด-19 เป็นสิ่งที่ผู้คนกำลังกลัว โดยเฉพาะ “อวัยวะเสียหายจากโควิด” ที่มีงานวิจัยออกมารองรับแล้วว่าสามารถพบได้ในผู้ติดเชื้อในวัยผู้ใหญ่ที่อายุไม่ถึง 50 ปี เช่นเดียวกับที่พบได้ในกลุ่มผู้สูงอายุ

ผู้ติดเชื้ออายุน้อยมีอวัยวะเสียหายจากโควิดมากขึ้น

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวจัดทำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย 7 แห่งในสหราชอาณาจักร หน่วยงานดูแลสังคมและสุขภาพ และกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ และได้ศึกษาเกี่ยวกับจำนวนของอาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยโควิด-19 ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

งานวิจัยได้ทำการศึกษาจากผู้ใหญ่ทุกช่วงวัยจำนวน 73,197 คน จากโรงพยาบาลทั่วสหราชอาณาจักร 302 แห่ง ในช่วงการระบาดระลอกแรกของโควิดในปี 2020 พบว่า 4 ใน 10 ของผู้ที่มีอายุ 19-49 ปี มีอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับไต ปอด หรือ อวัยวะอื่น ๆ ระหว่างรับการรักษา

อวัยวะที่มักได้รับความเสียหายได้แก่ ปอด ไต และหัวใจ

ศ.คาลัม เซมเพิล หัวหน้าคณะนักวิจัยชุดนี้ กล่าวว่า “สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่านี่ไม่ใช่โรคของผู้สูงอายุและผู้ที่อ่อนแอเท่านั้น โควิดไม่ใช่แค่ไข้หวัด และเรากำลังเห็นผู้ใหญ่ที่อายุยังน้อยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการแทรกซ้อนหลายอย่าง ผู้ป่วยบางส่วนจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวัง และอาจจะต้องได้รับการรักษาต่อไปในอนาคต”

โดยทั่วไป ราวครึ่งหนึ่งของคนไข้วัยผู้ใหญ่เผชิญกับอาการแทรกซ้อนอย่างน้อย 1 อย่าง ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาล อาการแทรกซ้อนที่พบได้มากที่สุดคือ ไตได้รับความเสียหาย ตามมาด้วยความเสียหายของปอดและหัวใจ

สำหรับอัตราการเกิดอาการแทรกซ้อนสูงสุดอยู่ในกลุ่มคนไข้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยมี 51% ที่มีรายงานว่ามีอาการแทรกซ้อนอย่างน้อย 1 อย่าง แต่ก็ยังพบอาการแทรกซ้อนมากเป็นปกติในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่าด้วย โดยประมาณ 37% ของคนอายุระหว่าง 30-39 ปี และ 44% ของคนอายุระหว่าง 40-49 ปี มีอาการแทรกซ้อนอย่างน้อย 1 อย่าง

แต่ขณะนี้แพทย์ยังไม่มั่นใจว่า อาการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิดสามารถทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะได้อย่างไร แพทย์เชื่อว่าในบางกรณี ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนไข้เองถูกกระตุ้น จนทำให้เกิดการอักเสบและทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่ดีพลอยได้รับความเสียหาย

การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ต (Lancet) พบว่า ผู้ที่มีอาการป่วยอยู่แล้วก่อนหน้า มีโอกาสที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนได้มากกว่า แต่ก็ถือว่ายังมีความเสี่ยงสูงในกลุ่มคนสุขภาพแข็งแรงและอายุน้อย

โควิด-19 ไม่ใช่โรคที่ส่งผลร้ายแรงมากต่อผู้สูงอายุเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป

อายุเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดหรือ ?

ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด มีผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในอังกฤษ 406,687 คน ในจำนวนนี้ 62% เป็นผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปี ซึ่งจำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่เดือน ก.พ. 2020 มีจำนวน 155,866 คน

อัตราการให้วัคซีนที่สูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีความเสี่ยง ทำให้อายุเฉลี่ยของผู้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลลดต่ำลง งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นในช่วงการระบาดระลอกแรกของโควิดระหว่าง 17 ม.ค.-4 ส.ค. 2020 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีวัคซีนและมีการตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์

โดยผู้วิจัยระบุว่า ข้อมูลเผยให้เห็นว่าผู้ที่มีอาการป่วยโควิดรุนแรงมากกว่าตอนที่ไปเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล มีโอกาสที่จะมีปัญหาทางสุขภาพร้ายแรงมากขึ้น วัคซีนจึงมีความสำคัญในการลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยในระลอกล่าสุด

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ออกแบบมาเพื่อพิจารณาถึงอาการแทรกซ้อนในระยะสั้นระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ไม่มีหลักฐานว่าความเสียหายที่เกิดกับอวัยวะจะคงอยู่ต่อไป จนกลายเป็นรูปแบบที่รู้จักกันว่าลองโควิด (Long Covid) หรือไม่

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th