เมื่อเด็ก ๆ เป็น “โรคฟันผุจากขวดนม”
เนื่องในวันนี้เป็นวันสุขภาพช่องปากโลกค่ะ มีอาการบางอย่างที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นกังวล นั่นก็คือ “โรคฟันผุจากขวดนม” เพราะถึงแม้ว่าฟันน้ำนมของเด็ก ๆ จะเป็นฟันที่อยู่กับเขาเพียงชั่วคราว แต่มันก็มีความสำคัญและยังเสี่ยงต่อฟันผุได้เช่นกัน เด็ก ๆ จำเป็นต้องมีฟันที่แข็งแรงและสุขภาพดีเพื่อเคี้ยวอาหาร พูด และมีรอยยิ้มที่ดูดี ฟันซี่แรกยังช่วยให้ฟันแท้ของพวกเขาขึ้นมาได้อย่างดี สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มต้นการดูแลช่องปากของทารกให้ดีเพื่อช่วยปกป้องฟันของพวกเขา
โรคฟันผุจากขวดนมคืออะไร ?
โรคฟันผุจากขวดนม (Baby Bottle Tooth Decay: BBTD) เกิดจากน้ำตาลในนมที่ตกค้างอยู่ในช่องปากเป็นเวลานานถูกย่อยด้วยจุลินทรีย์ที่อยู่ภายในช่องปากและเกิดเป็นกรด ซึ่งกรดนี้สามารถทำลายแคลเซียมในฟันและนำไปสู่ปัญหาฟันผุในเด็ก
เด็กวัยใดที่มีความเสี่ยง ?
ปัญหาฟันผุจากขวดนมไม่ค่อยพบในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากฟันของเด็กยังขึ้นมาเพียงไม่กี่ซี่ (เด็กอายุ 6-12 เดือน มีฟันประมาณ 8 ซี่ เป็นฟันหน้าด้านบนและล่างอย่างละ 4 ซี่ จึงง่ายต่อการทำความสะอาด) ปัญหาฟันผุจากขวดนมส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กวัยเตาะแตะ ที่มีอายุระห่าง 1-2 ปีที่ยังไม่ยอมเลิกกินนมจากขวดในตอนกลางคืน นอกจากนี้ ในวัยนี้เด็กจะมีฟันประมาณ 18 ซี่แล้ว และฟันน้ำนมจะขึ้นมาครบทั้ง 20 ซี่ เมื่ออายุประมาณ 33 เดือน จึงเป็นวัยที่คุณพ่อคุณแม่ควรเพิ่มความระมัดระวังเกี่ยวกับสุขภาพฟันมากขึ้นเป็นพิเศษ
ทำไมลูกติดขวดนม ?
เพราะเด็กรู้สึกมีความสุขหรือสบายใจเมื่อได้ดูดนมจากขวด หรืออาจเป็นเพราะเด็กยังไม่มีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง หรืออาจเคยชินกับขวดนมมากจนเกินไป บวกกับคุณพ่อคุณแม่ใจไม่แข็งพอ เมื่อพยายามฝึกให้ลูกเลิกขวดนมแต่ไม่สำเร็จ ก็ยอมให้ลูกกลับไปดูดขวดนมอีก ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความสับสน และยิ่งทำให้ลูกเลิกขวดนมยากขึ้นไปอีก หรือไม่ได้ฝึกลูกเลิกขวดนมในจังหวะเวลาที่เหมาะสม หากปล่อยให้ลูกดูดขวดนมไปจนเกินกว่าอายุ 18 เดือน แนวโน้มที่ลูกจะติดขวดนมย่อมมีมากขึ้น สิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการเลิกขวดนมของลูกในอนาคต
ทำไมเด็กที่ติดขวดนมถึงฟันผุ ?
ปัญหาเด็กติดขวดนมอาจเป็นต้นเหตุของโรคฟันผุที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่สามารถเข้านอนในเวลากลางคืนได้โดยไม่มีขวดนม การที่เด็กดูดนมจากขวดในเวลากลางคืนทำให้มีน้ำนมค้างอยู่ในช่องปากเด็กเป็นเวลานาน ฟันก็ถูกแช่อยู่ในน้ำนม ทำให้ฟันผุแบบกร่อน พร้อมกันหลายซี่ เพราะน้ำตาลในนมจะกลายเป็นกรดที่ทำลายผิวฟันจนเกิดฟันผุ
โรคฟันผุจากขวดนม เป็นปัญหาฟันผุชนิดรุนแรงในเด็กปฐมวัย มักเกิดบริเวณด้านหลังของฟันหน้าและฟันกรามล่าง ซึ่งเป็นฟันส่วนที่สัมผัสกับจุกนมมากที่สุดและเป็นส่วนที่น้ำนมติดค้างอยู่มากที่สุดเช่นกัน
หากปล่อยให้ลูกฟันผุจนถึงขั้นต้องถอนฟัน อาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น ปัญหาในการเคี้ยวและกลืนอาหาร ปัญหาการพูด รวมถึงส่งผลกระทบต่อการงอกของฟันแท้ เช่น ฟันแท้อาจไม่ขึ้น หรือเกิดปัญหาฟันคุด และอาจทำให้ฟันแท้เรียงตัวไม่สวยงาม
วิธีฝึกลูกเลิกขวดนมตอนกลางคืน
ให้ลูกดื่มนมจากถ้วยแทนที่การดูดนมจากขวดในช่วงก่อนนอน การฝึกลูกเลิกขวดนมโดยการไม่ให้ขวดนมก่อนนอนนั้นถือเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุด แต่หากคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจให้ลูกเลิกขวดนมอย่างเด็ดขาดแล้ว ต้องไม่ใจอ่อนเด็ดขาด ไม่ว่าลูกจะร้องสักแค่ไหน เพราะหากคุณยอมให้ลูกกลับไปใช้ขวดนม จะยิ่งทำให้การเลิกขวดนมยากขึ้นกว่าเดิม
การป้องกันฟันผุเพราะขวดนม
- หลังการให้อาหารแต่ละครั้ง ให้เช็ดเหงือกของลูกด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดชุบน้ำหมาด ๆ
- เมื่อฟันของลูกขึ้นมา ให้แปรงฟันเบา ๆ ด้วยแปรงสีฟันขนาดสำหรับเด็กและใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ (ขนาดเท่าเมล็ดข้าว) จนกระทั่งอายุ 3 ขวบ
- แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ขนาดเท่าเมล็ดถั่วตั้งแต่อายุ 3-6 ปี
- กำกับดูแลการแปรงฟันจนกว่าลูกของคุณจะคายยาสีฟันเป็นและไม่กลืนยาสีฟัน โดยปกติจะอยู่ในช่วงอายุ 6-7 ปี
- ใส่เฉพาะนมผง นมวัว หรือนมแม่ในขวด หลีกเลี่ยงการเติมน้ำแบบอื่นลงในขวด เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลม
- ทารกควรดูดนมให้หมดก่อนเวลาเข้านอน
- หากลูกของคุณใช้จุกนมหลอก ให้จัดหาจุกนมที่สะอาด อย่าจุ่มลงในน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง
- ส่งเสริมให้ลูกของคุณดื่มจากถ้วยในวันเกิดปีแรกของเขา
- ส่งเสริมนิสัยการกินเพื่อสุขภาพ
เลือกยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ให้ลูกอย่างไรดี ?
ยาสีฟันที่เหมาะสำหรับเด็กจะมีปริมาณฟลูออไรด์ต่ำกว่า 1,000 ppm ควรอยู่ในช่วง 500-850 ppm ซึ่งในประเทศไทยได้กำหนดให้มีฟลูออไรด์ในยาสีฟันได้ไม่เกิน 0.11% หรือ 1,100 ppm ส่วนรูปแบบของฟลูออไรด์ที่ให้ใช้ได้มี 2 ชนิด คือ โซเดียมฟลูออไรด์และโซเดียมโมโนฟลูออไรด์ฟอสเฟต
ควรให้เริ่มใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ได้ตั้งแต่ในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป หากลูกยังเล็กกว่า 6 ขวบก็ต้องคอยควบคุมการแปรงฟันอย่างใกล้ชิด ไม่ให้กลืนยาสีฟันเข้าไป และบ้วนให้เป็น
เมื่อฟันซี่แรกของลูกของคุณปรากฏขึ้น ให้พูดคุยกับทันตแพทย์เกี่ยวกับกำหนดเวลาไปพบทันตแพทย์ครั้งแรก เด็กควรเข้ารับการตรวจฟันครั้งแรกเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพทารก โปรดจงจำไว้ว่าการเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่น ๆ คือกุญแจสู่สุขภาพฟันที่ดีตลอดชีวิต
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th