Site icon Motherhood.co.th Blog

มีไข้สูงนาน ตาแดง สัญญาณเตือน “โรคคาวาซากิ”

โรคคาวาซากิในเด็ก

โรคคาวาซากิพบบ่อยขึ้นมากในไทย พ่อแม่ต้องระวัง

มีไข้สูงนาน ตาแดง สัญญาณเตือน “โรคคาวาซากิ”

“โรคคาวาซากิ” (Kawasaki disease) คือ กลุ่มอาการของโรคที่ประกอบด้วยไข้สูง ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เยื่อบุผิว หลอดเลือด และต่อมน้ำเหลืองที่คอโต พบบ่อยในเด็กชาวเอเชีย โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และ ประเทศจีน ส่วนในเด็กชาวยุโรปและอเมริกายังพบได้น้อย และยิ่งพบได้น้อยมากในเด็กชาวผิวดำ โดยพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงเล็กน้อย โรคนี้พบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย แต่ยังไม่ทราบถึงอุบัติการณ์ที่แน่ชัด และไม่มีส่วนสัมพันธ์กับฤดูกาล

โรคคาวาซากิ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะ เฉียบพลัน (Acute stage)
  2. ระยะ Subacute stage
  3. ระยะ Convalescent stage

ดังนั้น การวินิจฉัยโรคให้พบตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะ ภายใน 5-7 วันแรกของโรคจึงมีความสำคัญมาก จะได้รีบทำการรักษาและป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นที่หัวใจและเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (Coronary artery)

เยื่อบุผิวหนังมีปัญหา ผิวจะมีผื่นแดงและอยู่นานประมาณ 1 สัปดาห์

สาเหตุของโรค

สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวกับทางพันธุกรรม (Genetic) ร่วมด้วย มักพบในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 8 ปี และจะพบมากในช่วงอายุ 1-5 ปี ซึ่งจะพบได้ในเด็กทั้งสองเพศ แต่มักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง

อาการของโรค

  1. เด็กจะมีไข้สูง หากไม่ได้รับการรักษาไข้จะสูงนาน ประมาณ 1-2 สัปดาห์
  2. อาการตาแดง โดยเยื่อบุตาขาวจะแดงทั้ง 2 ข้าง แต่ไม่มีขี้ตา เกิดอาการหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน และเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์
  3. มีการเปลี่ยนแปลงของริมฝีปากและภายในช่องปาก โดยริมฝีปากแดงแห้ง เป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผิวหนังริมฝีปากอาจแตกแห้ง เลือดออกและผิวหนังหลุดลอกได้ ภายในเยื่ออุ้งปากจะแดง ลิ้นก็จะแดงคล้ายลูกสตรอเบอรี่ (Strawberry tongue)
  4. ฝ่ามือและฝ่าเท้าจะบวมแดงแต่ไม่เจ็บ หลังจากนั้นจะมีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า ในช่วงประมาณ 10-14 วันหลังมีไข้ และอาจลามไปที่ฝ่ามือฝ่าเท้า บางรายเล็บอาจหลุดได้ หลังจากนั้นบางรายจะมีรอยขวางที่เล็บ (Beau’s line) ในช่วง 1-2 เดือน
  5. มีผื่นขึ้นตามตัวและแขนขา มักเกิดหลังมีไข้ 1-2 วัน และเป็นได้หลายแบบ ผื่นจะอยู่นานประมาณ 1 สัปดาห์ บางรายมีผื่นแถวอวัยวะเพศร่วมด้วย และพบประมาณ 60% มีผื่นแดงขึ้นที่บริเวณฉีดวัคซีนกันวัณโรคที่หัวไหล่
  6. ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต โดยพบประมาณร้อยละ 50-70 ของผู้ป่วย มีขนาดโตกว่า 1.5 ซม. แต่ไม่เจ็บ
  7. อาการแสดงอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย ได้แก่ ปวดตามข้อ ทางเดินปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ปวดท้อง ท้องเสีย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานของตับ และบางรายมีอาการช็อก

ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงไม่ครบตามข้อกำหนด เราเรียกภาวะนี้ว่า Incomplete Kawasaki Disease หรือ Atypical Kawasaki Disease

ลิ้นจะแดงและมีตุ่มคล้ายลูกสตรอว์เบอร์รี่

ภาวะแทรกซ้อนที่พบ

หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบโป่งพอง (Coronary aneurysm) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที ภายใน 7 วันแรกของโรค

การตรวจพบภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะต้องอาศัยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ถ่ายภาพรังสีทรวงอก และการตรวจโดยใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) ตอนเริ่มเป็นโรคและหลังการรักษาเพื่อดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ และ/หรือหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจและหรือหลอดเลือด ก็จะต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องตามความรุนแรงของโรค

การดูแลรักษาผู้ป่วย

การดูแลรักษาต้องอาศัยการดูแลร่วมกันระหว่างกุมารแพทย์ทั่วไปและกุมารแพทย์โรคหัวใจ โดยผู้ป่วยที่ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคคาวาซากิควรได้รับยา Intravenous Gammaglobulin (IVIG) ในขนาดสูงงเพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจและหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ลดการอักเสบผนังหลอดเลือดเพื่อไม่ให้เกิดการโป่งพองและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ร่วมกับการให้ยากันเลือดแข็งตัว (Aspirin) แต่มีโอกาสประมาณ 10 % ที่ผู้ป่วยจะดื้อต่อการรักษา ต้องให้ยาเพิ่ม

มือและเท้าจะบวมแดง แต่จะไม่เจ็บปวดใด ๆ

สำหรับผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาด้วยยา Intravenous Gammaglobulin (IVIG) จะต้องเว้นการรับวัคซีนชนิดมีตัวเป็นเวลา 7-9 เดือน นับจากได้รับยารักษา

โรคนี้สามารถเกิดเป็นซ้ำได้ประมาณ 3-3.5 % หรือ 6.89 คนต่อผู้ป่วยเด็ก 1000 ราย ต่อปี โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่มีโรคแทรกซ้อน และพบได้บ่อยในเด็กที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน หรือมีสายสัมพันธ์กันทางสายเลือด โดยพบประมาณ 1-2%

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th