Site icon Motherhood.co.th Blog

แพ้ผงชูรส: ผงชูรสอันตรายจริงหรือแค่เรื่องมโน

แพ้ผงชูรสจริงหรือ

ผงชูรสเป็นตัวอันตรายจริงหรือ ? อาการแพ้ผงชูรสมีจริงหรือแค่เรื่องมโน ?

แพ้ผงชูรส: ผงชูรสอันตรายจริงหรือแค่เรื่องมโน

ผงชูรสเป็นเครื่องปรุงรสประเภทหนึ่งที่คนในสังคมมีอคติกับมันมานาน รวมถึงอาการ “แพ้ผงชูรส” ที่เป็นเหมือนสิ่งตอกย้ำถึงอันตรายของมัน ว่าหากเราบริโภคเข้าไปแล้วจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือ ผงชูรสเป็นตัวอันตรายที่เราควรหลีกเลี่ยงจริงหรือเปล่า

ต้นกำเนิดของผงชูรส

ผงชูรส (Monosodium glutamate – MSG) ถูกค้นพบโดยนักเคมีชาวญี่ปุ่นศจ.ดร. คิคุนาเอะ อิเคดะ ที่พบว่าผลึกสีน้ำตาลที่ตกผลึกจากการระเหยของน้ำซุปคอมบุที่ติดอยู่ในถ้วยซุปนั้นเป็นกรดกลูตามิก เมื่อเขาได้ชิมผลึกนี้ เขาได้สัมผัสกับรสชาติใหม่ที่ไม่สามารถอธิบายได้ เขาจึงได้ตั้งคำว่า ‘อุมามิ’ ขึ้นเพื่อใช้เรียกรสชาตินี้ จากนั้นเขาได้จดสิทธิบัตรวิธีการผลิตผลึกโซเดียมของกรดกลูตามิก โดยใช้ชื่อว่า โมโนโซเดียม กลูตาเมต (Monosodium glutamate) หลังจากนั้น พี่น้องตระกูลซูซูกิก็ได้เริ่มผลิตผงชูรสเป็นครั้งแรกในปี 1909

สารกลูตามิกในผงชูรสจะช่วยกระตุ้นให้เรารับรสอร่อยได้มากขึ้น

กรดกลูตามิกนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติหรือจากการหมักบ่ม เราจะพบกรดนี้ได้ในวัตถุดิบหลากหลายชนิด เช่น มะเขือเทศ รากผักชี สาหร่าย เห็ด ชีส หรือกะปิ

วัตถุดิบที่ใช้ผลิตผงชูรส ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง กากน้ำตาลหรือโมลาส (Molass) จากโรงงานน้ำตาล โดยการย่อยสตาร์ช (Starch) ให้เป็นน้ำตาลกลูโคส (Glucose) แล้วเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสให้เป็นกรดกลูตามิก (Glutamic acid) ด้วยการหมัก หลังจากหมักได้ที่แล้ว จึงนำไปทำปฏิกิริยากับโซดาไฟ (NaOH) ได้โมโนโซเดียมกลูตาเมตที่ตกผลึก

การโจมตีผงชูรส

ในปี 1968 วารสารทางการแพทย์ The New England Journal of Medicine ได้ตีพิมพ์จดหมายจากแพทย์ชื่อ โรเบิร์ต โฮ มาน กว๊อก ที่มีเนื้อความว่า เขามีอาการคล้ายกับอาการแพ้ในทุกครั้งที่เขาได้กินอาหารจากร้านอาหารจีน และเขาตั้งคำถามถึงสาเหตุที่ทำให้เขามีอาการแพ้ว่าเป็นเพราะไวน์ที่ชาวจีนใช้ทำอาหาร เครื่องเทศที่ใส่ในอาหาร หรือผงชูรส
หลังจากที่จดหมายได้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารดังกล่าว เรื่องนี้ก็ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ทำให้อาการแพ้อาหารในลักษณะนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาในวงการแพทย์ ทำให้ดร. จอห์น โอลนีย์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ตัดสินใจทำการทดลองเรื่อง MSG กับหนูทดลอง หลังจากที่เขาได้อ่านบทความ
การทดลองนี้เริ่มจากฉีด MSG เข้าไปทางผิวหนังของหนูวัยแรกเกิดในปริมาณมาก ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่า MSG มีผลทำให้เซลล์สมองของหนูถูกทำลาย และเมื่อหนูโตขึ้นก็มีขนาดตัวแคระแกรน จากผลการวิจัยนี้ ทำให้ผู้คนตีความว่า MSG นั้นมีอันตรายจริง ส่งผลร้ายต่อสมอง รวมทั้งอาจจะทำให้เส้นผมหลุดร่วงได้ ผู้คนทั่วโลกจึงเริ่มตั้งแง่กับผงชูรสกันนับตั้งแต่นั้นมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว การบริโภคผงชูรสของคนเรานั้นต่างไปจากการฉีดเข้าทางผิวหนังให้กับหนูในการทดลองอย่างสิ้นเชิง
จากจดหมายและงานวิจัยนั้นทำให้เกิดกระแสแอนตี้อาหารจีนอยู่พักใหญ่

อาการแพ้ผงชูรสคืออะไรกันแน่ ?

ผู้ที่แพ้ผงชูรสจนเกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ผิวหนังแดง รวมทั้งอาจมีอาการแสบร้อนที่หน้าและคอ อาจเพราะเป็นคนที่มีระบบประสาทสัมผัสไวต่อผงชูรสมากเป็นพิเศษ แม้จะรับประทานไปเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้เกิดอาการได้ สำหรับรายที่รับประทานผงชูรสแล้วรู้สึกชาที่ลิ้น ปาก และลำคอ อาการอาจดีขึ้นได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง ไม่ได้มีอันตรายถึงชีวิต หรือเข้าไปสะสมในร่างกาย

ในปัจจุบันนักวิจัยยังไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ความเกี่ยวข้องระหว่างผงชูรสและอาการแพ้ได้ มีเพียงข้อสันนิษฐานว่าอาการแพ้ผงชูรสอาจเกิดจากการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยที่ไวต่อสารโมโนโซเดียมกลูตาเมต และมีงานวิจัยบางส่วนที่แสดงผลว่า ผงชูรสไม่ได้ก่อให้เกิดอาการแพ้ใด ๆ ทำให้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แน่ชัดของอาการแพ้ผงชูรสได้

ส่วนความเชื่อที่ว่าผงชูรสทำให้ผมร่วง หัวล้าน เป็นเพียงความเชื่อผิด ๆ เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการผมร่วงมาจากทางร่างกายเอง เช่น กรรมพันธุ์ ฮอร์โมน และปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องอาหารการกิน

ใช้ผงชูรสแค่ไหนถึงจะปลอดภัย ?

เพราะองค์การอนามัยโลกมีมติว่าควรจัดผงชูรสเป็นสารเจือปนในอาหาร ประเภทไม่ต้องกำหนดปริมาณในการบริโภค จึงทำให้ตัดสินใจยากขึ้นไปอีกว่าปริมาณแค่ไหนถึงจะเหมาะสม
เว็บไซต์ Healthline.com ระบุว่า ในประเทศอังกฤษและอเมริกา แนะนำว่าไม่ควรบริโภคผงชูรสเกิน 0.55-0.58 กรัม และสำหรับประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 1.2-1.7 กรัม ส่วนข้อมูลจาก Glutamate.org ระบุว่า ให้บริโภคผงชูรสได้เพียง 0.5-1.5 กรัมต่อวัน เท่านั้น
สิ่งที่ต้องระวังมากกว่าคือผงชูรสปลอม เพราะผู้ผลิตใช้สารชนิดอื่นที่มีลักษณะที่คล้ายกับผงชูรส แต่มีราคาถูกกว่า เช่น สารบอแร็กซ์ หรือสารโซเดียมเมตาฟอสเฟต ที่จะมีลักษณะของผลึกคล้ายกับผงชูรส สารบอแรกซ์มีอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องร่วง ท้องเสีย เกิดการสะสมที่ไตหรือกรวยไต เป็นสาเหตุทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และหากรับประทานมากเกินไปอย่างต่อเนื่องก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ในส่วนของสารโซเดียมเมตาฟอสเฟตอาจจะพบได้น้อยกว่า แต่หากรับประทานเข้าไปก็จะทำให้เกิดอาการท้องร่วงหรือท้องเสียเช่นกัน
แม่ท้องควรเลี่ยงอาหารที่มีผงชูรสสูงเพราะมันมีโซเดียมสูงด้วย

แม่ท้องต้องงดผงชูรสเลยไหม ?

แม้ว่าการศึกษาไม่ได้เชื่อมโยงผงชูรสกับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์สำหรับคนส่วนใหญ่ แต่การแพ้อาหารและความไวต่อยาเป็นปรากฏการณ์ที่มีจริงสำหรับผู้ตั้งครรภ์ หากคุณเคยมีอาการไม่พึงประสงค์จากอาหารที่มีผงชูรสสูงก่อนตั้งครรภ์ ให้หลีกเลี่ยงในขณะที่คุณกำลังเตรียมตัวตั้งครรภ์ เพราะคุณคงไม่อยากจะคลื่นไส้ ปวดหัว หรือเหนื่อยล้ามากขึ้นในตอนนี้

อาหารบางชนิดที่มีผงชูรสสูง เช่น ซุปกระป๋อง หรือขนมขบเคี้ยวรสเค็ม อาจมีโซเดียมสูงเช่นกัน ในระหว่างตั้งครรภ์ มันดีกว่าที่จะรักษาโซเดียมให้อยู่ที่หรือต่ำกว่าเป้าหมายที่แนะนำต่อวัน คือ 2,300 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ สิ่งนี้อาจนำไปสู่การจำกัดอาหารที่มีผงชูรสสูงบางชนิด

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th