Site icon Motherhood.co.th Blog

พาลูก “ไปเจาะหู” เมื่อไหร่ดี ?

พาลูกไปเจาะหู

อยากให้ลูกเจาะหู จะพาไปได้เมื่อไหร่นะ ?

พาลูก “ไปเจาะหู” เมื่อไหร่ดี ?

การพาลูก “ไปเจาะหู” เป็นเรื่องปกติในหลายวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม องค์กรต่าง ๆ เช่น American Academy of Pediatrics (AAP) แนะนำให้ผู้ปกครองรอจนกว่าบุตรหลานจะโตพอที่จะตัดสินใจด้วยตนเองก่อนที่จะพาเขาไปเจาะหู เมื่อค่านิยมทางวัฒนธรรมขัดแย้งกับความเห็นพ้องต้องกันของมืออาชีพ ก็เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจ เมื่อไหร่ที่คุณจะให้ลูกน้อยเจาะหูได้? และจะปลอดภัยหรือไม่ที่จะเจาะหูของทารกแรกเกิด? มีปัจจัยสำคัญบางประการที่คุณต้องพิจารณา

ก่อนอื่น ผู้ปกครองควรเข้าใจว่าการเจาะหูของทารกทำให้เด็กตกอยู่ในอันตรายในทันที ประโยชน์อีกประการหนึ่งของการรอจนกว่าทารกจะโตก่อนจะเจาะหูก็คือ พวกเขาสามารถดูแลหูที่เจาะแล้วได้ด้วยตนเองในวัยนั้น ซึ่งช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ แต่ตราบใดที่พ่อแม่รับผิดชอบดูแลเด็ก ๆ การเจาะหูของเด็กก็มักจะปลอดภัย

มากกว่าเรื่องความปลอดภัย สังคมต่างถกเถียงกันถึงเรื่องความยินยอมของเด็ก

สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเจาะหูให้ลูก ไม่แน่ใจว่าการเจาะหูด้วยวิธีใดจะปลอดภัยสำหรับเด็กที่สุด ไม่แน่ใจว่าเมื่อไหร่ลูกเราจะพร้อมมากพอที่จะพาไปเจาะหูได้ วันนี้ Motherhood จะพาคุณไปพบกับคำแนะนำดี ๆ จากช่างเจาะมืออาชีพอย่างช่างกอล์ฟ ตราชิน สิรเสาวเดช ซึ่งเป็นช่างประจำอยู่ที่ร้าน Piercingroom by Jay ที่ Siam Square One เชื่อว่าหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่รักในการเจาะหูหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะต้องรู้จักร้านนี้กันแน่นอนค่ะ

เริ่มต้นเข้าวงการเจาะร่างกายได้อย่างไร และทำงานมากี่ปีแล้ว ?

ทำมาประมาณ 3 ปีแล้วครับ ก็เริ่มต้นจากไปเรียนน่ะครับ เพราะคนที่เขามีประสบการณ์จากต่างประเทศเขาก็รับสอน เพราะถ้าเราทำงานสายนี้เราก็ต้องรู้จักวิธีการและขั้นตอนที่ถูกต้องครับ

เรียนที่ไหน ในไทยหรือว่าต่างประเทศ ?

ในไทยครับ จะเป็นคนที่เขารับสอนอยู่ในประเทศเขาอยู่แล้ว แล้วเขาก็จะเลือกคนในการทดสอบ ไม่ได้ว่าสอนทุกคน

เหมือนเป็นการออดิชั่นเพื่อไปเข้าเรียน ?

ใช่ครับผม

ช่างกอล์ฟ ตราชิน สิรเสาวเดช

ปกติได้เจาะหูให้ลูกค้าที่เป็นเด็กบ่อยไหม ? อายุประมาณเท่าไหร่บ้าง ?

ก็เด็กสุดที่ผมเคยเจาะก็ประมาณ 4-5 ขวบครับ

พบปัญหาอะไรบ้างในการเจาะหูเด็กที่ยังเล็ก ?

ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือเด็กกลัว พอมาถึงจริง ๆ แล้วเขาจะกลัว ไม่กล้า กลัวเจ็บ อะไรอย่างนี้ แต่ว่าหลักการของเรา พอเราจะเจาะจริงเราก็จะถามผู้ปกครองก่อนนะครับว่าผู้ปกครองบังคับเด็กหรือเปล่า หรือชี้นำเด็กไหม ก็จะเป็นเชิงจิตวิทยานิด ๆ ครับเพราะว่าถ้าเรามองข้ามเรื่องนี้ โดยการที่เราฝืนใจเด็กให้เจาะ มันจะส่งผลในระยะยาวครับ เขาอาจจะกลัวเข็มกลัวอะไรไปเลย ฉะนั้น เราก็ค่อนข้างสกรีนครับว่าเด็กอยากเจาะใช่ไหม เราจะคุยกับเด็กมากกว่าพ่อแม่ พ่อแม่อนุญาตแล้วก็จริงแต่ว่าจะคุยกับเด็กว่า น้องแน่ใจใช่ไหม น้องเลือกที่จะเจาะเองใช่ไหม น้องยังอยากเจาะอยู่ใช่ไหม อะไรอย่างนี้ครับ เป็นคำถามที่ทำให้เขาตัดสินใจอยากสู้ต่อได้ อย่างนี้ครับ ถ้าเขาบอกอยากไปต่อ ก็แปลว่าโอเค เขาอยากไปต่อจริง ๆ แต่เขาก็กลัวนะ แต่เขาก็อยากไปต่อ อย่างนี้เราพร้อมจะเจาะ แต่ถ้าเด็กเซย์โน เซย์โนเลย เราก็จะไม่เจาะ

ทางร้านมีนโยบายเรื่องอายุขั้นต่ำที่รับเจาะอย่างไรบ้าง ? ถึงแม้พ่อแม่จะพามา แต่ต้องเป็นเด็กที่สื่อสารด้วยรู้เรื่องแล้วใช่ไหม ?

ใช่ ๆ ต้องสื่อสารรู้เรื่องด้วยตัวเองครับ

น่าจะสักประมาณ 3-4 ขวบขึ้นไปแล้วใช่ไหม ?

เท่าที่ผมเคยเจอเด็กสุดก็ประมาณ 4-5 ขวบ คือคุยรู้เรื่องแล้ว เรียนอนุบาลแล้ว

แสดงว่าทางร้านเองก็ค่อนข้างให้ความสำคัญว่าจะต้องเป็นเด็กที่เริ่มสื่อสารกับช่างได้เข้าใจในขั้นตอน

ใช่ครับใช่ เพราะว่าตอนที่เรียน อาจารย์ที่สอนเขาพูดเรื่องนี้ในเชิงจิตวิทยาครับ จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ที่เข้ามาเจาะ เราก็จะมีคำถามในการถามกับลูกค้า แต่กับผู้ใหญ่อาจจะไม่ต้องลงรายละเอียดมากเพราะมีวิจารณญาณมากพออยู่แล้ว แต่เราก็อิงการตั้งคำถามเพื่อให้แน่ใจว่าเคสนี้เขาเพราะเจาะ แต่จะไม่เข้มข้นเท่าเด็ก ถ้าเด็กน่ะ เราค่อนข้างจะพูดเพื่อให้เด็กมีช่องทางในการปฏิเสธมากกว่าผู้ใหญ่ แต่ถ้าพอเราพูดแล้ว แล้วเขายังแบบ โอเค พร้อม ยังไงก็จะเอา อันนี้รับประกัน เจาะให้ เพราะเด็กบางคนเขาก็กลัวครับ แต่เขาชอบ เขาอยากเจาะ เขาก็อยากจะผ่านความกลัวนี้ไป อะไรอย่างนี้ โอเค เราก็เจาะให้ แต่ถ้ามาถึงปุ๊บแล้วเขาพยายามหนี พอจะเข้าห้องเจาะแล้วเขาพยายามจะหนี พ่อแม่จะต้องผลักเข้ามา ถ้าเป็นแบบนี้เราก็จะไม่เจาะ อันนี้เราก็จะเริ่มคุยกับพ่อแม่ว่าน้องไม่พร้อมนะครับ อะไรอย่างนี้ครับ ถึงแม้พ่อแม่จะอนุญาตแล้ว เมื่อไหร่ที่พ่อแม่อนุญาต เราก็จะโฟกัสที่เด็กแล้วว่าเด็กพร้อมจริงไหม หรือเขาถูกชี้นำ

ถ้าเด็กกลัวแล้วฝืนเจาะ จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้

ถ้าต้องให้คำแนะนำพ่อแม่ว่าควรจะเจาะหูให้ลูกตอนไหนนี่ก็ควรจะเป็นเรื่องความพร้อมของเด็กเป็นหลักใช่ไหม ?

ใช่ครับ

แล้วพ่อแม่ควรจะถามลูกอย่างไรในเรื่องนี้ ? ควรจะเริ่มพูดอย่างไร ?

คือในมุมของพ่อแม่ ถ้าสมมติว่ามันคือความต้องการของพ่อแม่ มันก็ต้องอยู่ที่ว่าพ่อแม่เขาคุยกับลูก เขาจะทำยังไงให้ลูกเขารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เขาชอบด้วย นั่นคือจิตวิทยาของพ่อแม่กับลูกอะครับว่าคุยยังไงให้ลูก ให้น้อง รู้สึกว่าเออ เขาก็ชอบ ไม่งั้นเด็กที่เขาเผยความต้องการเองว่าเขาอยากเจาะ ไอ้อย่างนี้คุยง่ายแล้ว อยากเจาะ พ่อแม่ก็ อะ โอเค หาร้านปลอดภัยให้เจาะหรือพ่อแม่พามาเจาะ คราวนี้ก็ง่าย แต่ถ้าเด็กที่ยังไม่มีความต้องการในการเจาะหู ก็เริ่มต้นจากพ่อแม่ ฉะนั้น ถ้าพ่อแม่อยากให้เจาะจริง ๆ แต่พ่อแม่ก็ต้องพยายามไม่ฝืนใจด้วย พ่อแม่ก็ต้องสร้างภาพอะไรก็ได้ให้ลูกรู้สึกว่าเขาก็อยากเจาะด้วย อันนั้นมันก็แล้วแต่เทคนิคของพ่อแม่แล้วครับ เพราะว่าเท่าที่ผมสัมผัสมา ถ้าเกิดพ่อแม่ที่พาเด็กพาน้องมาแล้ว โดยที่ไม่มีการเกริ่นอะไรให้น้องเลย แค่บอกว่าเดี๋ยวจะพามาเจาะหูนะ จะได้สวย ๆ ถ้าพูดแค่นี้ น้องเขายังไม่เข้าใจ พอมาถึงร้านแล้วเขาเจอเข็ม เขากลัว มันก็จะไม่ Success ครับ มันก็จะไม่เกิดการเจาะ ร้านอื่นน่ะผมไม่รู้ แต่ทางร้านผมน่ะ เราจะสกรีนก่อนว่า คุณแม่ครับ คุณพ่อครับ น้องพร้อมนะ เนี่ย น้องไม่พร้อม ถ้าเกิดระหว่างที่ไปเจาะ เกิดน้องเชิดหัวหนีเข็ม มัดอาจจะบาดนะ หรือแผลมันกอาจจะเกิดอันตรายกับน้องเขา เราก็จะชี้ให้พ่อแม่เห็นน่ะ ฉะนั้น ถ้าพ่อแม่จะพูดยังไงให้น้องเจาะ พ่อแม่ก็ต้องทำยังไงก็ได้ให้น้องรู้สึกว่าการเจาะเนี่ยคือสิ่งที่เขาชอบ เขาอยากได้ อาจจะเป็นเทคนิคว่ามีรูปเด็กที่เจาะหูสวย ๆ มาให้เขาเห็น ให้เขาดู เหมือนเป็น Reference ให้เขาน่ะ เออ แล้วพอเขาพูดกลับมาว่า โอเคแม่ หนูชอบนะ แม่ หนูอยากเจาะนะ อันนั้นน่ะมันจะง่ายกว่าที่จะพาเขามาเจาะ มันก็จะเป็นอะไรที่ง่ายกว่า

คนไทยยังไม่ค่อยเข้าใจการเจาะที่ถูกวิธี เลยอยากให้ช่างอธิบายว่าการเจาะที่ถูกวิธีต้องมีอุปกรณ์อะไร สังเกตได้อย่างไรว่าคือการเจาะที่ถูกวิธี ?

ผมจะไม่เคลมว่าสิ่งที่เราพูดคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุดและดีที่สุด แต่ผมจะบอกว่าจากสิ่งที่เราเคยเช็คเองเนี่ย น้องที่ผ่านการเจาะโดยการใช้ปืนน่ะ ส่วนใหญ่น้องจะมี Feeling ที่ไม่ค่อยดี เท่าที่เราสัมผัสกับตัวลูกค้าที่เขามีความรู้สึกว่ามันเร็วดี แต่มันทิ้งความระบมอะไรไว้กับหู ถ้าน้องที่เคยมาเจาะกับเราเนี่ย เขาก็จะมีความกลัว เพราะเขารู้สึกว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาของเขามันเป็นแบบนั้น ฉะนั้น ผมก็จะบอกอย่างนี้ว่า ปืนมันดูว่ามันง่าย มันเร็ว มันฟึบ แล้วมันก็จบเลย ใช่ไหมครับ แต่จะทิ้งความระบมรอบนอกไว้มากกว่า ในขณะที่เข็มน่ะ มันดูน่ากลัวครับ แต่เวลาที่เจาะเข้าไป จุดที่เกิดบาดแผล ก็คือจุดที่เข็มผ่านนั่นละครับ รอบ ๆ บริเวณรอบนอกมันจะไม่มีช้ำ ไม่มีระบม ไม่มีอะไร อันนี้คือความต่าง ฉะนั้น ในคอนเซ็ปท์ของร้านคือเราจะใช้ช่างเจาะด้วยมือเท่านั้นครับ ไม่มีปืน ส่วนเรื่องของความปลอดภัย เรื่องความสะอาด อันนี้ผมต้องบอกอย่างนี้ว่าอยู่ที่มุมมองที่ลูกค้าเขารู้สึก เพราะลูกค้าบางคนก็รู้สึกว่า เฮ้ย ปืนมันดูเร็วกว่านะ แล้วมันก็จบเลยนะ อะไรอย่างนี้ แต่เราก็ต้องมานั่งอธิบายในเรื่องของผลที่มันเกิดข้างหลังว่าพอเจาะปืนแล้ว โอเค ข้อดีข้อเสียมันต่างกันยังไง ผมพูดอย่างนี้ดีกว่า

ต้องดูแลแผลอย่างถูกวิธี ใช้น้ำเกลือทำความสะอาด

เท่าที่เคยศึกษามาในระดับสากล เห็นเขาบอกว่าการใช้ปืนเจาะมันไม่สามารถฏฆ่าเชื้อปืนได้ อันนี้จริงไหม ?

ในตัวอุปกรณ์ปืนน่ะครับ ในตัวอุปกรณ์เขาจะมีซอก มีเหลี่ยม มีมุม ที่พอเวลาเราใช้ไปเรื่อย ๆ มุมเหลี่ยมพวกนั้นน่ะ เราไม่รู้ว่ามันมีอะไรเข้าไปฝังตัวไหม การทำความสะอาดถ้าไม่ถึง จากที่ผมเคยเห็นตัวอุปกรณ์มานะ ถ้าในมุมผมที่ผมมอง ผมจะบอกว่าถ้าเกิดจะใช้ฆ่าเชื้อด้วยความร้อนมาก ๆ อุปกรณ์หรือว่าชิ้นส่วนบางชิ้นบนอุปกรณ์น่ะ มันก็ถูกความร้อนทำลาย ทำให้ปืนเกิดความผิดพลาดที่จะใช้งาน มันก็จะลดลง ในส่วนของเข็มน่ะ มันใช้เสร็จแล้วมันจบ มันทิ้ง เวลาที่คนใหม่มาเราก็ใช้เข็มเล่มใหม่ในการเจาะหู ฉะนั้น เรื่องความสะอาดมันร้อยเปอร์เซนต์อยู่แล้ว

แล้วอุปกรณ์อื่นก็สามารถทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้ด้วยใช่ไหม เช่นพวกคีม ?

ใช่ครับ พวกคีมเราก็มีเครื่องสเตอริไลซ์ความร้อนสูง ก็คือใช้เป็นระบบเดียวกับคลินิก โรงพยาบาล อะไรอย่างนี้ ก็คือเท่าที่ร้านหรือบุคคลธรรมดาสามารถหาซื้อได้ ทางเราก็จะมีหมด มีทั้งสเตอแบบยูวี เป็นเครื่องทำความสะอาดด้วยระบบสั่น คือมันจะเอาพวกซอก ๆ เนี่ย ต่าง ๆ จะหลุดออกมา เสร็จแล้วก็จะมีการสเตอริไลซ์ด้วยความร้อน เป็นเครื่องอบไอน้ำ มันค่อนข้างจะมีรอบด้านในแง่ของสุขอนามัยนะ เราก็จะมีรอบด้าน เพราะเราก็จะสเตอริไลซ์ทุกวัน แม้แต่เครื่องมือบางตัวจริง ๆ มันไม่ได้สัมผัสเลือดเลย มันสัมผัสอุปกรณ์มากกว่า แต่ทางเราก็จะเอาเข้าเครื่องแล้วก็สเตอริไลซ์พร้อมกัน

Image: mcnabbstattooandfineart.com

การดูแลรักษาแผลเจาะหูที่ถูกต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ?

ขั้นตอนการดูแลจริง ๆ เวลาที่ลูกค้ามาเจาะที่ร้าน พื้นฐานทั่วไปมันก็เหมือนกับแผลศัลยกรรมน่ะครับ เวลาเราไปทำศัลยกรรม หมอก็จะมียา แต่ตัวยาทางร้านเราไม่สามารถเป็นคนจ่าย เพราะเราไม่ใช่แพทย์เนอะ เราก็จะแค่แนะนำว่าถ้าลูกค้ากลัว ก็สามารถปรึกษาเภสัชที่ร้านขายยาเพื่อทานยาแก้อักเสบก็ได้ ถ้าลูกค้ากังวลใจ โดยส่วนใหญ่หลังเจาะไปแล้วเนี่ย เราก็จะให้ทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือแทนแอลกอฮอล์ อะไรแบบนี้ครับ ห้ามรบกวนแผล ห้ามไปขยับจิลเล่น อะไรประมาณนี้ครับ อย่างตอนมาเจาะจริง ๆ มันจะมีรายละเอียดอีกซึ่งมันจะเยอะ แต่ว่าหลัก ๆ ก็คือหลังจากเจาะไปแล้วเราก็จะมีการนัดลูกค้าเข้ามาเช็คแผล 2-3 อาทิตย์เข้ามาดูทีนึง ในช่วง 2 เดือนแรกเนี่ยครับ เราก็จะนัดแบบนี้เพื่อมา Follow แผลลูกค้า เราก็มีการแจ้งข้อห้าม อะไรบ้างหลังเจาะ อะไรพวกนี้ เราก็จะมีแจ้งหมด เพราะว่าเราก็ให้ลูกค้าแอดไลน์กับที่ร้านให้มีการแจ้งข้อมูลว่าอะไรบ้างที่ลูกค้าต้องระวัง อะไรพวกนี้ หลัก ๆ ก็ของหมักของดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พื้นฐานเหมือนแผลศัลยกรรมเลยครับที่ต้องห้าม พอหลังจากทำไปแล้ว ก็จะมีลูกค้าบางกลุ่มที่พลาด คอนโทรลไม่ได้ ไปดื่ม ไปกิน หรือแอคซิเดนท์ไปเบียด ไปชน ไปกระแทก อะไรก็แล้วแต่ ตัวแผลมันจะบอกเราได้ค่อนข้างเยอะว่าแผลเนี่ยเกิดจากอะไร เกิดจากอาหารหรือว่าเกิดจากแอคซิเดนท์ ตัวแผลมันจะบอก เราก็จะทำการทำแผลให้ลูกค้าตามที่เราเห็นจากหน้างานว่าแผลเขาเกิดจากอะไร เราก็จะแก้ปัญหาตามนั้น แต่ตัวยาเราจะไม่ได้มีหน้าที่ในการจ่ายให้ลูกค้า เราจะไม่มีขายให้ เราก็จะแนะนำให้ลูกค้าไปปรึกษาเภสัช

 สาเหตุที่ห้ามใช้แอลกอฮอล์เช็ดหรือล้างแผลเป็นเพราะอะไร ?

แอลกอฮอล์มันจะกัดบาดแผลครับ มันทำความสะอาด มันฆ่าเชื้อโรคดี แต่ความแรงของแอลกอฮอล์มันก็จะกัดบาดแผล ทำให้แผลไม่แห้ง แผลเปียก ถ้าเคยเข้าโรงพยาบาล เคยเห็นเวลาโรงพยาบาลทำแผลให้คนไข้ เราจะเห็นว่าเขาเอาน้ำอะไรมาราดน่ะ ไม่ใช่แอลกอฮอล์ มันคือน้ำเกลือครับ เขาจะเอาแอลกอฮอล์เช็ดแค่รอบ ๆ บริเวณแผลเฉย ๆ จะไม่เช็ดเข้าไปในแผล บริเวณในแผลเนี่ยเขาจะใช้น้ำเกลือ

Image: lemon8-app.com

อยากฝากอะไรถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง เรื่องการเจาะหูลูกหรือการเลือกร้านที่ปลอดภัย

ข้อแรกเลยคือเด็กต้องพร้อมจริง ๆ หน้าที่ของพ่อแม่ก็คือ ถ้าพ่อแม่อยากให้เจาะ พ่อแม่ก็ต้องทำยังไงก็ได้ให้ลูกพร้อมด้วยใจน่ะฮะ เพราะว่าถ้าเขาไม่พร้อมด้วยใจ เวลาที่ไปเจาะ ต่อให้มันไม่เป็นแอคซิเดนท์อะไรอย่างอื่น แต่มันจะไปเกิดผลกับทางจิตใจเขาได้ อันนี้สำคัญ แต่ถ้าโอเค เรื่องนี้ผ่านฉลุยเพราะลูกพร้อมที่จะเจาะ ก็เรื่องของการเลือกร้านนะครับ ขั้นตอนวิธีการเลือกร้าน เราก็ต้อง … เดี๋ยวนี้สื่อโซเชียลมันก็มีเยอะอะครับ ก็ลองเช็คในพื้นที่ใกล้ ๆ ที่ที่เขาสะดวก เราก็ต้องดูว่าร้านนั้นพื้นที่เขาเป็นยังไง อันนี้เบื้องต้นที่เราดูได้ แล้วก็ถ้าให้ชัวร์ ถ้าเราสามารถสอบถามได้ เราอาจจะต้องถามเขาว่าเจาะด้วยวิธีการไหน ความจริงปืนมันก็ไม่ได้ โอ้โห เลวร้าย เพียงแต่ว่าขั้นตอนของปืนหลังจากเจาะแล้ว มันก็จะมีขั้นตอนอื่นที่เราจะต้องคอยระมัดระวังเพราะว่ารอบ ๆ ข้างมันจะช้ำ เพราะผมว่าถ้าอยากเจาะจริง ๆ แล้วมันไม่มีร้านที่ทำด้วยเข็ม ใช้เข็มเจาะจริง ก็ต้องใช้ปืน เราก็แค่ต้องเช็คว่าอุปกรณ์เขาสะอาดหรือเปล่า แต่ถ้าสามารถเลือกได้ ผมก็แนะนำว่าเข็มเซฟกว่า เพราะว่าในแง่ของการเจาะ ไม่ว่าจะใช้ปืนหรือใช้เข็ม ถ้าช่างเจาะเบี้ยวคือเจาะเบี้ยวครับ มันไม่เกี่ยวว่าเจาะปืนสวยกว่าหรือเจาะเข็มสวยกว่า ใช้ปืนเนี่ยจะมีแง่จำกัดในการเจาะกระดูก ปืนจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการวางตำแหน่งที่สวย ปืนจะทำได้จำกัดกว่าเยอะ ปืนน่ะ ใช้ได้ดีสุดคือกับติ่งหู (Lobe) ตำแหน่งกระดูกขึ้นไปใช้ปืนจะไม่สามารถคอนโทรลได้ เพราะเนื่องจากชิ้นอุปกรณ์มันมีข้อจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่บริเวณหู ถ้าเลือกได้ผมก็แนะนำเป็นเข็มจะดีกว่า

จะเห็นได้ชัดเจนว่าช่างกอล์ฟเน้นย้ำเรื่องความต้องการและความพร้อมของเด็ก ๆ เป็นหลัก Motherhood คิดว่าหากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเจาะหู ก็ควรรอให้เขาโตหน่อยดีกว่า โตพอที่จะสื่อสารกับช่างที่ร้านได้ โตพอที่จะยืนยันความต้องการเจาะหูของตัวเองได้จริง ๆ เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้เจาะหูอย่างมีความสุข ไม่เครียด หรือเกิดความผิดพลาดระหว่างการเจาะค่ะ

และสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มั่นใจว่าเด็ก ๆ ที่บ้านมีความพร้อมแล้วที่จะเจาะหู ก็สามารถไปพบช่างกอล์ฟหรือพี่ ๆ ช่างท่านอื่นได้ที่ร้าน Piercingroom by Jay ที่ ชั้น 3 Siam Square One ได้เลยค่ะ หรือจะลองโทรไปสอบถามกันก่อนได้ที่เบอร์ 088 8592244 , 063 4255469

 

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th