Site icon Motherhood.co.th Blog

8 สัญญาณบ่งบอก ว่าลูกคุณ “กินเค็ม” มากเกินไปแล้ว

ลูกกินเค็มมากไป

8 สัญญาณบ่งบอกว่าลูกของคุณกินเค็มมากเกินไปแล้ว

8 สัญญาณบ่งบอก ว่าลูกคุณ “กินเค็ม” มากเกินไปแล้ว

การรับประทานอาหารที่มีเกลือมากเกินไปแม้ในวัยหนุ่มสาวก็อาจมีผลในระยะยาวได้ นี่คือสัญญาณบางอย่างที่ลูกของคุณ “กินเค็ม” มากเกินไปแล้ว ซึ่ง Motherhood เชื่อว่าหลาย ๆ ข้อนั้นอาจเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ที่เลี้ยงดูใกล้ชิดไม่เคยตระหนักมาก่อน แต่วันนี้คุณป้องกันให้กับลูกน้อยได้ก่อนจะสาย

คุณทราบหรือไม่ว่าเด็กโดยเฉลี่ยตั้งแต่อายุ 6-18 ปี รับเกลือมากกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวันประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าคุณจะเก็บกระปุกเกลือไว้ไกลมือพวกเขาสักแค่ไหน แต่เขาก็ยังสามารถรับมันได้ในปริมาณที่มากเกินไปอยู่ดี ในความเป็นจริงผู้ร้ายรสเค็มนั้นมาจากพิซซ่า ขนมปัง ผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ชีสเบอร์เกอร์ ของว่าง เช่น มันฝรั่งทอด ไก่นักเก็ต และอาการสำเร็จรูปต่าง ๆ

เด็กและวัยรุ่นบริโภคเกลือมากกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวันประมาณ 50%

แน่นอนว่าเกลือไม่ได้เลวร้ายทั้งหมด มันมีความสำคัญต่อการทำงานทางสรีรวิทยามากมาย ตั้งแต่การส่งกระแสประสาท การหดตัวและการผ่อนคลายเส้นใยกล้ามเนื้อ และการรักษาสมดุลของของเหลวให้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การบริโภคเกลือมากเกินไปมีความสัมพันธ์กับความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือด และอาการเหล่านี้สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก 79 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุ 1-3 ปี 87 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุ 4-5 ปี และ 90 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุ 6-18 ปี บริโภคเกลือมากเกินไปในทุก ๆ วัน

เพื่อกำหนดปริมาณของเกลือที่จำเป็นสำหรับเด็ก สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจและแยกแยะความแตกต่างระหว่างองค์ประกอบโซเดียม (Na) และเกลือ ให้ได้เสียก่อน เกลือแกงคือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl ) ซึ่งมีโซเดียม 40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อาหารบรรจุหีบห่อมักระบุปริมาณเกลือเป็นโซเดียมในหน่วยมิลลิกรัม (mg) ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ปริมาณเกลือที่แท้จริงจะเท่ากับ 2.5 เท่าของปริมาณนั้น หากมีโซเดียม 100 มก. ปริมาณเกลือจะอยู่ที่ 250 มก. กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ปริมาณโซเดียมในอาหารแปลได้ว่ามีปริมาณเกลือมากกว่าตัวเลขโซเดียมที่ระบุไว้ถึงสองเท่า

แน่นอนว่ามันขึ้นอยู่กับพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กในการจำกัดปริมาณเกลือในอาหารของเด็ก ๆ และผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าควรทำสิ่งนี้ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี รสนิยมการชอบอาหารของพวกเขาเกิดขึ้นในช่วงต้นของชีวิต การหลีกเลี่ยงความเค็มที่โต๊ะอาหารและการปรุงรสเค็มลงไปในอาหารเป็นสิ่งที่พวกเขาจะยึดเป็นแนวทางต่อไปในอนาคต

หากคุณยังไม่แน่ใจว่าลูกของคุณอาจจะกินของเค็มมากเกินไปหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญจะเปิดเผยสัญญาณที่พบบ่อยที่สุด และสิ่งที่คุณควรทำเพื่อจำกัดการกินเค็มของพวกเขา

แม้จะทำอาหารกินเองก็ต้องระวังในการปรุงรสเสมอ

กระหายน้ำมากเกินไป

เนื่องจากโซเดียมจับตัวกับน้ำ ยิ่งมีโซเดียมในร่างกายมากขึ้นก็หมายถึงร่างกายต้องการน้ำมากขึ้น หากคุณสังเกตเห็นว่าลูกของคุณกระหายน้ำมากผิดปกติ และไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน เช่น อากาศร้อน หรือการออกกำลังกาย ให้พิจารณาประเมินปริมาณโซเดียมในอาหารโดยคำนึงถึงอาหารทุกประเภท เช่น อาหารที่บ้านและที่โรงเรียน อาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม สิ่งที่น่ารู้ก็คือ เครื่องดื่มเกลือแร่หลายชนิดซึ่งมักทำการตลาดกับวัยรุ่นว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมักมีโซเดียมในปริมาณสูง

มีความอยากอาหารรสเค็ม

ยอมรับเถอะว่าเกลือทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้นมาก ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่ลูกของคุณมีแนวโน้มที่จะหยิบมันฝรั่งทอดหนึ่งถุงได้มากกว่าแครอทแบบหั่นแท่ง หากคุณสังเกต คุณก็จะเห็นว่าลูกของคุณเชิดใส่อะไรก็ตามที่มีเกลือต่ำ แนะนำให้เขารู้จักสมุนไพรและเครื่องเทศต่าง ๆ ในการปรุงอาหาร เช่น ใส่ผักชีฝรั่งหรือพริกไทยแทนเกลือลงในไข่คน นอกจากนี้ให้ทำงานร่วมกับโรงเรียนของลูก เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาให้บริการอาหารโซเดียมต่ำสำหรับนักเรียน

ความดันโลหิตสูง

7 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุ 3-18 ปี มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือความดันโลหิตสูงขั้นต้น เช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ ความดันโลหิตสูงในเด็กมักจะเป็นสัญญาณเงียบ ซึ่งหมายความว่าเด็กอาจไม่รู้สึกถึงอาการใด ๆ และผู้ปกครองไม่สามารถตรวจพบสัญญาณใด ๆ ได้ แต่เมื่อความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หลอดเลือดแดงจะมีความหนาเพิ่มขึ้น ทำให้เด็กเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด แพทย์แนะนำให้ตรวจความดันโลหิตเป็นประจำทุกปีโดยเริ่มตั้งแต่อายุ 3 ปี

ปัสสาวะสีเข้มและเหลืองมาก

แม้ว่าจะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ปัสสาวะของเด็กมีสีเหลืองเข้ม แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดก็คือการบริโภคเกลือโซเดียมมากเกินไป ปัสสาวะสีเหลืองเข้มและมีกลิ่นแรงพบได้บ่อยในคนทุกวัยที่มีโซเดียมสูงรวมทั้งเด็กด้วย หากคุณไม่แน่ใจว่าฉี่ของลูกน้อยตรงกับคำอธิบายข้างต้นหรือไม่ คุณสามารถให้กุมารแพทย์ทำการตรวจปัสสาวะที่เรียกว่าการวิเคราะห์ปัสสาวะเพื่อตรวจซ้ำอีกได้

ขนมถุงแบบนี้ยิ่งกินก็ยิ่งติดใจในรสเค็มจนเป็นนิสัย

ชอบกินแต่ขนมถุง

อาหารที่บรรจุหีบห่อและแปรรูปส่วนใหญ่มีโซเดียมสูง ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้แม้ว่าในมื้อกลางวันของลูกก็ตาม ให้แทนที่ด้วยตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ข้าวโพดคั่ว ผลไม้และผัก ที่ปรุงเองที่บ้าน เสิร์ฟผักที่มีรูปทรงหลากหลายกับเครื่องจิ้มที่แตกต่างกัน รวมทั้งเลือกใช้วิธีการปรุงที่หลากหลายด้วย เช่น อบ ย่าง ต้ม นึ่ง

น้ำหนักเพิ่มโดยไม่ต้องกินขนมหรือไขมัน

ผู้ปกครองมักให้ความสำคัญกับขนมและไขมันซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วน แต่การศึกษาพบว่าการเพิ่มน้ำหนักอาจสัมพันธ์กับการบริโภคเกลือที่เพิ่มขึ้น โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมสำหรับการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ พ่อแม่ต้องระวังการเพิ่มน้ำหนักด้วยอาหารรสเค็ม นอกเหนือจากการควบคุมน้ำตาลและอาหารที่มีไขมันแล้ว แพทย์ยังแนะนำให้ผู้ปกครองตรวจสอบอาหารแปรรูปที่มีรสเค็มและโซเดียมสูง เพื่อรักษาปริมาณโซเดียมของเด็กให้อยู่ในช่วงที่แนะนำสำหรับอายุ

เมื่อสั่งอาหารนอกบ้าน ควรย้ำว่าไม่ต้องปรุงเกลือเพิ่ม

รับประทานอาหารนอกบ้านบ่อย ๆ

ในขณะที่การรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารจานด่วนบางครั้งก็สะดวกและประหยัดเวลา แต่ก็เป็นการทำร้ายร่างกายของเด็ก ควรจำกัดการรับประทานอาหารนอกบ้านไม่เกิน 1 ครั้งในทุก ๆ 2 สัปดาห์ ถึงกระนั้นก็ควรขอดูข้อมูลโภชนาการของร้านอาหารก่อนสั่งซื้อ เพื่อที่คุณจะได้สั่งตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพและมีโซเดียมต่ำกว่า เมื่อคุณสั่งอาหาร ขอให้พวกเขาอย่าใส่เกลือ ซอสปรุงรส หรือน้ำปลาลงในจานเมื่อปรุงอาหาร

คุณในฐานะพ่อแม่เองก็กินเกลือมากเกินไป

เด็กเห็นอย่างไรเขาก็ทำตาม แม้ว่าจะใช้เกลือในการปรุงอาหารได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันช่วยทำให้รสชาติของเนื้อสัตว์และผักออกมา แต่หากคุณชอบรับประทานอาหารแปรรูปที่มีรสเค็ม มันจะเป็นการยากที่จะป้องกันไม่ให้มันเล็ดลอดเข้าปากลูก ในฐานะพ่อแม่ คุณต้องเรียนรู้ที่จะอ่านฉลากขณะซื้อของ และเลือกอาหารที่บรรจุแบบโซเดียมต่ำหรือไม่ใส่เกลือ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th