ทำความรู้จักกับ “โรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก”
ลูกของคุณอาจจะเป็น “โรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก” อยู่ก็ได้ แต่ที่คุณไม่เอะใจสงสัย นั่นเป็นเพราะหากเด็กเป็นไม่มากก็จะไม่มีอาการแสดงให้เห็น โรคกระดูกสันหลังคดนี้สามารถพบได้ตั้งแต่เด็กวัยแรกเกิดไปจนถึงเด็กวัยรุ่น และมากถึงร้อยละ 80 ทีเดียวที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด นอกากนี้ยังมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าเด็กไทยเป็นโรคนี้ ในอัตรา 1 ต่อ 10,000 คน วันนี้ Motherhood จะมาชวนคุณทำความรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้นนะคะ
โรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก (Scoliosis) พบได้ในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชายประมาณ 8 ต่อ 1 หากปล่อยทิ้งไว้จนรุนแรง นอกจากบุคลิกภาพจะเสียแล้ว ยังส่งผลให้ตัวเตี้ยลงมากขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อกระดูกซี่โครง ไขสันหลัง และปอดในระยะยาวด้วย รวมทั้งอาจร้ายแรงจนส่งผลกับระบบการทำงานของหัวใจ ถึงขั้นหัวใจวายและเสียชีวิตได้
โรคกระดูกสันหลังคดมีกี่ประเภท ?
1. กระดูกสันหลังปกติตั้งแต่แรกเกิด
แต่เริ่มมีการคดในภายหลัง และส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงสาเหตุในการเกิดโรค แต่สันนิษฐานกันว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนบางตัวที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัว ส่งผลให้เกิดอาการหลังคดได้ พบได้ประมาณร้อยละ 80 และแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอายุ ดังนี้
- กลุ่มอายุ แรกเกิด – 1 ปี จะเริ่มเห็นได้ตอนเด็กหัดยืนและเดิน แต่กลุ่มนี้ร้อยละ 90 อาการจะหายได้เอง
- กลุ่มอายุ 3-10 ปี เริ่มมีจำนวนมากขึ้น ถ้าเป็นมากแต่ไม่ได้รับการรักษาจะเกิดปัญหาในระยะยาวได้
- กลุ่มอายุ 10-18 ปี จะพบได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่น หากถ้าเป็นไม่มากก็ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่แนะนำให้เฝ้าติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของหลังอยู่เสมอ เพราะกระดูกสันหลังอาจคดมากขึ้น อาจมากถึงขนาดทำให้ร่างกายผิดปกติ
2. กระดูกสันหลังคดตั้งแต่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ
อาจจะเกิดจากยาที่แม่รับประทานระหว่างตั้งครรภ์ กลุ่มนี้เกิดจากกระดูกผิดปกติ เช่น การเจริญของกระดูกสันหลังไม่เท่ากันหรือไม่สมดุลกัน ถ้ากระดูกสันหลังคดแล้วก็จะคดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแพทย์จะทำการรักษาทันที เพราะถ้าเป็นมากก็อาจส่งผลให้เป็นอัมพาตได้
3. มีความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและระบบประสาท
เช่น มีความผิดปกติของสมอง สมองพิการ โรคโปลิโอ โรคของระบบกล้ามเนื้อ ฯลฯ จะมีโอกาสทำให้กระดูกสันหลังคดเมื่อเด็กโตขึ้นได้
4. เป็นโรคเท้าแสนปม
คนที่เป็นโรคนี้ตามร่างกายจะมีปุ่มหรือปานหนาขึ้นตามตัว และพบว่ามีอาการกระดูกสันหลังคดร่วมด้วยประมาณร้อยละ 30
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกกระดูสันหลังคด ?
คุณพ่อคุณแม่สามารถเช็กอาการของลูกแบบคร่าว ๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยให้ลูกยืนตัวตรง แล้วดูแนวสันหลังว่าตรงหรือไม่ จากนั้นให้เขาก้มหลังลง เอามือแตะพื้น ถ้ามองตามเส้นแนวกระดูกสันหลังแล้วไม่คดก็แสดงว่าปกติ แต่ถ้ามีแนวที่ดูไม่ตรงและสงสัยว่าจะคด หรือสังเกตุเห็นอาการ ดังนี้
- แนวกระดูกสันหลังไม่ตรง
- ระดับหัวไหล่หรือบ่าทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน
- สะบักมีการนูนตัวมากกว่าอีกด้านหนึ่ง
- ศีรษะไม่อยู่กึ่งกลางในระหว่างแนวกระดูกเชิงกรานทั้ง 2 ข้าง
- สะโพกด้านใดด้านหนึ่งยกขึ้นสูงกว่าอีกด้าน
- กระดูกซี่โครงมีระดับความสูงไม่เท่ากัน
- ระดับเอวไม่เท่ากัน
- สภาพผิวมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากร่างกายอีกซีก เช่น มีรอยบุ๋ม มีขนขึ้น สีผิวเปลี่ยนไปจากเดิม
- มีการเอียงของลำตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง
ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้ามีอาการมากขึ้น จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคตได้
สำหรับกรณีกระดูกสันหลังคิดในวัยรุ่น ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะยิ่งคดเพิ่มขึ้น มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ตัวเอียง ไหล่ตก แนวสะโพกเอียง รูปร่างพิการ ปวดหลัง มีปัญหาทางระบบหายใจ หอบเหนื่อยง่าย เป็นโรคปอดบวม ปอดอักเสบ หัวใจทำงานหนัก ถึงขั้นทำให้หัวใจล้มเหลวได้
การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก
นอกจากการตรวจดูลักษณะที่ผิดปกติแล้ว แพทย์จะตรวจการทำงานของระบบประสาท และอาจส่งตรวจทางรังสีเพิ่มเติมเพื่อทำการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรค รวมถึงการประเมินอายุกระดูกของผู้ป่วยด้วย
การรักษาโรคกระดูกสันหลังคด
- การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด ใช้ในกรณีที่เด็กมีมุมองศาของการคดไม่มาก โดยใช้การสังเกตอาการ รักษาทางกายภาพบำบัด หรืออาจใช้เสื้อเกราะดัดหลัง (Brace) ในบางราย เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกคดงอเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องมาปรับดัดที่โรงพยาบาลทุก ๆ 2-3 เดือน และจำเป็นต้องใส่เสื้อเกราะเป็นเวลา 16 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันพอสมควร
- การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่เด็กมีมุมองศาของการคดมาก หรือมีการเพิ่มของมุมองศาของการคดมากขึ้นขณะติดตามการรักษา
- การทำกายภาพบำบัด เป็นการสอนการจัดท่าขณะนอน การทรงท่า และการออกกำลังกายต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อช่วยรักษาให้กระดูกสันหลังกลับเข้าสู่แนวเดิมของมันหรืออยู่ใกล้เคียงแนวปกติให้มากที่สุด การรักษาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน และการรักษาประเภทนี้ควรทำโดยนักกายภาพบำบัดที่ได้รับการอบรมเฉพาะทางเกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลังคด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th