Site icon Motherhood.co.th Blog

เมื่อลูกน้อยต้อง “ครอบฟันเหล็ก”

การครอบฟันเหล็ก

ทุกเรื่องราวของการครอบฟันเหล็กสำหรับลูกคุณ

เมื่อลูกน้อยต้อง “ครอบฟันเหล็ก”

คุณพ่อคุณแม่เคยเห็นรอยยิ้มของหนู ๆ น้อง ๆ ที่โชว์ฟันเหล็กสีเงินหรือเปล่านะ เขาเรียกสิ่งนี้ว่า “ครอบฟันเหล็ก” ค่ะ เคยสงสัยกันไหมคะว่าครอบฟันไปทำไม ฟันมีปัญหาอะไรถึงต้องครอบ แล้วทำไมถึงเป็นวัสดุแบบนั้น และจะเอาที่ครอบฟันออกได้เมื่อไหร่ วันนี้ Motherhood จะไขทุกข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องของการครอบฟันของลูกน้อยค่ะ

ครอบฟันน้ำนมเพื่อให้เนื้อฟันน้ำนมที่ผุมากแล้วกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

การครอบฟันน้ำนมคืออะไร ?

การครอบฟันน้ำนมหรือการครอบฟันเด็ก (Pediatric crown) คือ วิธีการบูรณะฟันวิธีหนึ่งที่ทันตแพทย์เด็กใช้ในกรณีที่ฟันน้ำนมไม่สามารถบูรณะได้ด้วยการอุดฟันตามปกติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เนื้อฟันน้ำนมที่ผุมากแล้วนั้นกลับมาใช้งานได้ตามปกติอีกครั้ง ครอบฟันจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ฟันที่กำลังรักษารากฟัน และยังช่วยป้องกันไม่ให้มีการรั่วซึมของเชื้อโรคเข้าไปในโพรงประสาทฟันหรือคลองรากฟันที่รักษาไปแล้วด้วย

ทั้งนี้ การครอบฟันน้ำนมจะอยู่ติดกับฟันน้ำนมไปจนฟันซี่นั้น ๆ หมดอายุขัย และครอบฟันจะหลุดออกจากช่องปากไปพร้อมกับฟันซี่นั้น ๆ

การครอบฟันน้ำนมมีกี่ประเภท ?

1. การครอบฟันน้ำนมแบบสีเงิน (Stainless steel crown)

ทำจากเหล็กกันสนิมสีเงิน เป็นแบบที่ใช้ครอบได้ทั้งกับฟันหน้าและฟันหลัง มีข้อดีคือแข็งแรง ทนทาน ทำได้ง่าย และราคาไม่สูง แต่ข้อเสียที่เป็นจุดด้อยหลักคือ เรื่องของความสวยงาม ในบางกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องทำครอบฟันหน้าด้วยตัวครอบสีเงินนี้ ทันตแพทย์เด็กอาจจะพิจารณากรอส่วนที่เป็นสีเงินทางด้านหน้าของฟันออก แล้วแปะทับด้วยวัสดุอุดฟันสีขาวแทน เพื่อให้เกิดความสวยงามมากขึ้น

2. การครอบฟันน้ำนมแบบสีขาวในฟันหน้า (Strip crown)

ครอบฟันสีขาวนี้ทำมาจากวัสดุชนิดเดียวกับวัสดุอุดฟัน เพื่อความสวยงามเวลายิ้ม แต่ก็มีจุดอ่อนในเรื่องความแข็งแรง กล่าวคือ ถ้าเด็กๆ ใช้ฟันหน้าที่ครอบฟันไว้กัดของแข็ง หรือมีการหกล้มกระแทก ฟันที่ครอบสีขาวแบบ Strip crown เอาไว้อาจจะแตกหรือบิ่นได้ จึงต้องระมัดระวังในการใช้งานมาก ๆ ถ้าหากทำครอบฟันสีขาวชนิดนี้

3. การครอบฟันน้ำนมแบบสีขาวเนื้อเซรามิคในฟันหน้า (Zirconia ceramic)

การครอบฟันประเภทนี้มีจุดเด่นในเรื่องของความสวยงามที่มาพร้อมกับความแข็งแรง เพราะเซรามิคเป็นวัสดุที่มีความแข็งสูง แต่มีข้อที่ควรพิจารณาคือ ราคาของครอบฟันน้ำนมสีขาวที่ทำจากเซรามิคนั้นมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับครอบฟันสีเงินหรือครอบฟันสีขาวแบบ Strip crown

ทำไมเด็กต้องไปครอบฟัน ?

ตามปกติแล้ว ฟันน้ำนมของเด็กแต่ละซี่จะหลุดไม่พร้อมกัน โดยฟันหน้าจะเริ่มหลุดในช่วงอายุประมาณ 7 ขวบ ขณะที่ฟันกรามจะเริ่มหลุดตอนอายุ 11-12 ปี แม้ว่าฟันกรามของเด็กจะเริ่มผุตอนเขาอายุ 3 ขวบ แต่ฟันกรามซี่นั้นก็ต้องอยู่ในช่องปากไปอีก 8 ปี ทำให้เราต้องป้องกันฟันผุลุกลามด้วยการครอบฟัน และวิธีนี้ยังช่วยเก็บรักษาฟันน้ำนมซี่ที่เป็นปัญหาให้หลุดไปเองตามช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย

สัญญาณบ่งบอกว่าถึงเวลาครอบฟัน

เมื่อลูกมีฟันผุลุกลามเป็นบริเวณกว้าง หลังการกรอเนื้อฟันที่ผุทั้งหมดออกแล้ว ทันตแพทย์อาจพบว่ามีเนื้อฟันหลงเหลือน้อยมากหรือเหลือต่ำกว่า 50% ทำให้การอุดฟันเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เมื่อเด็กใช้งานฟันต่อไปอีก 3-4 เดือน อาจมีโอกาสเกิดปัญหาฟันแตกตามมา รวมไปถึงกรณีที่เด็กฟันผุลึกจนถึงโพรงประสาทฟันและต้องทำการรักษารากฟัน ทันตแพทย์เด็กจะแนะนำให้ทำการครอบฟันร่วมด้วย

หากฟันผุลุกลามมาก การครอบฟันจะคุ้มกว่าการอุดฟัน

มีปัจจัยอะไรที่ต้องพิจารณาเมื่อจะครอบฟัน ?

ทันตแพทย์เด็กจะเป็นผู้พิจารณาแนวทางการวางแผนการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีข้อบ่งชี้ ดังต่อไปนี้

1. ฟันผุอยู่หลายด้าน

ฟันของเด็กผุมากกว่า 2 ด้าน และเหลือเนื้อฟันน้อยเกินกว่าที่จะยึดติดกับวัสดุอุดฟันได้ตามปกติ ถ้าเราฝืนอุดฟันไป วัสดุอุดฟันมักจะหลุด หรือร้ายไปกว่านั้น อาจมีการแตกของเนื้อฟันร่วมด้วย

2. รอยฟันผุมีขนาดใหญ่

ถึงแม้ฟันจะผุเพียงแค่ด้านเดียว แต่ถ้ารอยผุมีขนาดใหญ่มาก ๆ ทันตแพทย์เด็กก็มักจะพิจารณาให้ครอบฟันแทนการอุดฟันตามปกติ

3. ฟันเคยผ่านการรักษารากฟันมาแล้ว

ฟันที่ได้รับการรักษารากฟันมักจะมีลักษณะเปราะ ถ้าเราไม่จบงานด้วยการครอบฟัน ฟันซี่นั้นมักจะเกิดการแตก และตามมาด้วยความล้มเหลวของการรักษารากฟัน จึงควรครอบฟันไว้เพื่อป้องกันความล้มเหลว

4. ฟันผุลุกลามมาก

เด็กบางคนที่ความเสี่ยงในการเกิดฟันผุสูง ถ้าเกิดมีฟันที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างการอุดฟันกับการครอบฟัน ส่วนมากแล้วทันตแพทย์ด็กมักตัดสินใจที่จะครอบฟันไปเลย เนื่องจากการอุดฟันยังคงมีโอกาสที่ฟันซี่นั้น ๆ จะเกิดการผุต่อตามขอบหรือรอยต่อของวัสดุที่อุดไป ในขณะที่ฟันที่ครอบเอาไว้จะไม่สามารถผุต่อได้อีก

5. เนื้อฟันมีความผิดปกติ

เด็กบางคนมีภาวะบางอย่างที่ทำให้เนื้อฟันไม่แข็งแรงเท่าเนื้อฟันปกติ ทันตแพทย์เด็กจึงจะใช้การครอบฟันเพื่อทำให้เด็กสามารถใช้งานฟันซี่นั้น ๆ เคี้ยวอาหารได้อย่างเต็มที่

การครอบฟันมีด้วยกัน 4 ขั้นตอน

ขั้นตอนการครอบฟันน้ำนม

สำหรับการครอบฟันน้ำนมนั้น มีขั้นตอนในการทำการรักษาหลัก ๆ 4 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ใส่ยาชาและแผ่นยางกันน้ำลาย – เพื่อไม่ให้เด็กเจ็บเวลากรอฟัน และเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่เกิดขึ้นระหว่างการกรอฟันไหลลงคอเด็กจนสำลัก
  2. กรอเนื้อฟันทึ่ผุออก – ในขั้นตอนนี้ หากรอยผุทะลุถึงโพรงประสาทฟัน ทันตแพย์จะต้องทำการรักษารากฟันน้ำนมเสียก่อน จึงค่อยทำการครอบฟัน แต่หากรอยผุยังไม่ทะลุถึงโพรงประสาทฟัน ทันตแพย์จะทำการใส่ยาเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่โพรงประสาทฟัน
  3. กรอเนื้อฟันปกติออก – จะมีการกรอเนื้อฟันปกติออกเล็กน้อย เพื่อเตรียมให้มีลักษณะเหมาะสมกับสำหรับการใส่ครอบฟันน้ำนมที่เตรียมไว้
  4. ยึดครอบฟันน้ำนมด้วยซีเมนต์ทางทันตกรรม – ทำเพื่อให้วัสดุที่ใช้ในการครอบฟันยึดติดแน่นกับฟันน้ำนม

การครอบฟันแพงหรือไม่ ?

แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการครอบฟันจะสูงกว่าการอุดฟัน แต่ก็คุ้มค่ากว่า เมื่อเทียบกับกรณีที่ฟันผุใหญ่มาก อุดแล้วแตกก็ต้องไปอุดใหม่ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายซ้ำ ๆ ในการอุดฟันซี่เดิม กรณีเช่นนี้ควรครอบฟันไปแต่แรกก็จะดีกว่า เนื่องจากมีความแข็งแรงและมีอายุการใช้งานที่นานกว่า

แม้จะครอบฟันมาแล้วก็ยังต้องดูแลอย่างดี

ดูแลฟันอย่างไรหลังการครอบฟัน ?

หลังจากครอบฟันเสร็จสิ้น คุณพ่อคุณแม่จะได้รับคำแนะนำในการดูแลดังนี้

  1. คอยระวังไม่ให้ลูกกัดปากหรือดูดกระพุ้งแก้ม เนื่องจากฤทธิ์ของยาชายังคงอยู่ ถ้าเด็กๆ กัดปากหรือดูดกระพุ้งแก้มเล่น จะให้ปากและกระพุ้งแก้มเป็นแผล
  2. ทำความสะอาดครอบฟันอยู่เสมอ หากมีคราบจุลินทรีย์เกาะที่ตัวครอบฟัน สีของครอบฟันจะมีลักษณะขุ่น และจะส่งผลให้เหงือกบริเวณนั้นเกิดการอักเสบขึ้นมาได้
  3. ไม่จำเป็นต้องถอดครอบฟันออก เพราะครอบฟันน้ำนมสามารถหลุดไปได้เอง เมื่อฟันน้ำนมซี่นั้น ๆ ถึงเวลาหลุด

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th