Site icon Motherhood.co.th Blog

CMV virus อันตรายแค่ไหนถ้าลูกคุณติด ?

ทารกติด CMV virus

มาทำความรู้จักกับ CMV virus ให้มากขึ้นกันดีกว่า

CMV virus อันตรายแค่ไหนถ้าลูกคุณติด ?

ช่วงนี้เริ่มมีกระแสการป่วยของเด็ก ๆ ที่มีสาเหตุมาจาก “CMV virus” คุณพ่อคุณแม่หลายคนจริงเกิดความเป็นห่วง พร้อมทั้งอยากมีความรู้ให้มากขึ้นถึงที่มาที่ไปของเจ้าไวรัสชนิดนี้ รวมทั้งการดูแลรักษา วันนี้ Motherhood เลยนำเอาความรู้เรื่องนี้มาฝากกันค่ะ

CMV virus คืออะไร ?

Cytomegalovirus infection คือ โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไซโตเมกาโลไวรัสหรือเชื้อซีเอ็มวี (Cytomegalovirus – CMV) ที่ทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า หรือปอดบวม สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีสุขภาพแข็งแรงส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงอาการ แต่หากเป็นทารกหรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำอาจมีอาการรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนของโรคยังอาจทำให้ถึงขั้นตาบอดหรือหูหนวก

โรคนี้เกิดจากเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส

หลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อไซโตเมกาโลไวรัสเข้าสู่ร่างกาย เชื้อไวรัสนี้จะกระจายไปอยู่ตามของเหลวภายในร่างกาย เช่นในน้ำลาย เลือด อสุจิ และน้ำนม โดยสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านทางการสัมผัสโดนสารคัดหลั่ง การมีเพศสัมพันธ์ หรือการเปลี่ยนถ่ายเลือด ทั้งนี้ Cytomegalovirus infection เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หาย แต่สามารถใช้ยาเพื่อควบคุมเชื้อภายในร่างกายที่ทำให้เกิดอาการได้

อาการของโรค

สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีสุขภาพดีมักไม่มีอาการปรากฏให้เห็น แต่ในบางรายอาจมีอาการไม่สบายอย่างที่พบเห็นกันทั่วไป เช่น เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้สูง เบื่ออาหาร หรือรู้สึกเหนื่อยล้า

แต่เชื้อสามารถทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ในคน 2 กลุ่ม ดังนี้

1. ทารก

ทารกอาจได้รับเชื้อจากแม่ที่ติดเชื้อหรือได้รับเชื้อจากการดื่มนมแม่ โดยผู้ติดเชื้อที่กำลังตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่จะคลอดทารกที่เสียในครรภ์ หรือคลอดก่อนกำหนด โดยทารกแรกเกิดที่ติดเชื้ออาจมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ศีรษะเล็กกว่าปกติ มีผื่นหรือรอยสีม่วงเป็นปื้นตามร่างกาย ตาเหลือง ตัวเหลือง ม้ามโต ตับโตและมีปัญหาในการทำงาน ปอดบวม ชัก มีพัฒนาการช้า มีความบกพร่องทางสติปัญญา ตาบอด และหูหนวก

อาการที่พบในทารกอาจไม่ปรากฏทันทีตั้งแต่แรกคลอด แต่อาจใช้เวลาหลายเดือนไปจนถึงหลายปีกว่าจะพบอาการ นอกจากนี้ การได้รับเชื้อในช่วงแรกของการตั้งครรภ์อาจรุนแรงกว่าการได้รับเชื้อในช่วงอื่น และบางรายอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้จากการติดเชื้อ

ดังนั้น เมื่อคุณทราบว่าตนเองหรือทารกมีอาการในลักษณะนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

2. ผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ

การที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอนั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อเอชไอวีผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะหรือเซลล์ และผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง ซึ่งเชื้อ CMV ที่กระจายไปทั่วร่างกายจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ดวงตา ระบบทางเดินอาหาร ปอด ตับ และสมอง เชื้อเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและเกิดความเสียหายต่ออวัยวะนั้น ๆ จนส่งผลต่อการทำงานและทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น เช่น ตาพร่า เห็นจุดดำขณะมอง (ฺBlind spot) รู้สึกเจ็บตอนกลืนอาหาร ท้องเสียบ่อย ปวดท้อง ปวดศีรษะ หอบเหนื่อย เป็นเหน็บ ชาตามสันหลัง ไม่มีสมาธิ โคม่า หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม

ด้วยอาการที่รุนแรงและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่มีสูงกว่าคนกลุ่มอื่น ผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำจึงควรเข้ารับการตรวจเลือดเป็นประจำ จะได้ทราบสถานะการติดเชื้อ ซึ่งจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้

ทารกจะได้รับเชื้อก็จากแม่ที่มีเชื้อและทางน้ำนม

สาเหตุของโรค

โรคนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำนม น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด และเลือด นอกจากนี้ เชื้อไซโตเมกาโลไวรัสอาจแพร่กระจายจากคนสู่คนจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้ป่วย การสัมผัสดวงตา โพรงจมูก ช่องปากภายหลังจากการสัมผัสเชื้อ การเข้ารับการถ่ายเลือดหรือปลูกถ่ายอวัยวะ รวมไปถึงในแม่ที่มีเชื้อตอนตั้งครรภ์หรือให้นมลูกเองก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่ทารกได้

ปัจจัยเสี่ยงของโรคยังเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเอดส์ และผู้ที่กำลังใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ที่ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่ำ มักมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อตัวนี้สูงกว่าคนทั่วไป

การวินิจฉัยโรค

สำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และคาดว่ามีเชื้อไซโตเมกะโลไวรัส แพทย์จะเจาะและเก็บตัวอย่างน้ำคร่ำเพื่อหาเชื้อ ส่วนในเด็กแรกเกิดที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโดยกำเนิด แพทย์จะแนะนำให้มาตรวจภายใน 1-3 สัปดาห์หลังคลอด การวินิจฉัยมักทำโดยนำตัวอย่างปัสสาวะไปเข้าห้องปฏิบัติการเพื่อทำการเพาะเชื้อ และระบุชนิดของไวรัส

พบผื่นเป็นปื้นม่วงหรือแดงตามผิวหนังของทารก

การรักษา

โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัสที่เป็นไม่มากไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา โรคจะค่อย ๆ หายได้ด้วยตัวเอง การรักษาจึงเป็นเพียงการควบคุมและลดปริมาณเชื้อภายในร่างกายเพื่อป้องกันอาการและภาวะแทรกซ้อนเท่านั้น ซึ่งผู้ติดเชื้อที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสในการควบคุมเชื้อ

สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและทารกที่ติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการรักษานั้นขึ้นอยู่กับอาการที่พบ หากไม่มีการติดเชื้อที่รุนแรง แพทย์จะสั่งจ่ายยาไวรัสเพื่อควบคุมปริมาณเชื้อ จึงควรรับประทานอย่างต่อเนื่องเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของยาและเพื่อป้องกันการดื้อยา

ภาวะแทรกซ้อน

การติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัสอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เด็กทารกที่ได้รับเชื้อตั้งแต่ในครรภ์อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หหนวก ตาบอด ปัญญาอ่อน ชัก กล้ามเนื้ออ่อนแรง การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อผิดปกติและมีปัญหาการใช้กล้ามเนื้อร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของทารกแรกที่ติดเชื้ออาจไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อนพวกนี้เสมอไป แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีในการลดความเสี่ยง

แม่ท้องยิ่งต้องดูแลตัวเองให้มาก เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรง

ป้องกันได้หรือไม่ ?

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันเชื้อนี้ แต่อาจลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ด้วยการรักษาความสะอาดและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อ การล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำยังคงเป็นการป้องกันที่ดี ดูแลความสะอาดของร่างกายรวมทั้งช่องปาก และสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรงระหว่างตั้งครรภ์ จึงควรดูแลตนเองให้มากเป็นพิเศษ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th