Site icon Motherhood.co.th Blog

วิธีรับมือกับอาการ “Panic attack” ตอนตั้งครรภ์

Panic attack ตอนท้อง

เรียนรู้ที่จะรับมือกับภาวะแพนิกที่อาจเกิดขึ้นกับคุณตอนตั้งครรภ์

วิธีรับมือกับอาการ “Panic attack” ตอนตั้งครรภ์

ความวิตกกังวลและความเครียดระหว่างตั้งครรภ์พบได้บ่อยกว่าที่คุณคิด แม้แต่กับคนที่ไม่เคยมีอาการ “Panic attack” มาก่อนก็อาจประสบกับภาวะนี้ได้ในช่วงที่พวกเขากำลังตั้งครรภ์ได้เช่นกัน แล้วคุณจะรับมือได้อย่างไรหากมันเกิดขึ้นกับคุณ ?

แม้ว่าผู้คนอาจคิดว่าการตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลามหัศจรรย์ แต่ระยะเวลา 9 เดือนนั้นก็ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เปี่ยมไปด้วยความสุขเสมอไป ความเครียดและความวิตกกังวลอาจสูง และอาการแพนิกระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติธรรมดา มีสถิติว่าสตรีมีครรภ์มากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ต้องต่อสู้กับอาการนี้

สถิติบ่งชี้ว่าผู้ตั้งครรภ์ 10% เกิดอาการแพนิก

อาการของภาวะแพนิกระหว่างตั้งครรภ์ไม่แตกต่างจากอาการแพนิกที่เกิดขึ้นในเวลาอื่น

ผู้หญิงที่มีประวัติโรคแพนิกมักจะประสบกับภาวะนี้เช่นกันในช่วงตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เคยมีอาการตื่นตระหนกมาก่อนในชีวิตอาจพบว่าตนเองกำลังประสบกับอาการเหล่านี้ระหว่างตั้งครรภ์ด้วย ในทางกลับกัน บางคนที่มีอาการแพนิกกำเริบอาจพบว่าอาการทุเลาลงเมื่อตั้งครรภ์

การวินิจฉัยภาวะแพนิกขึ้นอยู่กับคำอธิบายของอาการของผู้หญิง เธออาจบ่นว่าคลื่นไส้ หายใจลำบาก และรู้สึกเหมือนจะตาย เธออาจต้องไปที่ห้องฉุกเฉินซึ่งแพทย์อาจสั่งให้มีการทดสอบ

นักวิจัยเชื่อว่าอาการแพนิกระหว่างตั้งครรภ์อาจเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนของผู้หญิง อาจเป็นได้ว่าวิธีที่ร่างกายตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนั้นน่าซับซ้อนและผันผวนมาก

การวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าผู้คนอาจมีความโน้มเอียงทางพันธุกรรมต่อการเป็นโรคแพนิก คุณมีแนวโน้มที่จะประสบกับภาวะแพนิกถ้าสมาชิกในครอบครัวมี ความเครียดหรือความวิตกกังวลสามารถทำให้เกิดอาการได้เช่นกัน และผู้หญิงบางคนเมื่อพบว่ากำลังตั้งครรภ์ และเกิดความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของลูกในครรภ์ขึ้นมาในทันใด ก็อาจทำให้เกิดอาการแพนิกได้

ปรึกษาแพทย์และนักบำบัด เพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง

ความช่วยเหลือสำหรับอาการ Panic attack ระหว่างตั้งครรภ์

เมื่อพูดถึงการตั้งครรภ์ ดูเหมือนว่าทุกคนจะมีเคล็ดลับส่วนตัวและความคิดเห็นที่แน่วแน่ ตัวอย่างเช่น คุณอาจมีพี่สาวหรือน้องสาวที่แบ่งปันประสบการณ์การตั้งครรภ์ของเธอและแนะนำคุณเกี่ยวกับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง หรือบางทีคุณอาจมีป้าที่ชอบเล่าความเชื่อต่าง ๆ ของการตั้งครรภ์ให้คุณฟัง ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ให้ปรึกษาแพทย์ของคุณก่อนเสมอ

แจ้งให้แพทย์ทราบถึงความกังวลของคุณเกี่ยวกับโรคแพนิกระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์ของคุณจะสามารถช่วยคุณแยกแยะข้อเท็จจริงได้ นอกจากนี้ แพทย์จะยังอยู่กับคุณเพื่อหารือเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาอย่างละเอียดในขณะตั้งครรภ์ รวมถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของยารักษาโรคแพนิกที่อาจเกิดขึ้น

สตรีมีครรภ์ที่รู้ว่าสิ่งใดที่อาจก่อให้เกิดอาการแพนิก เช่น การดื่มกาแฟหรือการเข้าไปในห้องที่มีความร้อนสูงเกินไป ควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านั้นเมื่อทำได้

ร่วมงานกับนักบำบัด

นักจิตบำบัดสามารถช่วยให้คุณรับมือกับอาการแพนิกขณะตั้งครรภ์ได้ดีขึ้น เซสชั่นการบำบัดครั้งแรกของคุณจะเกี่ยวข้องกับการพูดคุยเกี่ยวกับอาการของคุณ ประวัติการรักษา และความเครียดในชีวิตในปัจจุบัน ตลอดกระบวนการบำบัด คุณจะเข้าใจอาการของคุณได้ดีขึ้นและพัฒนาวิธีรับมือกับอาการของคุณ

นักบำบัดยังสามารถใช้สุขภาพจิตศึกษา (Psychoeducation) เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจอาการของคุณ ความรู้และการสนับสนุนที่ให้ผ่านการบำบัดสามารถช่วยลดความกลัวที่เกี่ยวข้องกับอาการของคุณ และให้ความรู้สึกในการควบคุมอาการแพนิกของคุณในระหว่างตั้งครรภ์

การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม (CBT) เป็นรูปแบบหนึ่งของจิตบำบัดที่พบบ่อยที่สุด CBT มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมเชิงลบไปสู่การรับรู้และการกระทำที่ดีต่อสุขภาพ

ตัวอย่างเช่น คุณอาจกำลังประสบกับความคิดที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวล เช่น “ความวิตกกังวลของฉันจะส่งผลต่อการตั้งครรภ์ของฉันไหม” หรือ “มันจะทำให้ทารกอารมณ์เสียเมื่อฉันมีอาการแพนอกหรือเปล่า” ความคิดดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกกลัว วิตกกังวล และยิ่งแพนิกมากขึ้น ด้วยวิธี CBT คุณสามารถเรียนรู้ที่จะระบุและเปลี่ยนรูปแบบการคิดเหล่านี้เป็นแบบเชิงบวกและกระตุ้นความวิตกกังวลน้อยลง

เทคนิคการผ่อนคลาย รวมถึงการหายใจลึก ๆ สามารถช่วยให้คนที่มีอาการแพนิกสงบลงได้ การหายใจเป็นส่วนสำคัญของการบำบัด และสามารถใช้ยาต้านความวิตกกังวลได้ภายใต้การดูแลของแพทย์ ยาอาจมีความจำเป็นเนื่องจากผู้หญิงที่มีอาการแพนิกระหว่างตั้งครรภ์มักจะต่อสู้กับพวกมันอีกในช่วงหลังคลอด

ใช้เวลาเพิ่มเติมในการดูแลตนเอง

การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาพิเศษในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเธอมักจะกังวลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายและความเป็นอยู่ที่ดีของเธอ การสละเวลาเพิ่มเติมเพื่อดูแลตัวเองอาจช่วยบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลได้บ้าง

แนวทางปฏิบัติในการดูแลตนเองรวมถึงกิจกรรมใดๆ ที่คุณสามารถทำได้เพื่อปรับปรุงสุขภาพและความเป็นอยู่โดยรวมของคุณ ตัวอย่างเช่น กิจกรรมการดูแลตนเองของคุณอาจรวมถึงการออกกำลังกายบางรูปแบบ ฝึกทักษะการจัดการความเครียด และการพักผ่อนให้เพียงพอ

อย่าลืมปรึกษาแพทย์เพื่อหารือเกี่ยวกับกิจกรรมที่ปลอดภัยที่จะเข้าร่วมในระหว่างตั้งครรภ์

หมั่นดูแลตัวเอง และฝึกบำบัดด้วยการหายใจเพื่อผ่อนคลาย

มีคนที่คอยสนับสนุน

การหันไปหาคนที่คุณรักจะช่วยให้คุณรับมือกับความกลัวและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความแพนิก ความวิตกกังวล และการตั้งครรภ์ได้ แจ้งให้เพื่อนที่เชื่อถือได้และสมาชิกในครอบครัวทราบเกี่ยวกับข้อกังวลของคุณ และขอให้พวกเขาพร้อมรับมือหากคุณมีเหตุฉุกเฉินประเภทใดก็ตาม คุณอาจไม่จำเป็นต้องโทรหาใครเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่มันสามารถช่วยลดความวิตกกังวลของคุณได้ เพียงแค่ได้รู้ว่าคนที่คุณรักอยู่เคียงข้างคุณยามที่คุณต้องการพวกเขา

มีแผนสำหรับช่วงหลังคลอด

คุณอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งเป็นคำที่ใช้อธิบายเมื่อผู้หญิงมีอาการซึมเศร้า เช่น ความรู้สึกสิ้นหวังและไร้ค่าหลังคลอดบุตร ในทำนองเดียวกัน ผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวลก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นหลังการคลอดบุตร ความรู้สึกประหม่า ความกลัว และความโดดเดี่ยวเป็นเรื่องปกติสำหรับคุณแม่มือใหม่

โชคดีที่อาการวิตกกังวลและอาการแพนิกอาจป้องกันได้ด้วยการเตรียมการบางอย่าง แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วหลังคลอดจะเป็นช่วงเวลาที่ยุ่งสำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่ แต่การติดตามผลกับแพทย์และ/หรือนักบำบัดเกี่ยวกับโรคแพนิกของคุณเป็นสิ่งสำคัญ ดำเนินการตามเป้าหมายของแผนการรักษาต่อไป เช่น การจัดการความวิตกกังวล การรับมือกับอาการแพนิก และการรับมือกับความเหงา การมีแผนหลังคลอดสามารถช่วยให้คุณรักษาความก้าวหน้าในเส้นทางไปสู่การฟื้นตัวได้

หากคุณกำลังตั้งครรภ์และมีอาการแพนิกหรือรู้สึกเครียด คุณควรปรึกษาแพทย์และรับการรักษาที่เหมาะสมนะคะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th