Site icon Motherhood.co.th Blog

ช็อคโกแลตซีสต์ คุณเป็นอีกคนที่เสี่ยงหรือเปล่า ?

ช็อคโกแลตซีสต์คืออะไร

หากปวดประจำเดือนรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ระวังโรคช็อคโกแลตซีสต์

ช็อคโกแลตซีสต์ คุณเป็นอีกคนที่เสี่ยงหรือเปล่า ?

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการปวดประจำเดือนมากหรืออาการปวดอยู่ยาวนานกว่าปกติ นี่อาจจะเป็นสัญญาณของ “ช็อคโกแลตซีสต์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ แต่อาการที่เป็นจะมีความรุนแรงมากแค่ไหน ส่งผลกระทบต่อเรื่องอะไรบ้าง และจะบรรเทาอาการหรือรักษาให้หายขาดถาวรได้หรือไม่ มาติดตามในบทความไปด้วยกันค่ะ

มีของเหลวที่คล้ายกับช็อกโกแลตเหลวอยู่ในถุงน้ำ

ช็อคโกแลตซีสต์เกิดจากอะไร ?

ทางการแพทย์เชื่อว่าเกิดจากการที่เลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับ แทนที่เลือดจะไหลออกมาทางช่องคลอดตามปกติ แต่กลับมีประจำเดือนส่วนหนึ่งไหลย้อนกลับไปทางหลอดมดลูก แล้วไปฝังตัวที่รังไข่จนทำให้เกิดเป็นถุงน้ำหรือถุงที่มีเลือดคั่ง ลามไปเจริญเติบโตในอวัยวะต่าง ๆ เช่น อุ้งเชิงกราน ท่อรังไข่ ลำไส้ช่องคลอด มดลูก กระเพาะปัสสาวะ ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เพียงแต่จะแสดงอาการหรือมีผลกระทบมากน้อยต่างกันไป

ลักษณะของถุงน้ำที่ว่านี้ภายในจะมีของเหลวที่คล้ายกับช็อกโกแลตเหลว ซึ่งแท้จริงก็คือเลือดอยู่ในถุงนั้น เมื่อเลือดหยุดไหล น้ำจะถูกดูดซึมและทำให้เลือดในถุงเข้มข้นขึ้น และเมื่อเลือดค้างอยู่ในถุงน้ำนานเข้าก็จะกลายเป็นสีน้ำตาล ลักษณะเหมือนช็อกโกแลต

อาการที่พบบ่อย

  1. ปวดประจำเดือนมาก หรือปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกเดือน ปวดร้าวไปถึงหลังหรือร้าวลงก้นกบ แม้จะกินยาแก้ปวดก็บรรเทาอาการได้ไม่มากนัก บางครั้งอาจจนเป็นลม ร่วมด้วยอาการท้องเสีย ท้องอืด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อย รวมทั้งเจ็บปวดผิดปกติเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  2. ปวดท้องน้อยเรื้อรัง แม้ไม่มีประจำเดือนก็ปวด เป็นสาเหตุจากการมีพังผืดในช่องท้อง
  3. มีลูกยาก แต่งงานหลายปีแล้วยังไม่สามารถมีบุตรได้

ปวดประจำเดือนแบบไหนที่มากผิดปกติ ?

ผู้หญิงหลายคนอาจสงสัยว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดประจำเดือนนั้นเป็นอาการปวดประจำเดือนตามปกติที่ผู้หญิงเป็นกัน หรือเป็นอาการปวดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หลักสังเกตคือให้ดูที่อายุและลักษณะอาการปวดประจำเดือนที่เป็น หากอายุยังไม่มากแล้วมีอาการปวดท้องน้อยเวลามีประจำเดือน โดยเริ่มมีอาการปวดประจำเดือนตั้งแต่เริ่มเป็นประจำเดือนครั้งแรก อาการปวดที่มีเท่าเดิม ไม่ได้ปวดรุนแรงขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดประจำเดือนธรรมดา แต่ถ้าอายุมากขึ้น แล้วอยู่ ๆ มาเริ่มมีอาการปวดประจำเดือนหรืออาการปวดประจำเดือนเป็นรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น แต่เดิมมีอาการปวดประจำเดือนไม่มาก พอทนได้ หรือเพียงแค่กินยาพาราเซตามอลก็หาย แต่ต่อมาอาการปวดประจำเดือนเป็นหนักขึ้น ต้องกินยาแก้ปวดปริมาณมากขึ้นหรือต้องใช้ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงขึ้น รวมถึงอาการปวดหนักจนถึงขั้นหยุดเรียน ลางาน หรือปวดจนรบกวนชีวิตประจำวัน บางรายถึงขนาดต้องไปฉีดยาแก้ปวดที่โรงพยาบาล อาการดังกล่าวค่อนข้างบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ต้องแยกแยะให้เป็นว่าแบบไหนคือการปวดประจำเดือนแบบปกติ

ผู้หญิงคนไหนมีความเสี่ยงบ้าง ?

ปัจจัยเสียงที่ทำให้เกิดช็อกโกแลตซีสคือการเป็นผู้หญิงที่อยู่ในวัยมีประจำเดือน และยังเกิดจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ดังนี้

การวินิจฉัยโรค

แพทย์จำเป็นต้องอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจภายใน และการตรวจอัลตราซาวด์มาประกอบกัน ซึ่งการตรวจอัลตราซาวด์นั้นอาจทำการตรวจทางหน้าท้องหรือตรวจทางช่องคลอด โดยแพทย์จะเลือกตรวจตามความเหมาะสม บางครั้งสามารถตรวจเจอโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปี

การรักษาโรค

การรักษาโรคนี้หลัก ๆ มี 3 วิธี คือ การใช้ยา การผ่าตัด หรือใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน ในการรักษาจะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ป่วย ได้แก่ อาการของผู้ป่วย อายุ ความต้องการมีบุตร และความรุนแรงของโรค

1. การใช้ยา

ในกรณีที่ถุงน้ำมีขนาดไม่ใหญ่มาก แพทย์จะนิยมให้เป็นยากินหรือยาฉีดเพื่อลดขนาดของถุงน้ำ ซึ่งยาที่ใช้นั้นก็มีทั้งกลุ่มที่มีฮอร์โมนและไม่มีฮอร์โมน แต่จะมีผลข้างเคียงของการใช้ยาคืออาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

อาจใช้ทั้งยาและการผ่าตัดรักษาร่วมกัน ขึ้นกับการวิเคราะห์ของแพทย์

2. การผ่าตัด

ในกรณีที่ใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือถุงน้ำมีขนาดใหญ่มากจนไปกดอวัยวะข้างเคียงทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง และส่งผลไปถึงส่วนอื่น ๆ แพทย์อาจจะผ่าตัดเฉพาะตำแหน่งของถุงน้ำหรือผ่าตัดเพื่อสลายพังผืดออก ด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางหน้าท้องโดยการส่องกล้องหรือการผ่าตัด NOTES ซึ่งนับเป็นการผ่าตัดที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ในปัจจุบันเทคโนโลยีส่องกล้องทำให้การผ่าตัดส่องกล้องสามารถมองเห็นรอยโรคได้ชัดเจน ผ่าตัดได้แม่นยำ อีกทั้งยังทำให้แผลเล็ก เจ็บปวดน้อย และฟื้นตัวได้ไวกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่ว่าวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า และต้องอาศัยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ

หากมีอาการปวดประจำเดือนที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีอาการอื่น ๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้นร่วมด้วย ขอให้รีบไปปรึกษาสูตินรีย์แพทย์ เพื่อจะได้เข้ารับการวินิจฉัยอาการและรักษาได้ทันท่วงที

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th