แคลเซียม จำเป็นต่อแม่และลูกมากแค่ไหน?
คนไทยส่วนมากเข้าใจว่า หากอยากจะให้ลูกหลานสูงหรือตัวผู้ใหญ่เองต้องการมีกระดูกที่แข็งแรง “แคลเซียม” คือสารอาหารที่จำเป็นที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย แต่การได้รับแคลเซียมมากไปก็ไม่ใช่เรื่องดี จริงๆแล้วแคลเซียมมีหน้าที่อย่างไรกันแน่ มีส่วนช่วยในเรื่องใดได้บ้าง และต้องรับเข้าร่างกายอย่างไรถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เกิดโทษ ถ้าอยากรู้ ต้องติดตามบทความนี้ต่อค่ะ
แคลเซียมทำหน้าที่อะไร?
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีปริมาณมากที่สุดในร่างกาย ร้อยละ 99 ของแคลเซียมจะอยู่ที่กระดูกและฟัน ส่วนแคลเซียมอีกร้อยละ 1 อยู่ในเลือดและเนื้อเยื่ออื่นๆ เราอาจกล่าวได้ว่ากระดูกเป็นแหล่งสะสมของแคลเซียมในร่างกาย
หน้าที่สำคัญของแคลเซียมคือ การสร้างกระดูก และยังมีความสำคัญต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท เพราะช่วยในการหดตัวและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อมีการพัฒนาและทำงานเป็นปกติ ในส่วนของหัวใจและหลอดเลือด แคลเซียมมีส่วนช่วยการควบคุมอัตราการเต้นปกติของหัวใจ ช่วยในการแข็งตัวของเลือดและควบคุมการเข้าออกของสารต่างๆผ่านผนังเซลล์ และยังมีส่วนช่วยในการส่งข้อมูลข่าวสารจากเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่งอีกด้วย นอกจากนี้แคลเซียมมีความจำเป็นอย่างมาก สำหรับการผลิตฮอร์โมนและเอ็นไซม์บางอย่าง เพื่อควบคุมการย่อยอาหาร และการเผาผลาญไขมันและพลังงานให้เป็นปกติ ถ้าร่างกายขาดแคลเซียมจะทำให้กระดูกไม่แข็งแรง หักง่าย เป็นตะคริว มือจีบเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุกและหัวใจเต้นผิดปกติ
ด้วยความที่กระดูกของคนเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการสลายกระดูกเก่าและสร้างกระดูกใหม่ทดแทน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 20 ปีจะมีการสร้างกระดูกมากกว่าการสลาย ทำให้ปริมาณมวลกระดูกเพิ่มขึ้น เมื่ออายุ 20-35 ปี อัตราการสลายและการสร้างกระดูกจะใกล้เคียงกัน ทำให้ปริมาณมวลกระดูกค่อนข้างคงที่ หลังอายุ 35 ปีไปแล้ว ปริมาณมวลกระดูกจะค่อยๆลดลง เนื่องจากมีการสลายกระดูกเกิดขึ้นมากกว่า
ดังนั้น ในวัยเด็กและวัยรุ่นจึงควรส่งเสริมให้มีการสร้างกระดูกให้มากที่สุด โดยกินอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกให้ครบถ้วนและเพียงพอ ร่วมกับออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ จะทำให้ร่างกายมีการสะสมมวลกระดูกได้อย่างเต็มที่
อาหารอุดมแคลเซียมสำหรับเด็ก
- นมและผลิตภัณฑ์จากนมเป็นแหล่งของแคลเซียมที่ดี เนื่องจากมีปริมาณแคลเซียมสูงและร่างกายดูดซึมนำไปใช้ได้ดี นมสดรสจืด 1 กล่องขนาด 200 มิลลิลิตร มีแคลเซียม 226 มิลลิกรัม
- ปลาและสัตว์เล็กๆ ที่กินได้ทั้งกระดูกหรือเปลือก เช่น ปลาซิว ปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีน กุ้งฝอย กุ้งแห้ง เป็นต้น
- ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ เช่น เต้าหู้ เต้าฮวย มีแคลเซียมสูง แต่ในน้ำเต้าหู้มีแคลเซียมไม่มากนัก ผักใบเขียวบางชนิด เช่น ผักคะน้า ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง มีแคลเซียมสูง และร่างกายนำไปใช้ได้มาก ส่วนใบชะพลู ผักโขม และปวยเล้ง แม้จะมีแคลเซียมสูงแต่ร่างกายนำไปใช้ได้น้อย
เด็กควรดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว จะได้รับแคลเซียมจากนมประมาณร้อยละ 50-70 ของความต้องการในร่างกาย ส่วนที่เหลือควรได้รับจากการกินอาหารอื่นที่มีแคลเซียมสูง
โดยปกติร่างกายคนเราจะมีกลไกรักษาสมดุลของแคลเซียมในเลือด ในภาวะที่ร่างกายขาดแคลเซียมและปริมาณแคลเซียมในเลือดต่ำ ร่างกายจะมีการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารมากขึ้น แต่ถ้าร่างกายไม่ขาดแคลเซียมหรือกินอาหารที่มีแคลเซียมมากเกินไป แคลเซียมส่วนเกินจะถูกขับออกทางปัสสาวะ นอกจากนี้แต่ละคนยังมีความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมได้แตกต่างกัน เช่น ทารกและวัยรุ่นจะดูดซึมแคลเซียมได้มากกว่าผู้ใหญ่และคนสูงอายุ
กินแคลเซียมเสริม ได้ผลจริงหรือ?
ถ้าเด็กสามารถกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงได้เพียงพอตามความต้องการของร่างกายแล้ว ไม่จำเป็นต้องรับประทานแคลเซียมเสริมในรูปของยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่เรื่องแปลกหากคุณพ่อคุณแม่จะอยากให้ลูกสูง เลยอัดแคลเซียมให้ลูก แต่ที่น่าตกใจคือคุณพ่อคุณแม่บางรายให้ลูกกินแคลเซียมเสริมตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 6 เดือน ด้วยซ้ำ โดยหารู้ไม่ว่าอันตรายต่อลูกน้อยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเขาจะได้รับแคลเซียมมากเกินไปจนทำให้เกิดอาการข้างเคียง จากการมีแคลเซียมในเลือดสูง ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก เบื่ออาหาร และเกิดนิ่วในไตได้
ในส่วนของความสูงนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า สิ่งที่มีผลอย่างมากต่อความสูงของลูก คือ กรรมพันธุ์และยีนของพ่อแม่เป็นปัจจัยหลัก อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ ที่จะช่วยในการเพิ่มความสูงของลูกได้ เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ที่ขาดไม่ได้คือแคลเซียมจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น นม หรือผักผลไม้ ต้องนอนหลับให้เพียงพอและเป็นเวลา และออกกำลังกายให้ถูกหลัก เพียงแค่นี้ก็ช่วยเพิ่มความสูงให้ลูกน้อยของคุณได้แล้ว อาหารเสริมต่างๆจึงไม่จำเป็นแต่อย่างใด
ดังนั้น การกินแคลเซียมเสริมในรูปของยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรทำเฉพาะในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอ โดยเสริมในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการแคลเซียมตามวัยเท่านั้น ไม่ควรเสริมมากเกินพอดี
หากลูกมีความจำเป็นต้องกินแคลเซียมในรูปของยาหรือผลิตภัณฑ์ที่เสริมอาหาร คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงปริมาณแคลเซียมที่เด็กควรได้รับประจำวัน รวมทั้งข้อดีข้อเสีย และราคาของผลิตภัณฑ์ ไม่ควรให้เขากินตามความนิยมโดยขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว การได้รับแคลเซียมมากเกินไปอาจเกิดผลเสียต่อร่างกายลูกอีก
ความต้องการปริมาณของแคลเซียมในแต่ละวัย
- อายุ ช่วง 1-3 ปี 500 มิลลิกรัม
- อายุ ช่วง 4-8 ปี 800 มิลลิกรัม
- อายุช่วง 9-18 ปี 1,000 – 1,200 มิลลิกรัม
อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่าปริมาณแคลเซียมในนมสดรสจืด 1 กล่อง ที่มีขนาด 200 มิลลิลิตร จะมีแคลเซียมอยู่เพียง 226 มิลลิกรัมเท่านั้น ซึ่งก็อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการต่อวัน จึงจำเป็นที่จะต้องให้ลูกดื่มจากนมให้ได้ถึงวันละ 3 กล่องเป็นอย่างน้อย โดยการเลือกนมมาดื่ม ควรเป็นนมสดธรรมดา ส่วนเด็กที่มีน้ำหนักเกินวัยก็ให้เลือกนมพร่องมันเนยได้ สำหรับนมที่เสริมแคลเซียมนั้นถือว่าไม่จำเป็น เพราะร่างกายจะดูดซึมนมสดธรรมดาได้ดีที่สุด สำหรับเด็กที่แพ้นมวัว ก็สามารถเลือกรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมได้จากแหล่งอาหารอื่นๆตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
การดูแลลูกน้อยให้มีพัฒนาการที่ในทุกๆด้านนั้น เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสนใจอย่างจริงตัง โดยเฉพาะพัฒนาการในด้านร่างกาย ที่ต้องมีการดูแลในเรื่องของโภชนาการให้ถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้ามาอ่านบทความของ Motherhood ได้เรื่อยๆนะคะ เราจะสรรหาความรู้ดีๆเกี่ยวกับการดูแลลูกน้อยมาฝากเป็นประจำ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th