Site icon Motherhood.co.th Blog

10 อาการประหลาด ที่อาจพบได้ในทารกแรกเกิด

อาการประหลาดของทารก

นี่คือ 10 อาการประหลาดของทารกที่รพ.อาจไม่เคยบอกคุณ

10 อาการประหลาด ที่อาจพบได้ในทารกแรกเกิด

พ่อแม่มือใหม่อาจรู้สึกกังวลเมื่อพบว่าทารกแรกเกิดมี “อาการประหลาด” ต่าง ๆ ในบทความนี้ เราจะบอกคุณเกี่ยวกับอาการเหล่านั้น ที่พวกเขาอาจจะไม่เคยบอกให้คุณรู้มาก่อนที่โรงพยาบาล

แน่นอนว่าหนังสือและชั้นเรียนที่คุณเคยเข้าได้เตรียมความพร้อมให้คุณไว้สำหรับสิ่งสำคัญ ๆ แล้ว แต่อาการแปลก ๆ บางอย่างที่ทารกน้อยมีก็อาจทำให้คุณตกใจหรือเป็นกังวลได้ ก่อนที่คุณจะวิ่งไปที่โทรศัพท์เพื่อโทรหากุมารแพทย์ เราได้สรุปเกี่ยวกับอาการที่แปลกประหลาด แต่เป็นเรื่องปกติโดยสิ้นเชิงที่คุณจะคพบได้ในทารกแรกเกิดตัวน้อยของคุณในไม่ช้าก็เร็ว

1. ไขบนหนังศีรษะ

มันคืออะไร ?

ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ไขบนหนังศีรษะอาจจะดูแปลก ๆ เล็กน้อย แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดา พวกมันมาได้ยังไง ? จริง ๆ แล้วไม่มีใครรู้แน่ชัด ข่าวดีก็คือความแห้งกร้านหรือรอยแตกพวกนั้นจะหายไปเองภายใน 2-3 เดือนแรกของทารก (แต่สำหรับบางคนที่มีการลามไปทั่วอาจใช้เวลานานกว่านั้น) ในระหว่างนี้ ให้ลองถูเบบี้ออยล์บนบริเวณที่แห้ง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ให้ทำเป็นกิจวัตรก่อนอาบน้ำทารกและขูดเกล็ดเหล่านั้นออกด้วยหวีซี่ละเอียด

ไขเหล่านี้สามารถกำจัดออกเองได้ไม่ยาก

เมื่อไหร่ที่ควรกังวล: โชคดีที่คุณไม่ต้องกังวลมากเกินไปกับเรื่องนี้ โดยพื้นฐานแล้วไม่มีอะไรมากไปกว่าผื่นทั่วไป แต่ถ้ามันลุกลามเกินบริเวณหนังศีรษะของทารก หรือดูเหมือนว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ให้ปรึกษาแพทย์ของคุณเกี่ยวกับการใช้ยาทาตามใบสั่งแพทย์

2. อึระเบิด

มันคืออะไร ?

โอเค เราอาจจะใช้คำว่า “ระเบิด” ให้ดูเกินจริงไปหน่อย แต่ความจริงก็คือคุณยังไม่ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในการเป็นพ่อแม่จนกว่าคุณจะต้องรับมือกับการระเบิดผ้าอ้อม 1-2 ครั้ง กล่าวอีกนัยหนึ่ง คุณไม่ใช่คุณแม่คนแรกที่ทำความสะอาดอึที่เปื้อนผนังห้องนอน อึของทารกแรกเกิดส่วนใหญ่เป็นของเหลวที่มีเนื้อสัมผัสคล้ายเมล็ดมัสตาร์ดผสมอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องใช้พลังมากนักในการขับเคลื่อนพวกมันไปทั่วห้อง

เมื่อไหร่ที่ควรกังวล: ตราบใดที่มีสี (ตั้งแต่สีน้ำตาล สีเขียว จนถึงสีเหลือง) และมีสิ่งคล้ายเมล็ดอยู่ในนั้น อึของทารกก็ยังดีอยู่ แต่ถ้าคุณเห็นสัญญาณของเลือด ก็รีบโทรปรึกษาแพทย์ได้เลย

3. มีหน้าอก

มันคืออะไร ?

จำฮอร์โมนที่บ้าคลั่งที่รบกวนการตั้งครรภ์ทั้งหมดของคุณได้หรือเปล่า ? (จะลืมลงไปได้ยังไง ?) พวกมันก็ให้ผลมายังลูกด้วย และน่าเสียดายที่ผลข้างเคียงอย่างหนึ่งของการที่อยู่ในท้องมาถึง 9 เดือน อาจจะเป็นหน้าอกที่ใหญ่ขึ้น การที่ทารกได้รับฮอร์โมนของคุณมักจะทำให้เนื้อเยื่อเต้านมพัฒนาขึ้น เนื่องจากต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่ฮอร์โมนจะเสื่อมสภาพ แต่อย่าเครียด โดยทั่วไปแล้วพวกมันไม่มีอะไรต้องกังวล และมันควรจะหายไปทันเวลา

ฮอร์โมนส่วนเกินบางครั้งก็ส่งต่อมาถึงทารกได้เช่นกัน

เมื่อไหร่ที่ควรกังวล: สังเกตเห็นรอยแดงรอบ ๆ เต้านมของทารกหรือไม่ ? หากเป็นเช่นนั้น ให้เช็คอุณหภูมิของทารกเพื่อดูว่ามีไข้หรือไม่ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของบางสิ่งบางอย่างที่ร้ายแรงกว่า และมีเหตุผลที่จะต้องพาไปตรวจ

4. เสียงครวญครางแปลก ๆ

มันคืออะไร ?

หากคุณคาดหวังว่าจะมีเสียงแค่เพียงเล็กน้อยและร้องไห้ออกมาเป็นครั้งคราว ขอให้คุณคิดใหม่ มันมีทั้งเสียงฮึดฮัด คร่ำครวญ เสียงกร้าว และเสียงตลกอื่น ๆ อีกมากมายที่คุณจะได้ยินจากพวกเขา เสียงแปลก ๆ เหล่านี้เกิดจากทางเดินจมูกของทารกค่อนข้างแคบในระยะแรกเกิด ทำให้น้ำมูกที่ติดอยู่ในนั้นไปสร้างเอฟเฟกต์เสียงเพิ่มเติม ดังนั้น หากคุณเคยได้ยินเสียงซิมโฟนีเมื่อเร็ว ๆ นี้คุ ณอาจต้องใช้เวลามากขึ้นในการล้างจมูกของทารกด้วยเครื่องดูดน้ำมูก

เมื่อไหร่ที่ควรกังวล: สังเกตว่าทารกทำเสียงขณะหายใจแต่ละครั้งหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น พวกเขาอาจมีปัญหาในการหายใจ ให้โทรหากุมารแพทย์ของคุณโดยเร็ว

5. จามอย่างต่อเนื่อง

มันคืออะไร ?

อย่าลืมว่าทารกยังใหม่สำหรับโลกนี้และทุกสิ่งในโลกนี้ และด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อหลายสิ่งที่คุณเคยมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ดังนั้น หากทารกจามเป็นพายุ แต่ไม่ได้ป่วยจริง ๆ พวกเขาอาจพยายามขับไล่สิ่งแปลกปลอมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เข้ามาทางจมูกของพวกเขา การมองไปที่แสงก็เป็นการปรับตัวเช่นกัน ดังนั้น หากคุณพาลูกออกไปข้างนอกในวันที่แดดจ้าและพวกเขาเริ่มจาม จริง ๆ แล้วอาจเป็นเพราะดวงอาทิตย์ ไม่ใช่อาการแพ้ สาเหตุอื่น ๆ ของการจามอาจเกิดจากการกำจัดเมือกส่วนเกินหรือแม้แต่น้ำคร่ำออกจากทางเดินหายใจ

เมื่อไหร่ที่ควรกังวล: หากการจามของทารกเกิดร่วมกับการหายใจดังเสียงฮืด ๆ ให้กุมารแพทย์ของคุณตรวจดูว่าอาจเป็นอาการแพ้หรืออย่างอื่นที่ต้องได้รับการรักษาหรือไม่ คุณต้องแน่ใจว่าการหายใจของทารกเป็นปกติ การกลืนเป็นปกติ และปอดโล่ง เพื่อที่จะแยกแยะสิ่งที่ร้ายแรงออกไป

6. การเคลื่อนไหวกระตุกแบบไม่มีสาเหตุ

มันคืออะไร ?

การกระตุกแบบไร้สาเหตุและการเหวี่ยงแขนขาแบบกระตุกของทารกอาจทำให้ดูสั่นเล็กน้อยในตอนแรก แต่พึงระลึกไว้เสมอว่าทุกอย่างมีที่มาของมัน ในช่วง 2-3 เดือนแรกนั้น ทารกจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงการเสริมสร้างปฏิกิริยาสะท้อนกลับ บางทีคุณอาจเห็นว่ามันเกิดขึ้นแบบสุ่มหรืออาจเกิดขึ้นหลังจากที่ทารกได้ยินเสียงดัง แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ปฏิกิริยาสะท้อนกลับจะเริ่มสงบลงประมาณ 3-4 เดือน ในระหว่างนี้คุณอาจต้องการนำทักษะการห่อตัวไปใช้ประโยชน์ ทารกมักจะสะดุ้งตื่น และการห่อตัวจะช่วยให้ทารกนอนหลับสนิทมากขึ้น

เมื่อไหร่ที่ควรกังวล: จริงๆแล้วคุณควรกังวลก็ต่อเมื่อทารกไม่แสดงอาการกระตุกหรือเกร็ง การไม่แสดงอาการเหล่านั้นอาจหมายความว่ามีบางอย่างไม่ถูกต้องนัก ดังนั้น หากทารกไม่แสดงอาการเหล่านี้ให้ปรึกษาแพทย์ของคุณ

7. รูปทรงศีรษะแปลก ๆ

มันคืออะไร ?

ทารกทำงานล่วงเวลาเพื่อลงไปในช่องทางที่จะคลอด และหลังจากการเดินทางครั้งนั้นไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาออกมาเป็นสีม่วงและดูบวมทั้งหมด เนื่องจากศีรษะของทารกน้อยนุ่มและอ่อนตัวได้ในช่วงแรก การลอดตัวผ่านกระดูกเชิงกรานของคุณอาจทำให้เกิดการแฟบได้อย่างแน่นอน หากไม่เกิดขึ้นระหว่างการคลอด ทารกอาจมีจุดแบนในภายหลังจากการนอนหงายมากเกินไป หากคุณสังเกตเห็นสิ่งนี้ให้ลองอุ้มทารกไว้ในอ้อมแขนของคุณให้มากขึ้น หรือเพิ่มเวลาให้ทารกได้นอนคว่ำเมื่อเขาตื่น และสลับตำแหน่งที่คุณวางของเล่น เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งเพียงอย่างเดียว

มีหมวกกันน็อคที่ช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้

เมื่อไหร่ที่ควรกังวล: หากคุณลองทำทุกอย่างแล้วแต่ศีรษะของทารกยังดูแบนอยู่ ให้ปรึกษากุมารแพทย์ของคุณ พวกเขาอาจต้องสวมหมวกกันน็อคชั่วคราวเพื่อแก้ไขรูปร่างของศีรษะ หมวกกันน็อคจะมีประสิทธิภาพสูงสุดหากสวมใส่เร็วที่สุดตั้งแต่ 4-6 เดือน ดังนั้น อย่ารอนานเกินไปที่จะพูด หากคุณรู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติ

8. อวัยวะเพศบวม

มันคืออะไร ?

ไม่มีวิธีที่ละเอียดอ่อนในการพูดถึงเรื่องนี้ หากคุณเพิ่งให้กำเนิดเด็กชาย คุณอาจสังเกตเห็นชิ้นส่วนของเขามีขนาดใหญ่กว่าที่คุณคาดไว้อย่างมาก โดยเฉพาะอัณฑะ ทารกอาจได้รับผลกระทบจากการได้รับฮอร์โมนในท้องก่อนคลอด หรืออาจมีของเหลวสะสมมากขึ้นในถุงรอบ ๆ อัณฑะของเขา แต่ไม่ต้องกังวล เขาจะขับมันออกพร้อมกับฉี่ในอีกไม่กี่วัน เช่นเดียวกันกับทารกเพศหญิงของคุณซึ่งอาจมีอาการบวมเป็นเวลา 2-3 วันหลังคลอด ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดอาการบวมควรจะลดลงด้วยเวลาเล็กน้อย

เมื่อไหร่ที่ควรกังวล: หากอาการบวมไม่ลดลงภายใน 2-3 วันหลังคลอด คุณควรได้รับการตรวจโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีทารกเพศชาย เด็กผู้ชายสามารถเกิดภาวะที่เรียกว่าถุงน้ำลูกอัณฑะ (Hydrocele) ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจใช้เวลาถึง 1 ปีในการแก้ไขด้วยตัวเอง

9. เลือดบนผ้าอ้อม

มันคืออะไร ?

การสังเกตแม้แต่รอยเลือดที่เล็กที่สุดในผ้าอ้อมของทารกก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้พ่อแม่มือใหม่ตกใจ แต่ความจริงก็คือมันไม่ได้ทำให้เกิดการเตือนภัยเสมอไป มีสาเหตุหลายประการที่อาจเกิดขึ้นซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นชั่วคราว หากคุณเพิ่งมีลูกผู้หญิง เธออาจกำลังประสบกับผลข้างเคียงบางอย่างจากการสัมผัสกับฮอร์โมนของคุณในมดลูก ไม่ต้องกังวล “ประจำเดือนน้อย ๆ” นี้เป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในเด็กทารกที่ต้องถอนฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงเล็กน้อยในช่วงไม่กี่วันหลังคลอด สาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ การเคลื่อนไหวของลำไส้ที่หยาบเป็นพิเศษอาจทำให้เกิดรอยขีดข่วนหรือถูกบาดเล็กน้อย แต่เลือดควรจะจางลงอย่างรวดเร็ว

เพียงไม่กี่วันหลังคลอดรอยเลือดก็จะหายไป

เมื่อไหร่ที่ควรกังวล: แม้ว่ามันอาจจะเป็นเรื่องปกติ เพื่อความปลอดภัยของคุณเอง เพียงโทรหาแพทย์ของคุณทุกครั้งที่คุณพบรอยเลือด

10. ตาเหล่

มันคืออะไร ?

ในตอนแรกคาดว่าจะมีอาการตาเหล่เล็กน้อยในทารก ทารกยังคงพยายามแยกแยะความสามารถที่เพิ่งค้นพบทั้งหมด รวมถึงความสามารถในการมองเห็น และจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการควบคุมกล้ามเนื้อน้อย ๆ และฝึกฝนเทคนิคการโฟกัสเหล่านั้น แต่เชื่อหรือไม่ บางครั้งแม้ดวงตาของทารกอาจดูเหมือนกำลังไขว้กัน แต่ก็อาจไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากดั้งจมูกที่กว้าง ผิวหนังส่วนเกินที่พับอยู่สามารถบังส่วนสีขาวบางส่วนของดวงตาของทารกได้ ลองดูให้ดีขึ้น รูม่านตาของทารกเรียงกันและขยับเข้าหากันจริงหรือ ?

ถ้ายังไม่หายภายใน 6 เดือน อาจมีอาการตาขี้เกียจ

เมื่อไหร่ที่ควรกังวล: หากทารกยังคงแสดงอาการตาเหล่ภายใน 6 เดือน คุณควรนัดหมายเพื่อดูว่ามีสิ่งอื่นหรือไม่ หากดวงตาของทารกเหล่าอย่างเรื้อรังในสองทิศทางที่แตกต่างกันอาจมีอาการตาเหล่ และหากมีตาเพียงข้างเดียวที่เหล่อาจเป็นตามัวหรือตาขี้เกียจ

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th