“ไวรัสโรต้า” วายร้ายประจำหน้าร้อนที่พ่อแม่ต้องรู้จัก
หน้าร้อนแบบนี้เชื้อโรคเติบโตได้เร็วมาก และเด็ก ๆ ก็อยู่ในวัยที่ชอบสัมผัสสิ่งรอบตัว “ไวรัสโรต้า” จึงเป็นวายร้ายเจ้าประจำของหน้าร้อนที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความรู้จักเอาไว้ เพราะมันเป็นช่องทางที่นำไปสู่โรคท้องร่วงแบบเฉียบพลันได้ ซึ่งอาจะเป็นอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว
ไวรัสโรต้าในเด็ก
โรต้าไวรัสมักพบได้ในเด็กเล็ก เมื่อเด็กรับเชื้อไวรัสตัวนี้เข้าไปจะทําให้เกิดโรคท้องเสียโรต้า เมื่อเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไปถึงทางเดินอาหาร เชื้อจะทําให้เยื่อบุลําไส้เล็กบาดเจ็บ เซลล์เยื่อบุลําไส้เล็กก็จะสร้างน้ำย่อยได้น้อยลง ทําให้การย่อยนมและอาหารลดลง การดูดซึมน้ำก็ลดลงด้วย ขณะเดียวกันลําไส้เล็กมีการหลั่งเกินร่วมด้วย ทําให้ท้องเสีย เมื่อเซลล์เยื่อบุลําไส้สร้างเสริมตัวเองเพื่อซ่อมแซม โดยมักจะเกิดขึ้นภายใน 3-5 วัน อาการท้องเสียก็จะหายไป
อาการของโรค
- อาเจียน
- ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
- มีไข้
- ชักเพราะไข้สูง
จะมีไข้ อาเจียนมากในวันแรก ตามด้วยท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อุจจาระมักมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว อาการอาเจียนและท้องเสียทําให้เด็กเกิดภาวะขาดน้ำ อาการที่แสดงถึงภาวะขาดน้ำ ได้แก่ ปากแห้ง ร้องไห้แต่ไม่มีน้ำตา กระหายน้ำมาก ตาโหล กระหม่อมบุ๋ม หากขาดน้ำรุนแรงมากขึ้นจะทําให้เด็กซึม ปัสสาวะน้อย หากยังไม่ได้รับการรักษาจะเป็นอันตรายจนช็อกหรือเสียชีวิตได้ อาการท้องเสียมักจะเป็นอยู่ประมาณ 3-7 วัน
ใครอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ?
เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ขวบ เป็นช่วงอายุที่พบได้บ่อยที่สุด เด็กที่อยู่รวมกันในสถานเลี้ยงเด็กและเด็กที่ใกล้ชิดกับเด็กที่ท้องเสียจากเชื้อนี้
วิธีการรักษา
การดูแลรักษาลูกน้อยที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้าที่ดีที่สุดคือ การทดแทนน้ำในร่างกายที่สูญเสียไปเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงและดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร ดังนี้
- ดื่มน้ำเกลือแร่ครั้งละน้อย แต่ดื่มบ่อย ๆ
- เลี่ยงการให้ยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อ
- งดนมและผลไม้
- ถ้าเป็นเด็กเล็กไม่จำเป็นต้องหยุดนมแม่
- หากอาการไม่รุนแรงควรให้ดื่มน้ำสะอาดร่วมกับน้ำเกลือแร่ รับประทานอาหารอาหารเหลวและอาหารอ่อน ๆ
- ถ้าอาการรุนแรง คือ มีไข้สูง ถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน ซึม และเพลียมาก ควรรีบพบแพทย์ทันที
ข้อมูลวัคซีนโรต้า
วัคซีนป้องกันอาการท้องร่วงรุนแรงจากไวรัสโรต้าในปัจจุบันเป็นวัคซีนชนิดหยอดที่ใช้ได้เฉพาะในเด็กเล็กเท่านั้น ขณะนี้มีด้วยกัน 2 ชนิดในประเทศไทย เริ่มหยอดครั้งแรกตอนเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 6 สัปดาห์ ครั้งต่อไปให้ห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หยอดทั้งหมด 2 หรือ 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีน ดังนี้
- ชนิดแรก หยอดทั้งสิ้น 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายควรให้เสร็จก่อนอายุ 6 เดือน
- ชนิดที่สอง หยอดทั้งสิ้น 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายควรให้เสร็จก่อนอายุ 8 เดือน
วัคซีนลดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงจากเชื้อโรต้าไวรัสได้ 80-90% ลดการรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจากท้องเสียได้ประมาณ 80-95% โดยรวมป้องกันท้องเสียจากเชื้อโรต้าได้ถึง 70% หากเด็กได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครบถ้วน แม้จะท้องร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าก็จะมีอาการเบาลง
วัคซีนมีความปลอดภัยสูง อาจมีอาการข้างเคียงได้บ้าง เช่น ไข้ ถ่ายเหลว อาเจียน ซึ่งไม่รุนแรง
ป้องกันไวรัสโรต้า
เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าส่วนใหญ่ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงและการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ เพราะฉะนั้นวิธีการป้องกันที่ดี ได้แก่
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนเตรียมหรือก่อนรับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่
- ดื่มน้ำสะอาด
- ไม่ใช้อุปกรณ์การรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- ถ้าเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็กต้องล้างมือทุกครั้ง
- หมั่นทำความสะอาดของเล่นและของใช้ลูกอยู่เสมอ
- เลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่มีอาการท้องเสีย
- หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรค
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th