เบาหวานในเด็ก พ่อแม่ดูแลเขาอย่างไร ?
เมื่อพูดถึงโรคเบาหวาน คนมักจะคิดว่าเป็นกันแต่ในผู้ใหญ่ที่อาจจะมีน้ำหนักเกินหรือพฤติกรรมการกินที่ไม่ดี แต่ “เบาหวานในเด็ก” ก็เป็นสิ่งที่สามารถพบได้เช่นกันนะคะ หากเรารู้ว่ากลไกของการเป็นโรคเบาหวานคืออะไร เราก็จะเข้าใจว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงเป็นโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ และเนื่องในวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้เป็นวันเบาหวานโลก Motherhood เลยจะพาคุณไปรู้จักกับมันให้มากขึ้นค่ะ
โรคเบาหวานในเด็ก
โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่น้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ซึ่งเป็นความผิดปกติของการสร้างอินซูลินหรือการทำงานของอินซูลิน หรือจากทั้งสองสาเหตุร่วมกัน ซึ่งส่งผลต่อการดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้กลายเป็นพลังงานมีความผิดปกติหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โรคเบาหวานที่พบในเด็กสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- เบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes) โรคนี้เกิดได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนมากมักจะตัวไม่อ้วน สาเหตุมาจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น อาการที่พบได้บ่อยคือ รู้สึกกระหายน้ำมาก ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะเยอะ หิวบ่อย กินเก่งแต่น้ำหนักกลับลดลง มีความอ่อนเพลีย ในบางรายที่มีภาวะรุนแรงจะพบภาวะเลือดเป็นกรด ส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรืออาจช็อกหมดสติได้ การรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักทำโดยการฉีดยาอินซูลิน และเจาะเลือดปลายนิ้วเพื่อเช็คน้ำตาล ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร ให้กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และการออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานชนิดนี้คือ ภาวะเลือดเป็นกรด (Ketoacidosis) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีอันตรายถึงชีวิต
- เบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes) ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ป่วยที่เข้าวัยรุ่นแล้ว เกิดจากจากเซลล์ร่างกายไม่ตอบสนองหรือดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน มักพบในเด็กที่มีภาวะโรคอ้วนหรือภาวะโภชนาการเกิน หรือปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น เชื้อชาติ รวมไปถึงประวัติการคลอดที่มีน้ำหนักแรกเกิดมากหรือน้อยกว่าปกติ อาการที่พบได้บ่อยคือ ปัสสาวะบ่อยขึ้นโดยเฉพาะตอนกลางคืน ผิวหนังต้นคอหนาดำ บาดแผลหายช้า ภาพเบลอมองไม่ชัดเจน พบภาวะเลือดเป็นกรดได้น้อย ซึ่งการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักทำโดยการกินยาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือยากกระตุ้นการทำงานของอินซูลิน ร่วมกับการดูแลเรื่องอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานประเภทนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ระดับคอเลสเตอรอลสูง
อาการแสดงของโรคเบาหวาน
อาการของโรคเบาหวานเกิดจากการที่มีระดับน้ำตาลสูงในเลือด น้ำตาลจึงรั่วออกมาในปัสสาวะ พร้อมกับทำให้ปัสสาวะมากเพราะน้ำตาลนำเอาน้ำออกมาด้วย เด็กบางรายยังคงมีอาการปัสสาวะรดที่นอนทั้งที่เคยหายไปแล้ว เมื่อร่างกายเสียน้ำมากเด็กจึงมีอาการกระหายน้ำมากผิดปกติ และถึงแม้จะมีระดับน้ำตาลสูงในเลือดแต่ร่างกายขาดอินซูลิน ร่างกายจึงนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย กินเก่ง หิวบ่อย แต่น้ำหนักตัวลด และหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา จะทำให้เลือดเป็นกรดและมีสารคีโทนคั่ง ที่เรียกว่า ดี เค เอ (DKA – Diabetic ketoacidosis) ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาทันที เด็กจะมีอาการอาเจียน ปวดท้อง หายใจหอบลึก ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้จากสารคีโทน ถ้าเป็นรุนแรงอาจหมดสติหรือโคม่าได้ อาการเหล่านี้พบได้ทั้งในเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2
แต่เบาหวานชนิดที่ 2 มักพบในเด็กและวัยรุ่นที่อ้วนหรือน้ำหนักเกิน ส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการในระยะที่เริ่มเป็นหนุ่มสาวแล้ว ประมาณร้อยละ 50-75 ของผู้ป่วยจะมีพ่อหรือแม่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เกือบร้อยละ 90 ของผู้ป่วยจะมีญาติใกล้ชิดเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งนอกจากความอ้วนแล้ว ผู้ป่วยเด็กเบาหวานชนิดที่ 2 มักมีปื้นดำหนาตามคอ รักแร้ ขาหนีบ ไม่สามารถขัดถูออกได้ง่าย บางรายอาจมีการติดเชื้อราร่วมด้วย เช่น ที่ช่องคลอด ผิวหนัง ส่วนใหญ่พ่อแม่มักไม่ค่อยสังเกตว่าเด็กน้ำหนักลด นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยบางรายที่ยังไม่มีอาการ แต่ตรวจพบจากการตรวจสุขภาพทั่วไปหรือมาปรึกษาแพทย์เรื่องความอ้วน จากนั้นแพทย์ได้ทำการตรวจเลือดจึงพบว่ามีน้ำตาลสูงในเลือด นอกจากนี้ในเด็กอ้วนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 อาจมีความผิดปกติของระบบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง นอนกรน ปวดข้อ ไขมันเกาะที่ตับ ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ
โรคเบาหวานในเด็กและโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ต่างกันอย่างไร ?
แม้ว่าโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นมีความคล้ายคลึงกับโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ แต่ก็ยังมีความแตกต่างกัน ดังนี้
- ชนิดของเบาหวาน ส่วนมากเบาหวานที่พบในเด็กจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 แต่ในผู้ใหญ่จะพบชนิดที่ 2 ได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการที่พบเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้น
- การดูแลรักษา เนื่องจากเด็กและวัยรุ่นเป็นวัยที่ยังมีการเติบโต และช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้าน ทั้งในด้านอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และฮอร์โมนต่าง ๆ รวมทั้งยังอยู่ในช่วงวัยเรียน คนรอบข้างเด็กจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ครู และเพื่อน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ด้านต่าง ๆ ฉะนั้น การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กจึงมีความละเอียดซับซ้อนมาก
- ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ถ้าเริ่มเป็นเบาหวานตั้งแต่เด็ก โอกาสที่จะพบภาวะแทรกซ้อนในอนาคตก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี
การรักษาโรคเบาหวาน
หลักกการรักษาผู้ป่วยเด็กเบาหวานขึ้นอยู่กับชนิดของโรคเบาหวาน ดังนี้
- เบาหวานชนิดที่ 1 ปัจจุบันมีเพียงวิธีเดียวคือฉีดอินซูลิน ควบคู่ไปกับการเลือกกินอาหารให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาด้วยยากิน ส่วนการฉีดอินซูลินนั้นก็มีหลายแบบ ตั้งแต่ 2-4 ครั้งต่อวัน หรือในบางรายอาจใช้การติดปั๊มอินซูลินไว้กับตัว เพื่อให้เกิดการหลั่งอินซูลินเหมือนธรรมชาติของตับอ่อนมากที่สุด ส่วนจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาพิจารณาร่วมกับครอบครัวผู้ป่วย
- เบาหวานชนิดที่ 2 เน้นไปที่การดูแลเรื่องอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการกินยาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ถ้าวิธีการเหล่านี้ยังไม่ได้ผล แพทย์จึงจะพิจารณาให้ฉีดยาอินซูลินเพิ่มเติม
ป้องกันโรคเบาหวานให้ลูกได้อย่างไร ?
ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันโรคเบาหวานชนิด 1 ได้ แต่เบาหวานชนิดที่ 2 นั้น เราอาจป้องกันได้โดยการควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะอ้วน ให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายเป็นประจำเพราะมันจะช่วยกระตุ้นการทำงานต่ออินซูลินได้อีกทาง
ในปัจจุบันโรคเบาหวานยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ดังนั้น การมีส่วนร่วมของครอบครัวและโรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการรักษาเด็กที่ป่วยเป็นเบาหวานค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th