Site icon Motherhood.co.th Blog

คุณเคยได้ยินเกี่ยวกับ “ภาวะนิ้วเกิน” หรือเปล่า ?

ภาวะนิ้วเกินในทารก

ภาวะนิ้วเกินพบได้บ่อยกว่าที่คุณคิด แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตกใจ

คุณเคยได้ยินเกี่ยวกับ “ภาวะนิ้วเกิน” หรือเปล่า ?

การเกิด “ภาวะนิ้วเกิน” เป็นความผิดปกติของแขนขาที่มีมาแต่กำเนิด แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องตลกในห้องคลอดที่ใครบางคนบอกให้แม่นับนิ้วของทารกน้อยดูว่ามีนิ้วมือครบสิบนิ้ว นิ้วเท้าครบสิบนิ้ว ใช่หรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าตัวน้อยมีสุขภาพดีและไม่ได้มี ‘อะไร’ เกินมา ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก

ภาวะนิ้วเกินคืออะไร ?

ภาวะนิ้วเกิน (Polydactyly) คือภาวะที่มือหรือเท้าแต่ละข้างมีนิ้วมากกว่า 5 นิ้ว โดยภาวะนี้เป็นความผิดปกติแต่กําเนิดของมือที่พบได้บ่อยที่สุด พบได้ประมาณ 1 ในทุก ๆ 1,000 ของการเกิด

สามารถพบภาวะนี้ได้ในทุก ๆ 1,000 ราย

ภาวะนิ้วเกินมีความรุนแรงที่หลากหลาย

นิ้วที่เกินมานั้นอาจมีขนาดเล็กเป็นติ่งเนื้อโดยไม่มีกระดูกเลย หรืออาจมีกระดูกชิ้นเล็ก ๆ แต่ตรงส่วนโคนไม่มีกระดูกติดกับกระดูกปกติ มีเพียงผิวหนังที่คอดเล็กคล้ายขั้วผลไม้ หรือนิ้วที่เกินมีการพัฒนาจนมีกระดูกและเล็บอย่างสมบูรณ์คล้ายกับนิ้วปกติ แต่มักมีขนาดเล็กกว่า และเส้นเอ็นที่ควบคุมการงอเหยียดของข้อต่อมักไม่สมบูรณ์ ส่วนโคนกระดูกมีการเชื่อมติดกับเนื้อกระดูกหรือข้อต่อของนิ้วปกติ นิ้วที่เกิน อาจพบที่มือข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง และอาจพบที่เท้าร่วมด้วย ภาวะนิ้วเกินอาจเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวในร่างกายหรือเกิด ร่วมกับความผิดปกติของอวัยวะอื่นเป็นกลุ่มโรคก็ได้

สาเหตุ

เกิดจากความผิดปกติในการสร้างนิ้วมือหรือเท้าของทารกในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจเกิดความแปรปรวนของการแบ่งเซลล์ในระยะสร้างนิ้ว แต่มีนิ้วเกินบางชนิดพบว่ามีสัมพันธ์กับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งยังไม่พบปัจจัยภายนอกที่เป็นสาเหตุโดยตรงของการเกิดภาวะนี้

สามารถเห็นภาวะนิ้วเกินในการทำอัลตราซาวนด์ได้หรือไม่ ?

แม้ว่าในทางเทคนิคจะเป็นไปได้ที่จะเห็นมันในการทำอัลตราซาวนด์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปกตินักที่แพทย์จะวินิจฉัยก่อนคลอด ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะนำไปสู่ความประหลาดใจในห้องคลอด

นิ้วเกินทางด้านหัวแม่มือมักพบได้มากกว่า

ประเภทของนิ้วเกิน

เราสามารถแบ่งประเภทของนิ้วเกินได้ตามตําแหน่งของนิ้วที่เกินมาได้เป็น นิ้วเกินทางด้านนิ้วก้อย (postaxial polydactyly) ซึ่งพบได้น้อยกว่าชนิดที่นิ้วเกินทางด้านนิ้วหัวแม่มือ (preaxial polydactyly)

สําหรับนิ้วเกินทางด้านนิ้วหัวแม่มือ ก็ยังสามารถแบ่งตามความลึกของนิ้วเกินเป็นชนิดย่อย ๆ ได้อีกหลายชนิด เริ่มจากนิ้วเกินเฉพาะส่วนปลายนิ้ว จะเห็นเล็บติดกันสองอันหรือแยกห่างเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงนิ้วที่เกินแยกห่างกันถึงระดับข้อต่อโคนนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งการแบ่งชนิดของนิ้วเกินตามความลึกนี้จะมีประโยชน์ในแง่ของการวางแผนการผ่าตัดรักษาต่อไป

นอกจากนี้การแบ่งนิ้วเกินทางด้านหัวแม่มืออาจแบ่งตามทิศทางของนิ้วเกินได้อีกเช่นกัน คือนิ้วเอียงออกจากกัน (divergence) หรือนิ้วเอียงเข้าหากันแบบก้ามปู (convergence) ซึ่งนิ้วเกินชนิดนี้จะมีการคดงอของกระดูกและข้อต่อของทั้งนิ้วที่เกินและนิ้วปกติเข้าหากัน

การรักษา

กรณีที่นิ้วเกินเป็นเพียงติ่งเล็ก ๆ โดยที่โคนนิ้วไม่มีกระดูกเชื่อมต่อกัน นิ้วเกินชนิดนี้จะไม่ส่งผลต่อกระดูกและข้อต่อของนิ้วหัวแม่มือที่ปกติ สามารถรักษาได้โดยตัดโคนออกได้อย่างง่ายดาย อาจทําตั้งแต่แรกคลอด โดยการผูกโคนนิ้วเกินที่ให้เนื้อเยื่อตายและหลุดไปเอง หรือตัดออกในเวลาใดก็ได้ เพราะไม่มีผลต่อการผิดรูปของนิ้วปกติ

แต่ในกรณีที่นิ้วเกินมีกระดูกเชื่อมต่อหรือใช้ข้อต่อร่วมกันกับนิ้วปกติ การผ่าตัดจะมีความซับซ้อนมากขึ้น นอกจากตัดนิ้วที่เกินออกแล้ว ยังต้องย้ายเอ็นยึดข้อต่อและกล้ามเนื้อเดิมที่เกาะอยู่ที่นิ้วเกินมายังโคนนิ้วปกติ รวมทั้งตัดและจัดมุมของกระดูกโคนนิ้วเสียใหม่ เพื่อให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ในตําแหน่งที่เหมาะสม การทำเช่นนี้ นอกจากเพื่อให้กระดูกและข้อรวมทั้งกล้ามเนื้อโคนนิ้วมีการพัฒนาได้ดีแล้ว ยังทําให้นิ้วดูสวยงามใกล้เคียงปกติด้วย

การตัดนิ้วที่เกินแต่เพียงอย่างเดียวจะไม่เหมาะสม เพราะเมื่อผู้ปวยโตขึ้น ข้อโคนนิ้วจะดูใหญ่กว่าปกติ นิ้วห้วแม่มือจะเอียงเข้าหานิ้วชี้ ส่งผลให้ช่องระหว่างนิ้วทั้งสองแคบกว่าปกติ นอกจากนี้ กล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือจะอ่อนแรงและเกิดการเอียงผิดรูปของกระดูกและข้อต่อส่วนปลายนิ้วได้

หากนิ้วที่เกินมาเป็นแค่ติ่งเนื้อเล็ก ๆ ก็ตัดทิ้งได้ง่าย ๆ ตั้งแต่ไม่กี่เดือน

ผ่าตัดตอนไหนจึงจะเหมาะสม ?

นิ้วเกินชนิดที่มีกระดูกหรือข้อต่อเชื่อมต่อกันควรได้รับการผ่าตัดในระหว่างอายุ 1-4 ปี หรือก่อนจะเข้าเรียน เพื่อให้โครงสร้างของกระดูกและข้อ รวมทั้งกล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือพัฒนาได้อย่างเหมาะสม และไม่มีการเอียงผิดรูปเพิ่มเติมในส่วนปลายนิ้ว รวมถึงเพื่อให้เด็กไม่รู้สึกมีปมด้อยหรือถูกล้อเลียนเมื่อเข้าสังคม หากมารักษาหลังจากนั้นก็ยังสามารถผ่าตัดได้ แต่อาจมีความผิดรูปของกระดูกและข้อส่วนปลายนิ้วห้วแม่มือหลงเหลืออยู่ หรืออาจต้องแก้ไขโดยการผ่าตัดเพิ่มขึ้นอีก

หลักการผ่าตัดรักษาประกอบด้วย

  1. ตัดนิ้วส่วนเกินออก
  2. ตัดหัวกระดูกที่รองรับนิ้วส่วนเกินที่ใหญ่กว่าปกติออก
  3. ย้ายเอ็นที่ยึดข้อและกล้ามเนื้อที่ติดกับนิ้วส่วนเกินมายังฐานนิ้วที่ปกติ
  4. อาจจําเป็นต้องตัดกระดูกโคนนิ้ว เพื่อจัดตําแหน่งให้นิ้วที่เหลืออยู่ในตําแหน่งเหมาะสมใกล้เคียงปกติมากที่สุด
ถ้านิ้วที่เกินมาไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานนิ้วและมือ จะรอให้เด็กโตและเลือกเองก็ได้

ไม่ผ่าตัดได้หรือไม่ ?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฟังก์ชันการทำงานไม่ได้รับผลกระทบ การปล่อยให้นิ้วที่เกินมายังคงอยู่อย่างน้อยก็จนกว่าเด็กจะโตพอที่จะตัดสินใจเอามันออกก็เป็นทางเลือกที่ถูกต้องเช่นกัน

แม้ว่าภาวะนิ้วเกินจะเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก แต่ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อและยากที่จะสรุป การรักษาควรเป็นแบบเฉพาะรายบุคคลสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย และควรมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาด้านการทำงานและความงามที่พวกเขาอาจเผชิญ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th